xs
xsm
sm
md
lg

'อ.เจษฎา' เผยนักดาราศาสตร์ย้ำชัด สัญญาณวิทยุจากกาแล็กซีอื่นไม่ได้มาจากมนุษย์ต่างดาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โซเชียลฯ นักดาราศาสตร์ค้นพบสัญญาณวิทยุจากกาแล็กซีที่ไกลที่สุด 9 พันล้านปีแสงเป็นครั้งแรกนั้น ซึ่งผู้วิจัยเน้นย้ำ “สัญญาณเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งโดยมนุษย์ต่างดาวแต่มาจากกาแล็กซีที่ก่อตัวเป็นดาว ที่ปล่อยออกมาเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 4.9 พันล้านปี

จากกรณีนักดาราศาสตร์วิทยุ ประเทศแคนาดา และประเทศอินเดีย ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ติดตั้งอยู่ที่ประเทศอินเดีย สามารถตรวจพบสัญญาณที่ถูกส่งออกมาจากกาแล็กซี ในขณะที่เอกภพมีอายุเพียง 4.9 พันล้านปี หรือเมื่อ 8.8 พันล้านปีก่อน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสัญญาณวิทยุจากกาแล็กซีที่ไกลที่สุดที่เคยมีการค้นพบกันมาตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (31 พ.ค.) เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้ระบุว่าเห็นโพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘คุณสุทธิชัย หยุ่น’ ระบุว่า "โลกเพิ่งได้รับสัญญาณวิทยุที่ส่งมาจากกาแล็กซีที่อยู่ห่างออกไป 9 พันล้านปีแสง" แต่ไม่ได้มีข้อความต่อเนื่องว่าข่าวเต็มคืออะไร เลยคิดว่าน่าจะมาจากข่าวนี้ ตั้งแต่เดือนมกราฯ แล้วครับ "นักดาราศาสตร์ทึ่ง! จับสัญญาณวิทยุจากกาแล็กซีที่อยู่ห่างจากโลกเกือบ 9 พันล้านปีแสง ได้เป็นครั้งแรก " คลิกลิงก์ข่าวต้นฉบับ ซึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวกับการตรวจจับคลื่นสัญญาณวิทยุจากกาแล็กซีที่อยู่ห่างจากโลกเกือบ 9 พันล้านปีแสงได้ และคลื่นวิทยุดังกล่าวนี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์มองย้อนกลับไปในอดีตและเข้าใจเอกภพในยุคแรกเริ่ม ซึ่งคาดว่ามีอายุประมาณ 13,700 ล้านปีมาแล้ว โดยที่ในข่าวผู้วิจัยก็เน้นย้ำว่า “สัญญาณเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งโดยมนุษย์ต่างดาว สัญญาณเหล่านี้มาจากกาแล็กซีที่ก่อตัวเป็นดาว ที่ปล่อยออกมาเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 4.9 พันล้านปี …นี่เป็นการตรวจจับสัญญาณวิทยุครั้งแรกในประเภทนี้จากระยะที่ไกลมาก”

สรุปคือ เป็นสัญญาณวิทยุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากการกำเนิดขึ้นของดาว ไม่ใช่จากมนุษย์ต่างดาว และที่มันน่าสนใจ เพราะมันเกิดขึ้นห่างจากโลกมากๆ และจะทำให้เราเข้าใจจุดเริ่มต้นของเอกภพมากขึ้นครับ

โดยมีรายงานข่าวระบุว่า “นักดาราศาสตร์สามารถจับสัญญาณวิทยุจากกาแล็กซีที่อยู่ห่างจากโลกเกือบ 9 พันล้านปีแสงได้แล้ว นักวิจัยในแคนาดาและอินเดียสามารถจับสัญญาณจากดาราจักรชื่อ ‘SDSSJ0826+5630’ โดยกล้องโทรทรรศน์ยักษ์ในอินเดีย คลื่นวิทยุดังกล่าวช่วยให้นักดาราศาสตร์มองย้อนกลับไปในอดีตและเข้าใจเอกภพในยุคแรกเริ่ม ซึ่งคาดว่ามีอายุประมาณ 13,700 ล้านปีมาแล้ว “มันเทียบเท่ากับการย้อนเวลากลับไป 8.8 พันล้านปี” อาร์นาบ จักรบาร์ตี นักจักรวาลวิทยาและผู้ร่วมการศึกษาเกี่ยวกับการตรวจจับคลื่นบอกกับสำนักข่าว Metro

“สัญญาณเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งโดยมนุษย์ต่างดาว ก่อนที่คุณจะข้ามไปสู่ข้อสรุปใดๆ สัญญาณเหล่านี้มาจากกาแล็กซีที่ก่อตัวเป็นดาวที่ปล่อยออกมาเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 4.9 พันล้านปี นี่เป็นการตรวจจับสัญญาณวิทยุครั้งแรกในประเภทนี้จากระยะที่ไกลมาก กาแล็กซีส่งสัญญาณวิทยุประเภทต่างๆ กันออกมา จนถึงขณะนี้เราสามารถจับสัญญาณเฉพาะนี้จากกาแล็กซีใกล้เคียงเท่านั้น โดยจำกัดความรู้ของเราไว้เฉพาะกาแล็กซีเหล่านั้นที่อยู่ใกล้โลก” จักรบาร์ตีกล่าว

ขณะที่ทางราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) ก็ได้ประกาศการค้นพบใหม่ลงในประกาศรายเดือนของวารสาร การตรวจจับคลื่นเป็นการค้นพบที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากความถี่อยู่ที่ความยาวคลื่นเฉพาะที่เรียกว่า ‘เส้น 21 ซม.’ ซึ่งสิ่งนี้เรียกอีกอย่างว่าเส้นไฮโดรเจนและยังเป็นเส้นสเปกตรัมแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ 1420 นั่นหมายความว่า ไฮโดรเจนกระจายไปทั่วอวกาศและสามารถนำมาใช้ทำแผนที่กาแล็กซีได้

ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์ขนาดยักษ์ในอินเดียสามารถรับสัญญาณจางๆ ได้เนื่องจากเลนส์ความโน้มถ่วง เพราะนี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ด้านผู้ร่วมศึกษาอธิบายกับ The Metro ว่า “เลนส์ความโน้มถ่วงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งขยายสัญญาณที่มาจากวัตถุที่ห่างไกลเพื่อช่วยให้เรามองเข้าไปในเอกภพยุคแรกเริ่ม ส่วนกาแล็กซีอีกแห่งนั้นพบว่าเบนสัญญาณวิทยุที่ปล่อยออกมาจาก SDSSJ0826+5630 ซึ่งขยายคลื่นและทำให้กล้องโทรทรรศน์ในอินเดียสามารถจับสัญญาณได้ นอกจากนี้ นักวิจัยได้ใช้การตรวจจับเพื่อวัดปริมาณมวลอะตอมของดาราจักร ซึ่งค้นพบว่ากาแล็กซีนี้มีมวลเกือบสองเท่าของดาวฤกษ์ที่เรามองเห็นได้จากโลก”


กำลังโหลดความคิดเห็น