xs
xsm
sm
md
lg

มองเกม “ก้าวไกล” ยื้อตั้งรัฐบาล เมินถอย ม.112 ส่อยังอยากเป็นฝ่ายค้าน รอแลนด์สไลด์ของจริงปี 70

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” มองเกมจัดตั้งรัฐบาล นโยบายแก้ ม.112 ยังเป็นเดดล็อก ขวาง “พิธา” นั่งนายกฯ เพราะเป็นสาเหตุให้หาเสียงโหวตให้ครบ 376 ไม่ได้ ขณะที่เพื่อไทยอยู่นิ่งๆ รอเสียบ แต่ก้าวไกลก็พร้อมเล่นเกมยื้อ ไม่ยอมถอยเรื่อง ม.112 อาจรอจน ส.ว.หมดอำนาจเลือกนายกฯ ปีหน้า หรือลึกๆ แล้ว เจ้าของพรรคตัวจริงอาจจะยังไม่อยากให้เป็นรัฐบาล เพราะรู้ว่าถ้าเป็นก็ยังแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ สู้เป็นฝ่ายค้านเหมือนเดิมอีก 4 ปี รอชัยชนะแบบแลนด์สไลด์จริงๆ ในปี 2570 ดีกว่า



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า พรรคก้าวไกลแม้จะเป็นพรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งคือ 152 ที่นั่ง แต่ก็ไม่ได้เสียงส่วนใหญ่ (Majority) จากการเลือกตั้ง ส.ส. โดยได้ที่นั่งประมาณ 30% จากเสียง ส.ส. 500 ที่นั่ง ซึ่งสภาวะทางการเมืองหลังวันที่ 14 พฤษภาคม เมื่อจบจาก“โหมดของการเลือกตั้ง”แล้ว ณ เวลานี้ ไม่ใช่ เกมเลือกตั้ง แต่เป็น“โหมดของการจัดตั้งรัฐบาล”ซึ่งด่านแรกที่พรรคก้าวไกลต้องข้ามผ่านก็คือ

1.ต้องหาแสวงมิตร หาแนวร่วมเพื่อรวบรวมเสียง ส.ส. ส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุดเสียก่อน นั่นคือ ส.ส. 251 เสียง ซึ่งหาได้อยู่แล้ว

2.ด่านการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องอาศัยเสียง ส.ส.+ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง ซึ่งนายพิธาและพรรคก้าวไกลกำลังใช้โซเชียลมีเดียกดดันให้ ส.ว.ยกมือให้

โดยประเด็นสำคัญที่เป็นเหมือน Deadlock นั่นคือการชูนโยบายการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (โดยยังไม่กล่าว หรือก้าวล่วงไปถึง นโยบายการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไปไกลมาก ๆ)


ทั้งนี้ทั้งนั้นตอนนี้มีการพูดถึง“สูตรผสม-ส่วนผสม”ในทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหลายสูตรมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณหลายอย่าง คำพูดหลายคำที่สำคัญที่อยากหยิบยกมาให้ดูคือ

พรรคเพื่อไทย-ทักษิณ วางเฉยแต่รอเสียบ

วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงหลังการเลือกตั้งว่า“ไม่มีแนวคิดจะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับก้าวไกล”

ซึ่งจากคำพูดของแพทองธาร และแถลงการณ์ของเพื่อไทย ก็ชัดเจนแล้วว่า เพื่อไทยเล่นบทวางเฉยให้ก้าวไกลจัดการทั้งหมด จะหาเสียงมารวมเพิ่มโดยไม่ต้องใช้ ส.ว. หรือจะคุยกับ ส.ว. ก็ไปจัดการมาให้เสร็จ ทำอย่างไรก็ได้ให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้


ทั้งนี้ ถ้าก้าวไกลจะผ่านเรื่องนี้ได้ ไม่โดนยุบพรรค พิธาไม่โดนตัดสิทธิ์ ก็ต้องดีลให้จบว่าเอายังไงกับเสียงที่ขาดหายไป แล้วแถลงเรื่องนี้ออกมาต่อสาธารณชนว่าพร้อมแล้ว ถ้าไม่แถลงแล้วทอดเวลายืดไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พล.ต.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการยาวแบบไม่มีกำหนด ซึ่งคนในสังคมก็จะรับไม่ได้ ตอนนั้นเพื่อไทยก็มีโอกาสขึ้นมานำเกมโดยที่ไม่ต้องออกตัวอะไรเลยเพราะ“ก้าวไกลขาดเพื่อไทยไม่ได้ แต่เพื่อไทยขาดก้าวไกลได้”

คนเลือกก้าวไกลก็อาจจะก่นด่า แต่ก็ต้องยอมเพราะไม่งั้นก็จะติดสุญญากาศทางการเมืองที่มี พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงานแบบรักษาการไปเรื่อย ๆ ซึ่งจากกระแสการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ชัดแล้วว่าคนที่เลือกก้าวไกลอาจจะไม่ได้ชอบก้าวไกลทุกคน แต่เขาทนการบริหารงานภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ไหว

หรือคนอาจจะด่ากดดัน ส.ว. ที่ไม่โหวตให้พิธาเป็นนายก จนการตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ แต่ก็ได้แค่นั้น ก้าวไกลอาจจะยื้อไปได้เรื่อยๆ รอกระทั่ง ถ้าไม่ได้เสียง ส.ว. ก็รอจนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า อีกปีเดียว เมื่อ ส.ว.ไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ แล้ว ก็สามารถใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ ได้

ดังนั้นเราน่าจะได้เห็นเกมจัดตั้งรัฐบาลแบบยาว ๆ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ รักษาการนายกไปเรื่อย ๆ ส่วนเพื่อไทยและคนเลือกก็รอดูเฉย ๆ แล้วยิ่งคนโวยวายหนัก ๆ ไปจนถึงทนไม่ไหวมีม็อบกดดันขึ้นมายิ่งเข้าทางทำให้ ส.ว. มีข้ออ้างเล่นเกมนี้ต่อไปอีก

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่“ลุงตู่-ลุงป้อม”เท่านั้นที่เจ็บ แต่“ลุงโทนี่”นายทักษิณ ก็ถือเป็นคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บที่สุด จากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี


นายทักษิณ ยอมรับว่าโดนกระแส disrupt จากกระแสของพรรคก้าวไกล และกระสุนของพรรคอื่น ๆ แม้ปากจะบอกว่ามีสปิริตทางการเมืองและขอสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ลึก ๆ แล้ว นายทักษิณ และคนในพรรคเพื่อไทยก็รู้ว่า ตอนนี้คู่แข่งของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ ทหาร หรือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่เป็น“พรรคก้าวไกล”

ดังนั้น นับตั้งแต่การปิดหีบเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยนั้นรู้แล้วว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่เปลี่ยนแปลง หรือ disrupt ตัวเองตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อนาคตข้างหน้าพรรคเพื่อไทยนั้นคงจะสูญพันธุ์เช่นกัน

กระแสกดดัน อ้างทุกพรรคต้องโหวตให้“พิธา” เป็นนายกฯ

นอกจากนี้ยังมี ประเด็นที่กำลังมีการการกดดันให้พรรคอื่น ๆ โหวตให้นายพิธาเป็นนายก แม้ว่าจะไม่ได้เป็นพรรคที่ร่วมรัฐบาลด้วย เพราะเป็นความต้องการของสังคม คนที่ออกมาพูดประเด็นนี้มีทั้งคนในพรรคก้าวไกล และพรรคอื่น ๆ ที่กระโดดขึ้นมาเกาะกระแสด้วย อย่างเช่น

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
“ตอนนี้เป็นเวลาที่พวกท่านต้องทำตามจุดยืนของพวกท่าน โหวตสนับสนุนนายกฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ซึ่งก็คือ คุณพิธาให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามกติการะบอบประชาธิปไตยอยางแท้จริง ไม่ต้องรอให้ ส.ว. 250 คน ต้องออกเสียง

นอกจากนี้ก็ยังมี พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้นของ พรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร, “เดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี และนายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน บุตรชายของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็พูดในทำนองเดียวกันว่าควรจะให้พรรคที่ได้รับเลือกจากประชาชนอันดับหนึ่งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และเห็นด้วยที่จะเสนอให้พรรคลงมติสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีเงื่อนไขร่วมรัฐบาล


นายสนธิ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่น่าสนใจมาก ไม่รู้ว่านายอลงกรณ์พูดโดยที่ไม่มีผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังให้พูดหรือเปล่า เพราะว่ากันว่าในการจัดตั้งรัฐบาลชุดพลังประชารัฐคราวที่แล้ว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ บอกว่า ถ้าจะเอาพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปร่วมรัฐบาล ต้องแต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ แล้วออกมาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็เลยไม่แน่ใจว่างานนี้นายอลงกรณ์พูดโดยมีผู้ใหญ่ในพรรคบางคนอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า

"ที่สำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์ ฐานเสียงอยู่ทางภาคใต้ คนใต้รักสถาบัน ส่วนใหญ่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณอลงกรณ์พูดไปแบบนี้ ผมไม่รู้ว่าคนใต้จะคิดอย่างไรกับพรรคประชาธิปัตย์ จากการที่ล้มระเนระนาดในงวดนี้ อาจจะกลายเป็นงวดหน้าจะสูญพันธุ์ไปเลย 100 เปอร์เซ็นต์ และอีกอย่างหนึ่ง คุณอลงกรณ์เป็นคนเมืองเพชรบุรี คุณต้องรู้ว่าเพชรบุรี คนเมืองเพชรเป็นคนที่รักสถาบันกษัตริย์ คุณพูดโดยคุณถามคนเมืองเพชรหรือยัง เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชนชาวเพชรบุรีให้จำเอาไว้เลย ถ้าคุณอลงกรณ์พูดแบบนี้ ให้โหวตให้โดยที่ไม่แคร์ว่าพรรคก้าวไกลชูนโยบายล้มล้างมาตรา 112 และพร้อมที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ นี่คือนิสัยของคุณอลงกรณ์ ต้องการได้แสง หรือทำภายใต้คำสั่งของใคร แต่ผมอยากให้คนใต้ และคนเพชรบุรีสั่งสอนพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าทำอย่างนั้นจริง และสั่งสอนคุณอลงกรณ์ ที่เพชรบุรี อย่าให้ได้ผุดได้เกิดเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะว่าคนเพชรบุรีจะอับอายขายหน้ามาก

"พี่น้องชาวเพชรบุรีครับ คุณอ้าครับ (คุณอ้าคืออดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่อยู่เพชรบุรี) ให้รู้ด้วยว่าถ้าคุณมีคุณอลงกรณ์ คนเพชรบุรี พูดอย่างนี้ คุณรับได้ไหม ถ้ารับไม่ได้คุณบอกคนเมืองเพชรทุกคนเลยว่าคุณอลงกรณ์นี่ต้องหมดอายุทางการเมืองเลย

"พรรคไหนก็ตามที่เห็นตรงกันว่าการสนับสนุนคุณพิธานั้นคือการแสดงเจตจำนงทางการเมืองว่าสนับสนุนให้รัฐดำเนินแนวทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองแบบพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมถึงการเห็นด้วย พรรคที่มาร่วมกับพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอมาด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทย นายทักษิณก็ยืนยันมาชัดเจนแล้วว่า ถ้ามีการแก้ไข 112 เขาไม่ร่วมด้วย แต่เขาจำเป็นต้องร่วมตอนนี้ ตามสปิริตทางการเมือง ในฐานะที่เคยเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ถ้าพรรคไหนที่เห็นด้วยกับแนวนโยบายพรรคก้าวไกล พรรคหลายๆ พรรคไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนเหมือนพรรคเพื่อไทย บอกว่าถ้าแตะ 112 แล้วเขาจะไม่เอาด้วยแล้ว พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่เขาพูดจาชัดเจน แต่พรรคอื่นๆ ที่เข้ามาร่วม แม้กระทั่งพรรคอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ยังไปร่วมกับเขาด้วย ผมไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร คุณหญิงถึงไปเช่นนั้น แต่ก็ช่างมันเถอะ

"ไม่ว่าจะเป็นไทยสร้างไทย ประชาชาติ เสรีรวมไทย เป็นธรรม ถ้าพวกคุณเห็นด้วยกับคุณพิธา ก็แสดงว่าคุณเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของการแก้หรือยกเลิกมาตรา 112 แล้วนำไปสู่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ผมไม่รู้นะ ผมทิ้งไว้ให้คิด"

"เพราะฉะนั้นแล้ว หากพรรคการเมืองใดไม่ได้มีเจตจำนงแนวทางเดียวกัน ก็มีสิทธิ์เต็มที่ที่จะต้องไม่สนับสนุนในแนวทางที่เขาไม่ได้เชื่อ เขาไม่ได้หาเสียง และประชาชนเขาไม่ได้เลือก และนี่คือประชาธิปไตย การบังคับให้ทุกพรรคต้องเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล ให้ยอมรับการแก้ไขมาตรา 112 อันนี้เขาเรียกว่าเผด็จการ" นายสนธิกล่าว

“ชาติไทยพัฒนา-ภูมิใจไทย” จุดยืนชัดไม่ร่วมพรรคแก้ ม.112

ต้องขอชื่นชม นักการเมืองรุ่นใหม่อีกคนอย่าง“คุณท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่ตอบประเด็นเรื่องการจับขั้วของพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ อย่างชัดเจนว่า พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน เพราะจุดยืนยังเป็นเช่นเดิมตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งคือ“เทิดทูนสถาบันฯ”


นายวราวุธ ตอบว่า“เราบอกแล้วว่าเราไม่ได้เดือดร้อนในการที่จะต้องเป็นรัฐบาล และเราพร้อมที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ดังนั้น ถ้าเป็นอะไรที่ขัดหลักการของชาติไทยพัฒนา เราก็ไม่เห็นด้วย ส่วนการยกมือสนับสนุนโหวตให้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องไปหารือกันในพรรคก่อน แต่จุดยืนของเราชัดเจนมาตลอดตั้งแต่หาเสียงแล้ว”

วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 –พรรคภูมิใจไทย ออกแถลงการณ์ ผ่านเพจ พรรคภูมิใจไทย โดยมีข้อความระบุว่า พรรคภูมิใจไทย ขอเรียนว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุว่า จุดยืนของพรรคภูมิใจไทย คือ ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยแถลงต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้

จุดยืนนี้เป็นหลักการสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือต่อรองได้ พรรคภูมิใจไทย จึงไม่สามารถลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้


ทั้งนี้ การเรียกร้อง ข่มขู่ กดดัน ต่อพรรคภูมิใจไทย ให้สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะไม่มีผลให้พรรคภูมิใจไทย และสมาชิกพรรคภูมิใจไทยเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ และจุดยืนได้

พรรคภูมิใจไทย พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประชาชน และปกป้องสถาบันสำคัญของชาติอย่างสุดความสามารถ


พรรคภูมิใจไทยยังเรียกร้องให้ฝ่ายเสียงข้างมาก เคารพและรับฟังเสียงข้างน้อย ตามหลักการประชาธิปไตย มิใช่ข่มขู่ และกดดันให้ต้องทำตามที่เสียงข้างมาก ต้องการ หรือกำหนด และขอเรียกร้องให้ พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองที่กดดันให้พรรคภูมิใจไทย สนับสนุนแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีจาก พรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้แสดงจุดยืนต่อกรณีการเสนอแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของท่านให้ประชาชนทราบด้วย

ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเลือกนายกรัฐมนตรีจากระบบรัฐสภา การที่พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส. 151-152 เสียง จาก 500 เสียงในสภา ก็คือไม่ถึงครึ่ง แค่ 30 กว่า% ซึ่งก็ยังไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ในสภา

ดังนั้น อีก 348-349 เสียงเขาอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกลก็ได้ แต่ที่มาร่วมก็เพราะอยากเป็นฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แปลว่าอยากได้ คนชื่อ “พิธา” เป็นนายก หากยึดตามหลักประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวอ้างกันก็ควรจะมีสิทธิโหวตใคร จากพรรคอื่น ๆ ก็ได้

“ผมพูดอย่างตรงไปตรงมา นโยบายที่เป็นอุปสรรคที่สุดในการหาพันธมิตรของพรรคก้าวไกลก็คือการแก้ไข/ยกเลิก มาตรา 112 ซึ่งซ่อนเรื่องการปฏิรูปด้อยค่าสถาบันกษัตริย์เอาไว้เบื้องหลัง

“คุณพิธาจริงๆ ผมรู้ว่าลึกๆ ถึงวันนี้คุณไม่อยากจะยุ่งเรื่อง กฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ทำไม่ได้เพราะคุณถูกกำกับ ด้วย พวกคุณธนาธร ปิยบุตร ช่อ พรรณิการ์ สหรัฐอเมริกา และ แรงกดดันจากเด็กๆ ที่คุณไปสัญญิงสัญญาเอาไว้


“เพียงแค่คุณปลดล็อค ม.112 เรื่องเดียว วันนี้คุณเป็นนายกฯ ได้เลย และจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ที่คุณสัญญาให้ประชาชนได้หมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกณฑ์ทหาร, ปัญหาการคอร์รัปชัน, ปัญหาปากท้อง, ปัญหาค่าพลังงาน-ค่าไฟแพง ฯลฯทั้งยังสร้างความชอบธรรม ปลดชนวน ที่ทำให้ ส.ว. 250 คน ต้องโหวตให้คุณเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย" 

นายสนธิ กล่าวอีกว่า คำถามที่อยากถามก็คือแท้จริงแล้ว การพยายามดันเรื่องมาตรา 112แบบไปให้สุดซอยแล้วได้อะไร? เป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวมได้มากน้อยแค่ไหน? ประเทศชาติ ประชาชนเขาเดือดร้อนกับมาตรา 112 กันจริงหรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำกัน ณ วันนี้เวลานี้ เลยหรือ? หรือจริง ๆ แล้ว เดือดร้อนเพราะเพียงคนไม่กี่คน อาจารย์ไม่กี่คน ชาติมหาอำนาจไม่กี่ชาติ?

เหตุใด ทำไม “พิธา-ก้าวไกล” ไม่ถอยสัก 1 ก้าวเรื่อง ม.112?

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ หรือในความเป็นจริงพรรคก้าวไกลคงไม่ได้ต้องการชัยชนะเพียงแค่ “สนามรบ” ในการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่?

เชื่อว่าจริงๆ นายธนาธรยังไม่อยากให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล แต่อยากให้เป็นฝ่ายค้านต่ออีก 4 ปี เพราะนายธนาธรพูดชัดเจนแล้วว่าแลนด์สไลด์ตัวจริงจะมาในปี 2570 นายธนาธรก็รู้ว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะยังแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เพราะนายพิธาจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าแล้วจะวุ่นวายไปหมด และจะทำให้คะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลตก แต่ถ้าไม่เป็นนายกรัฐมนตรีตอนนี้ ให้คนอื่นเป็นแทน ตัวเองมาเป็นฝ่ายค้านเหมือนเดิม จะได้ไม่มีบาดแผลในการทำงาน จะทำให้การเลือกตั้งในปี 2570 นั้น ตัวเองและพรรคก้าวไกลมีสิทธิจะแลนด์สไลด์ทั้งประเทศ อาจจะได้ถึง 200-300 เสียงด้วยซ้ำ


อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคก้าวไกลยอมถอย 1 เรื่อง เรื่องมาตรา 112 แต่ทำสำเร็จ 299 เรื่อง แล้วเกิดประโยชน์ต่อประเทศได้ ประชาชนก็คงจะได้รับประโยชน์ตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะถ้านโยบายเหล่านั้นทำได้จริงและเกิดประโยชน์จริง

แต่ถึงวันนี้คิดว่า พรรคก้าวไกลอาจจะไม่ยอมถอยเรื่อง การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
ทั้ง ๆ ที่พรรคก้าวไกลก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า หากเสนอแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีเนื้อหาไม่ต่างจากการยกเลิกมาตรา 112 นั้น จะไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้

แต่การที่พรรคก้าวไกลจะไม่ประกาศถอยในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่วันนี้ เพียงเพื่อแลกกับการเข้าสู่อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นรัฐบาลได้นั้น วิเคราะห์ได้หรือไม่ว่าน่าจะต้องการอะไรที่มากกว่านั้น

“การรุกฆาตทางการเมือง” เป็นรัฐบาลในวันนี้ก็เข้าไปรื้อโครงสร้างทั้งระบบตามที่ได้หาเสียง แต่เป็นฝ่ายค้านก็เพื่อให้พรรคเพื่อไทยกลืนน้ำลายตัวเอง เตรียมรอล้างทั้งระบบในวันข้างหน้า พรรคก้าวไกลจึงอาจจะพร้อมที่จะแพ้ในสนามรบในการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่นายธนาธรต้องการ เพื่อไปชนะสงครามในอีก 4 ปีข้างหน้าอย่างถล่มทลายมากกว่า เพื่อกวาดล้างโครงสร้างทั้งระบบ ใช่หรือไม่?

ส่วนฝ่ายที่ยังคิดจัดตั้งรัฐบาลขวางพรรคก้าวไกล แต่ยังไม่ปรับตัว คิดแต่โหนเจ้าเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตนเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนเหมือนเดิม ประชาชนก็จะยังคงเดือดร้อนต่อไปอีก 4 ปี และจะเป็นชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่านี้ในอนาคตอย่างแน่นอน


“คุณพิธาครับ ประเทศเราสามารถอนุรักษ์ของเก่าของดี ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งใหม่ สิ่งที่ก้าวหน้า ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทุบทำลายของเก่า สิ่งที่มีอยู่เก่า วัฒนธรรม-ประเพณี-สถาบัน ดั้งเดิม หรือ ด้อยค่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา หรือ มองว่าตัวเองคือความเจริญ ด่าผู้ที่เห็นต่างว่า ล้าหลัง-หลังเขา-เต่าล้านปี

“และนี่คือจุดยืนของผม แต่ถ้าไม่เห็นด้วย คุณอยากเอาทัวร์มาลงเอามาเลย ผมไม่ได้รู้สึกสะทก สะท้าน หรือ สะเทือน เลยแม้แต่น้อย เพราะความจริงมีหนึ่งเดียว” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น