กรุงเทพมหานครเปิดใช้สะพานยกระดับข้ามแยก ณ ระนอง เริ่มวันนี้ ตีห้าครึ่งถึง 4 ทุ่ม เหลือปรับปรุงบางส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จ หลังรอคอยมานานกว่า 4 ปี เหตุแก้แบบก่อสร้าง ติดสาธารณูปโภคใต้ดิน และต้องขออนุญาตการทางพิเศษฯ-การรถไฟฯ เข้าพื้นที่ก่อสร้างกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง
วันนี้ (1 มิ.ย.) สถานีวิทยุ จส.100 รายงานว่า กรุงเทพมหานครจะเปิดใช้สะพานยกระดับข้ามแยก ณ ระนอง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนนนทรีวิทยา ถนนพระรามที่ 3 ข้ามแยก ณ ระนอง แยกคลองเตย ถนนพระราม 4 ถึงถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 05.30 น. ถึง 22.00 น. โดยหลังเวลา 22.00 น. จะปิดเพื่อปรับปรุงบางส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จ ถึงเวลา 05.30 น.ของวันรุ่งขึ้น
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า รถที่มาจากสี่แยกอโศกมนตรี มาตามถนนรัชดาภิเษก สามารถขึ้นสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ไปลงหน้าโรงเรียนนนทรีวิทยา ถนนพระรามที่ 3 เลือกได้ระหว่างตรงไปเพื่อไปยังถนนนางลิ้นจี่ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และสะพานภูมิพล หรือชิดขวาขึ้นสะพานเพื่อไปยังถนนรัชดาภิเษก ห้างเซ็นทรัลพระราม 3 ได้ ส่วนรถที่มาจากถนนพระรามที่ 3 และถนนรัชดาภิเษก หากต้องการไปยังแยกอโศกมนตรี สามารถขึ้นสะพานหน้าโรงเรียนนนทรีวิทยาได้ทันที
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 กรุงเทพมหานครได้เปิดใช้สะพานข้ามแยก ณ ระนอง ช่วงจากถนนพระรามที่ 3 มุ่งหน้าถนนสุนทรโกษา กว้าง 2 ช่องจราจร ความยาว 600 เมตรก่อน กระทั่งวันที่ 10 ต.ค. 2565 ได้เปิดใช้สะพานข้ามทางรถไฟถนนพระรามที่ 3 บริเวณถนนเชื้อเพลิงและสถานีรถไฟแม่น้ำ รอยต่อระหว่างแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กับแขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ หลังจากได้ปิดสะพานมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อทุบทิ้งและก่อสร้างใหม่ตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง โดยลดช่องจราจรลงเหลือเพียง 2 ช่องจราจร เพื่อเว้นเกาะกลางสำหรับตอม่อสะพานข้ามแยก ณ ระนอง
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง มีจุดเริ่มต้นที่หน้าโรงเรียนนนทรีวิทยา เชื่อมต่อกับสะพานเดิมที่ได้ทุบทางลงหน้าตลาดปีนังไปก่อนหน้านี้ ไปลงถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้ปิดสะพานไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562 เพื่อทุบทิ้งและก่อสร้างใหม่ ความยาวสะพานรวมทั้งหมด 1,950 เมตร มีสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบโครงการ และมีบริษัท สหการวิศวกร จำกัด ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2561 งบประมาณ 1,470 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าการก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า จากเดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มี.ค. 2564 เนื่องจากมีอุปสรรคสาธารณูปโภคใต้ดิน ปรับรูปแบบตำแหน่งเสาทางยกระดับช่วงข้ามทางด่วน รวมทั้งต้องขอเข้าพื้นที่ก่อสร้างจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อีกทั้งยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการดังกล่าวต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 4 ปี และส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจรติดขัดหลังการปิดสะพาน