1."พิธา" ยัน "ก้าวไกล" เดินหน้ายื่นแก้ ม.112 เข้าสภาแน่ แม้ไม่ได้บรรจุใน MOU 8 พรรค!
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคอีก 7 พรรค ได้ลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมคอนราด กทม. ซึ่งประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่
นายพิธา กล่าวว่า การเลือกวันเซ็น MOU วันนี้ (22 พ.ค.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปี การทำรัฐประหารปี 2557 นับว่าเป็นหมุดหมายที่ดี สะท้อนความสำเร็จของสังคมไทย ที่เราสามารถเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ผ่านระบอบรัฐสภาอย่างสันติ โดยบันทึกความเข้าใจร่วมนี้มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมวาระร่วมที่เห็นตรงกัน พร้อมที่จะผลักดันผ่านกลไกขของรัฐบาลและรัฐสภา เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
โดยทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้นต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ โดยวาระร่วมประกอบด้วย
1.ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 2.ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ 3.ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
4.เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงการเกณฑ์ทหารไว้ในยามศึกสงคราม 5.ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
6.ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต 7.แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน 8.ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
9.ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
10.ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิไม่เห็นด้วยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องด้วยเหตุผลด้านศาสนา 11.ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
12.ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า คำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน 13.จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting) 14.สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว 15.แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเร่งด่วน
16.นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา 17.ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
18.แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน 19.ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจ 20. ยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการส่งเสริมการป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ
21.ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 22.สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด 23.ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน และเวทีระหว่างประเทศ ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือพหุภาคี และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ
นอกจากนี้ ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางการปฏิบัติที่กำหนดขึ้น เช่น ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ ทันที, ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง, ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามนายพิธาว่า ยังยืนยันจะมีการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่หรือไม่ นายพิธา ยืนยันว่า จะมีการทำอยู่ โดยเมื่อเดือน ก.พ. 2564 พรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้าสู่สภาแล้ว แต่ไม่มีการบรรจุวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครั้งนี้คิดว่าน่าจะประสบความสำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยเป็นการดำเนินการของพรรคก้าวไกล
เมื่อถามว่า หากใช้สภาแก้ไขมาตรา 112 จะส่งผลกระทบต่อเสียงที่จะสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกฯ หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่คิดอย่างนั้น เพราะพรรคก้าวไกลมีทีมเจรจา ยืนยันว่า มาตรา 112 เป็น 1 ใน 45 กฎหมายที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นเข้าสภา เพื่อพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า สิ่งที่อยู่ในเอ็มโอยู เป็นสิ่งที่คิดว่าจะทำร่วมกัน ส่วนนโยบายของแต่ละพรรคที่ไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู แต่ละพรรคก็มีสิทธิที่จะเสนอ
เมื่อถามว่า มาตรา 112 ไม่อยู่ในเอ็มโอยู ทั้งที่ ส.ว. มองว่าเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นอุปสรรคหรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การที่ไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู แปลว่าไม่ได้มีเงื่อนไขแล้วต้องทำ ดังนั้นสิ่งที่อยู่ในเอ็มโอยูคือสิ่งที่ต้องทำ คือไม่มีแก้มาตรา 112 ฉะนั้นเรื่องมาตรา 112 จะเป็นนโยบายแต่ละพรรคที่จะไปผลักดันในสภาฯ ไม่เกี่ยวกับการร่วมรัฐบาล
เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคก้าวไกลแก้ไขมาตรา 112 ในสภาจะไม่เป็นเงื่อนไขในการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน หากเป็นกฎหมายที่พรรคใดพรรคหนึ่งอยากผลักดัน ก็สามารถที่จะเสนอได้ แต่รัฐสภาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น ตนไม่ทราบ พร้อมย้ำว่า พรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่แรกว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112
2."ปิยบุตร-ก้าวไกล" ดาหน้ายัน "ปธ.สภา" ต้องเป็นของก้าวไกล "อดิศร" ขู่ถ้าก้าวไกลกินรวบ เพื่อไทยอาจถอนตัวร่วม รบ. ด้าน "พิธา" ให้คุยกันผ่านทีมเจรจา!
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่งสัญญาณถึงพรรคก้าวไกลว่าไม่ควรปล่อยตำแหน่งประธานสภาฯ ให้เป็นของพรรคอื่น โดยระบุว่า "ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด ...สองสามวันมานี้ มีข่าวปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนว่า พรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งนี้ให้กับพรรคใดๆ ไม่ได้ การเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาใน MOU ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลได้ถอยในหลายประเด็น จนเหลือแต่ประเด็นที่ทุกพรรคยอมรับได้ และยอมเพิ่มอีกหลายข้อความเพื่อให้ทุกพรรคคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้นแล้ว
"เมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรคก้าวไกลก็คงต้องยินยอม “เฉือน” อีกหลายกระทรวงให้กับพรรคอื่นๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นเกรด A โดยพิจารณาจากงบประมาณและโครงการ “เป็นเนื้อเป็นหนัง”
"ผมเห็นว่า การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.พรรคอื่น โดยทั่วไป ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว
"นอกจากนี้ นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ
"กล่าวจำเพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป อาญา มาตรา 112 (ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่อยู่ใน MOU และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ) พรรคก้าวไกลก็ต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้
“มิพักต้องกล่าวถึงพรรคก้าวไกลต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ในการตั้งรัฐบาลผสม แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ หวังว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่"
วันต่อมา (24 พ.ค.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายปิยบุตร โพสต์เฟซบุ๊กส่งสัญญาณว่า ตำแหน่งประธานสภา ควรเป็นของพรรคก้าวไกลว่า ตนคิดว่า เสมือนมีการกดดันและปิดช่องไม่ให้มีการพูดคุยกัน ซึ่งดูแล้วไม่ใช่แง่บวกเท่าไหร่ ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานสภา อยู่ที่การตกลงและพูดคุยกันด้วยความเหมาะสม โดยในแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน
ด้านนายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงโพสต์ของนายปิยบุตรว่า ด้วยความเคารพ นายปิยบุตรถือเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล จะกินรวบทุกตำแหน่ง โดยเข้าใจว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมาก ความเป็นจริง 152 เสียง ยังไม่เกินครึ่ง ถ้าอยากได้ทุกตำแหน่ง ต้องทำให้ได้แบบพรรคไทยรักไทย 377 เสียง เมื่อปี 2548 ที่จะชี้เป็นชี้ตายเอาตำแหน่งไหนก็ได้
นายอดิศร กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่ว่าได้ฝ่ายบริหารแล้ว จะไม่ให้พรรคอื่นไปดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งต้องดูความเหมาะสมแต่ละช่วงเวลา เช่น สมัยที่ผ่านมานายชวน หลีกภัย ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงไม่มาก ก็ยังได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และในอดีตนายอุทัย พิมพ์ใจชน มีเพียง 3 เสียง ก็ได้เป็นประธานสภาฯ “ต้องดูบุคลากรของทั้ง 2 พรรค ซึ่งผมคิดว่าพรรคเพื่อไทย น่าจะมีความเหมาะสมในตำแหน่งประธานสภาฯ มากกว่า"
นายอดิศร กล่าวด้วยว่า ตนยืนยันว่าไม่ใช่การแก่งแย่ง เพราะทั้ง 2 พรรคเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ดังนั้นเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ตำแหน่งประธานสภาฯ ควรไปโหวตกันในสภาฯ ว่าพรรคไหนจะได้ เราเคารพกฎเกณฑ์ เคารพกติกา ควรมีคนที่เหมาะสมไปนั่งตำแหน่งประธานสภาฯ ให้เป็นหน้าเป็นตาไม่แพ้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหาร เราได้คนหนุ่มแล้ว แต่ประธานสภาฯ พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรกินรวบ เล่นสลากกินแบ่งกันหรือเปล่า “ถ้าพรรคก้าวไกลยังดื้อดัน สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็เดินไปไม่ได้อยู่ดี ผมไม่อยากให้เกิดภาพนั้นขึ้น”
ทั้งนี้ วันเดียวกัน (24 พ.ค.) เฟซบุ๊กเพจของพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ยืนยันว่า "พรรคก้าวไกลเดินทางบนเส้นทางการเมืองไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยมี 3 วาระที่สำคัญมากของพรรคก้าวไกลที่เราจำเป็นต้องใช้สถานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในการผลักดัน คือ ผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า... ผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น...ผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย..."
วันต่อมา (25 พ.ค.) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงยืนยันอีกครั้งว่า ตำแหน่งประธานสภา ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล เพราะมี 3 วาระที่ต้องผลักดัน ซึ่งสอดคล้องกับที่พรรคก้าวไกลได้โพสต์ไปก่อนหน้า
วันเดียวกัน (25 พ.ค.) นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แกนนำพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ระบุว่า “ประธานสภา” กระดุมเม็ดแรกของก้าวไกลเพื่อผลักดัน กม.ก้าวหน้า
ด้านพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ถึงกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ประธานสภา ควรเปิดทางผลักดัน 'ทุกนโยบาย' ของ 'พรรคร่วมรัฐบาล' ให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น
วันต่อมา (26 พ.ค.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล จะมีการถอยคนละก้าวหรือไม่ ขณะที่มีนักวิชาการเสนอให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 3 มารับตำแหน่ง หรือไม่ก็ให้พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยดำรงตำแหน่งพรรคละ 2 ปี
โดยนายพิธา กล่าวว่า คิดว่า ทั้ง 8 พรรคที่ได้ร่วมจับมือกันแล้ว ต้องร่วมมือปรับจูนพูดคุยกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา ประชาชนและตนได้ยินแล้วว่าแต่ละพรรคมีความต้องการ และเหตุผลอย่างไร ซึ่งทางที่ดีที่สุดสุดน่าจะกลับไปพูดคุยกันผ่านทีมเจรจาที่เราเคยตั้งเอาไว้ “ทุกท่านพูดคุยกับสาธารณชนแล้วว่า เหตุผลคืออะไร ก็น่าจะเพียงที่จะนำกลับไปพูดคุยในทีมเจรจา ซึ่งผมเชื่อใจทุกท่าน”
เมื่อถามย้ำว่า มองว่า ตำแหน่งประธานสภา ยังต้องเป็นของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องให้ทีมเจรจาพูดคุยกัน เวลานี้เชื่อใจทุกพรรค เวลาทำงานทางการเมืองต้องเชื่อใจซึ่งกันและกัน ถามต่อว่า รอยร้าวระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล จะสมานกันได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ได้แน่นอน ตนคิดว่า เป็นเรื่องปกติของการทำงาน ที่อาจมีอะไรเห็นไม่ตรงกันอยู่บ้าง และพูดคุยกัน แต่ถ้าเราสามารถยึดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นที่ตั้ง และกลับมาพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล ตนเชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก
เมื่อถามถึงกระแสวันที่ 28 พ.ค.นี้ จะมีการนัดชุมนุมเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายพิธา กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย แต่เมื่อมีการพูดคุยกันแล้ว และทุกคนฝากความหวังไว้กับเราเยอะมาก ก็ให้เป็นหนึ่งในกระบวนการ แต่กระบวนการอันสำคัญ คือ การพูดคุยปรับจูนกัน ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะยังมีงานใหญ่ๆ รออยู่อีกเยอะ
3. “สนธิญา” ยื่น กกต.ยุบ "ก้าวไกล-เพื่อไทย" กรณี “ปิยบุตร” ชี้นำยึดเก้าอี้ ปธ.สภา "อุ๊งอิ๊ง” บินพบ “ทักษิณ” ทั้งที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ!
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นายสนธิญา สวัสดี ได้เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบและส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จากกรณี 1. นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นให้พรรคก้าวไกลจะต้องยึดตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นของพรรค ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งนั้น เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องเลือกกันเอง
คนก็ตั้งข้อสังเกตว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมายถึงประธานรัฐสภาด้วย หมายความว่า ประธานสภาก็เป็นประธานวุฒิสภาด้วย มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของประธานวุฒิสภา ซึ่งเหลืออายุอยู่ประมาณปีกว่าๆ ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลก็ดำเนินการสอดคล้องกับที่นายปิยบุตรโพสต์ และไม่ได้ออกมาปฏิเสธ จึงอนุมานได้ว่า การการกระทำของนายปิยบุตรเป็นการชี้นำครอบงำ และพรรคก้าวไกลยอมรับต่อการชี้นำ ครอบงำนั้น ซึ่งเข้าข่าย พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 28 มาตรา 29 และเป็นเหตุนำไปสู่การถูกยุบพรรคได้ตามมาตรา 92(3) ได้
2 .กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประเทศสิงคโปร์ ตนมองว่า การไปเยี่ยมบิดาหรือผู้มีพระคุณนั้นสามารถทำได้ แต่ขณะนี้ น.ส.แพทองธาร ยังเป็นแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพฤติกรรมต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งเข้าลักษณะตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 45 ที่มีโทษตามมาตรา 92(3) เช่นกัน จึงขอให้ กกต. พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของว่าที่แคนดิเดตนายกฯ หรือว่าที่นายกฯ ต่อไปในอนาคตด้วย
“ส่วนตัวผมยังมั่นใจว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรรคก้าวไกล ไม่สามารถที่จะทะลุผ่านเข้าไปสู่กระบวนการโหวตเป็นนายกฯได้ แล้วแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย คนที่ 1 ก็คือ น.ส.แพทองธาร ซึ่งมีหลายคนที่ออกมาวิเคราะห์กรณี น.ส.แพทองธาร เดินทางไปเยี่ยมพ่อในช่วงเวลาสถานการณ์อย่างนี้ โดยจริยธรรม คุณธรรมและมารยาท หรือกฎหมาย ไม่น่ากระทำการโดยเปิดเผย เพราะการไปเยี่ยมในช่วงมีตำแหน่ง หรือเป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น อธิบายไม่ได้ในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ที่ถูกศาลไทยพิจารณาให้จำคุกไปแล้ว”
ทั้งนี้ วันเดียวกัน (26 พ.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต. หลังจากเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ได้ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กระทำการชี้นำพรรคก้าวไกล เข้าข่ายขัดมาตรา 28 และ มาตรา 29 พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 โดยนายศรีสุวรรณ ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายปิยบุตรได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด พร้อมอธิบายเหตุผลมากมาย ซึ่งต่อมา ว่าที่ ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลต่างออกมาให้สัมภาษณ์และหรือโพสต์ข้อความแสดงความเห็นเพื่อยืนยันว่า ตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ลงในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย อาทิ นายรังสิมันต์ โรม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
“การที่ว่าที่ ส.ส.คนใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ทั้ง 500 คนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้าไป ไปเลือกกันเองว่าท่านใดจะมีความเหมาะสม เพราะทุกคนน่าจะมีวิจารณญาณตัดสินใจได้เอง ไม่จำเป็นต้องมีใครมาชี้นำ แต่นายปิยบุตรโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ลักษณะดังกล่าว ทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากพยายามชี้นำความคิดและการกระทำของเหล่าว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ให้ต้องช่วยกันผลักดันหรือกดดันให้พรรคร่วมต่างๆ ยินยอมให้ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น”
นอกจากนี้ วันที่ 25 พ.ค. น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ยังได้ออกมาโพสต์สำทับถึงข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “ก้าวไกลต้องการเป็น #ประธานสภา เพื่อผลักดันวาระก้าวหน้าในสังคม” อีกด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า บุคคลทั้งสอง ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคก้าวไกล กลับมีพฤติการณ์หรือกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับการชี้นำของบุคคลทั้งสอง จึงต้องนำพยานหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมให้ กกต. เพื่อนำไปตรวจสอบ และวินิจฉัยประกอบคำร้องเดิมที่เคยชี้เบาะแสไว้แล้ว หาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นไปตามที่ร้อง ก็สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92(3) ได้
4. “เรืองไกร” ยื่นหลักฐาน กกต. เพิ่ม มัด “พิธา” ถือหุ้นสื่อไอทีวี เล็งยื่น ส.ส.-ส.ว. ใช้สิทธิส่งศาล รธน. วินิจฉัยอีกทาง!
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เข้ายื่นเอกสารต่อ กกต.เพิ่มเติม กรณีขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี ว่า ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของนายพิธา มายื่นเพิ่ม เพื่อให้ กกต.นำไปประกอบการพิจารณา ประกอบด้วย ตารางชื่อของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ และนายพิธา ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ปี 2549-2566 รวมทั้งสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี ปี 2549-2566 (บางส่วน) สำเนาวัตถุประสงค์ของ บมจ.ไอทีวี ตารางรายได้รวมของ บมจ.ไอทีวี ปี 2564-2565 สำเนารายได้รวมของปี 2564-2565 (ขาดปี 2555) และสำเนา พ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน (บางส่วน) เนื่องจากตนเองเป็นแค่ผู้ร้อง ไม่มีอำนาจไปตรวจสอบกิจการได้ อีกทั้งมองว่า เรื่องนี้ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ดังนั้น เมื่อเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะขอให้ศาลใช้ระบบไต่สวน เพื่อเรียกพยานหลักฐานเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย
นายเรืองไกร ยังกล่าวด้วยว่า หาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธาไม่แล้วเสร็จ อยากขอให้นักการเมืองที่มีสถานภาพเป็น ส.ส. ร่วมกันเข้าชื่อตามกฎหมาย เสนอเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนกับที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูกยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบกรณีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ช่วงก่อนยุบสภา ส่งผลให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะตรวจสอบคู่ขนานกับทาง กกต.ได้
ดังนั้น จะเอาไปนำเสนอต่อ ส.ส. เพื่อพิจารณา ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทำได้ และถ้านายพิธา เป็นนายกฯแล้ว ก็จะขอให้ ส.ว. จำนวน 250 ใช้สิทธิยื่นร้องสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน ยืนยันว่า ข้อเสนอเป็นไปตามหลักข้อเท็จจริง ไม่มีอภินิหารหรือนิติสงครามทั้งสิ้น
นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังได้เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.ที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กรณีขึ้นรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นรูปโลโก้พร้อมเบอร์พรรคเพื่อไทย เข้าข่ายจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือเข้าข่ายหลอกหลวงให้หลงผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคหรือไม่ เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(5) ประกอบมาตรา 56 มาตรา 132 และมาตรา 137 หรือไม่ ซึ่งทำให้คนเข้าใจว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคหรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยวันนี้ (24 พ.ค.) จะยื่นหลักฐานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบุคคลทั้งสองได้ทำการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์แล้ว หลังจากที่ตนยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ ซึ่งการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์แสดงว่า ข้อกล่าวหาก็จะต้องมีการตรวจสอบต่อไป
5. "ทนายพัช" ปัดช่วย "แอม ไซยาไนด์" ทำลายหลักฐาน ด้านตำรวจกองปราบฯ ยัน มีพยานหลักฐานเอาผิด!
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. เผยความคืบหน้าคดีนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือแอม วางยาฆ่าชิงทรัพย์ น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือก้อยว่า วันนี้ได้ติดต่อประสานไปยัง น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ หรือทนายพัช ทนายความของนางสรารัตน์ ให้มาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตามมาตรา 184 ช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลงโดยการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด หลังพบพยานหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลังการจัดส่งกระเป๋าแบรนด์เนมและทรัพย์สินของ น.ส.ศิริพร ผู้ตาย ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญไปให้กับ น.ส.แก้ว พยานอีกคน เพื่ออำพรางหลักฐานทางคดี ซึ่งการพูดคุยกับ น.ส.ธันย์นิชา เจ้าตัวให้ความร่วมมือตอบรับว่าจะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวในเวลา 19.00 น. วันเดียวกัน ที่กองปราบปราม
แต่ในที่สุด น.ส.ธันย์นิชา ก็ไม่เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามที่นัดหมายแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามโทรศัพท์ไปสอบถาม ก็ไม่สามารถติดต่อได้
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียให้ น.ส.ธันย์นิชามารับทราบข้อกล่าวหา อย่างเป็นทางการครั้งที่ 1 โดยส่งหมายเรียกไปที่ภูมิลำเนา ในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ นัดหมายให้มาพบในวันที่ 30 พ.ค. เวลา 13.00 น. แต่ต่อมา น.ส.ธันย์นิชาได้ติดต่อกลับมา ขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน เป็นช่วงบ่ายของวันที่ 31 พ.ค.แทน
พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. เผยความคืบหน้าในส่วนของสำนวนคดี น.ส.สรารัตน์ หรือ แอม เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ด้วยว่า คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างตรวจสำนวนทั้ง 15 สำนวน หลังมีการสอบปากคำพยานบุคคลต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงรอผลตรวจพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์บางส่วน คาดว่าจะสรุปสำนวนส่งอัยการได้ในต้นเดือนหน้า โดยจะต้องนำตัว พ.ต.ท.ทวิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ รองอ๊อฟ รอง ผกก.สอบสวน สภ. สวนผึ้ง อดีตสามี น.ส.สรารัตน์ มาส่งฟ้องต่ออัยการด้วย
วันเดียวกัน (24 พ.ค.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่า น.ส.ธันย์นิชา ทนายความของนางสรารัตน์ เตรียมฟ้องตำรวจ 3 นาย ในความผิดมาตรา 157 และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของทุกคนหากจะฟ้องกลับ ยืนยันว่าไม่ได้หนักใจอะไร และออกหมายเรียกไปตามพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏ ยืนยันว่า ตนและพนักงานสอบสวนทั้งชุดทำงานเป็นธรรม และไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร ทำคดีตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เตรียมทีมทนายความไว้คอยช่วยเหลือนายรพี ชำนาญเรือ ผู้เปิดเรื่องคดีก้อยและประสานงานผู้เสียหายคดีนางสรารัตน์ รวมถึงตำรวจ และสื่อมวลชน ในกรณีหากถูก น.ส.ธันย์นิชา ฟ้องกลับอีกด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ธันย์นิชา ได้เดินทางเข้าพบตำรวจกองปราบฯ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ก่อนถึงกำหนดนัดในวันที่ 30 พ.ค. โดย น.ส.ธันย์นิชา กล่าวว่า มารับทราบข้อกล่าวหาหลังถูกหนึ่งในผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ซัดทอดหาว่า ตนอยู่เบื้องหลังการจัดฉากยักย้ายพยานหลักฐาน ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และว่า ตลอดเวลาที่เป็นทนายความให้นางสรารัตน์ ตนให้คำแนะนำต่างๆ ตามหน้าที่ของทนายอยู่ภายใต้ตามกรอบของกฎหมาย ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือแนะนำการจัดฉากยักย้ายหลักฐานต่างๆ แน่นอน และได้ชี้แจงพนักงานสอบสวนถึงข้อเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ไปหมดแล้ว
น.ส.ธันย์นิชา ยืนยันว่า ไม่เคยส่งกระเป๋าให้ น.ส.แก้ว และไม่เคยให้คำแนะนำใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยใช้และไม่เคยรู้จักกระเป๋าแบรนด์เนมเลย และการที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ก็มาจากการซัดทอดของผู้ต้องหาคนอื่น ซึ่งไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไรที่ซัดทอดมาถึงตัวเอง ส่วนประเด็นที่ว่าเคยรู้จัก น.ส.แก้ว มาก่อนหน้านี้หรือไม่ ไม่ขอพูดถึง เพราะเป็นเรื่องในสำนวน
น.ส.ธันย์นิชา กล่าวอีกว่า ยืนยันว่า ตอนนี้ยังเป็นทนายความหลักให้นางสรารัตน์อยู่ ส่วนจะมีทนายความคนไหนเข้ามาช่วยเหลือเรื่องคดีด้วย ก็สามารถทำได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถแต่งตั้งทนายความคนอื่นเพิ่มได้ แต่ต้องสอดคล้องกับทนายหลัก และทนายหลักต้องยินยอม
ด้าน พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. เผยว่า จากการสอบปากคำทนายพัช เจ้าตัวให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และให้การแย้งในประเด็นต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนสงสัย ซึ่งคำให้การต่างๆ ค่อนข้างขัดแย้งกับข้อมูลการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่สามารถหักล้างประเด็นต่างๆ ในคดีได้ ยืนยันว่า พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานมากพอที่จะสามารถดำเนินคดีกับทนายพัชได้ ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่าตำรวจ เตะตัดขาทนายความ มีความชัดเจนว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์เกินกว่าการเป็นทนายความและเกินกว่าขอบเขตตามมรรยาททนายความ จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำลายพยานหลักฐาน
พ.ต.อ.เอนก กล่าวด้วยว่า ไม่สามารถเปิดเผยตัวบุคคลที่ให้ปากคำซัดทอดมาถึงตัวทนายพัช แต่ยืนยันว่า บุคคลดังกล่าวมั่นใจในคำให้การ และตำรวจสามารถสืบสวนสอบสวนจนหาพยานหลักฐานมายืนยันคำให้การดังกล่าวได้ และถึงแม้นางสรารัตน์จะให้การพลิกไปพลิกมาในแต่ละครั้งที่มีการสอบปากคำ ก็จะยิ่งเป็นผลเสียต่อตัวผู้ต้องหาเอง เพราะจะทำให้คำให้การของผู้ต้องหาเสียน้ำหนักทางรูปคดีและทำให้ศาลไม่เชื่อถือ