ในวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมการแสดงศิลปะการชงชา “เสน่ห์ชาจีนหอมทั่วหล้า” และการแสดงดนตรีจีนพื้นบ้าน “เสียงประสานดนตรีจีน-ไทย” โดยวงดุริยางค์ Shuofeng Chamber Orchestra จากเมืองเซินเจิ้น ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ภายใต้การแนะนำและสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย ดำเนินการจัดงานโดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ สำนักงานวิทยุ โทรทัศน์ การท่องเที่ยวและกีฬาเทศบาลเมืองเซินเจิ้น คณะศิลปะการชงชาและดนตรีพื้นบ้านจากเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน
กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมการชงชาที่มีมาอย่างยาวนานของจีน ประกอบการบรรเลงบทเพลงจีนและบทเพลงไทยที่ไพเราะคุ้นหู แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดและสร้างสรรค์ของ “เส้นทางสายไหมทางวัฒนธรรม” ในวันงาน คุณหวังฮวน ภริยาท่านเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย คุณฉางหยู่เหมิง ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมสถานอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย คุณวราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม Mr. Lee Sheung-Yuen ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำกรุงเทพมหานคร คุณเชว่เสี่ยวหวา ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมและสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ คุณจรรย์สมร วัธนเวคิน นายกก่อตั้งและนายกบริหารกิตติมศักดิ์สมาคมสตรีสัมพันธ์ ดร.วิชิต ลอลือเลิศ นายกสมาคมครูจีน (ประเทศไทย) คุณมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมถึงมิตรสหายชาวจีนและชาวไทยพร้อมทั้งสื่อมวลชนเกือบ 400 คนได้เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้
คุณเชว่เสี่ยวหวา ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมและสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กล่าวสุนทรพจน์ความว่า ชามีต้นกำเนิดในประเทศจีนและได้รับความนิยมจากทั่วโลก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดยองค์การยูเนสโกวัฒนธรรมชาจีนที่มีมายาวนานนับพันปีได้นำไปสู่การสืบทอดและการพัฒนาในรูปแบบใหม่ ดนตรีพื้นเมืองของจีนยังคงพัฒนาและสร้างสรรค์จากการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ดนตรีจีนได้ก้าวเข้าสู่เวทีโลกและแสดงถึง “เอกลักษณ์ประจำชาติและความสง่างาม” ของจีนในยุคใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนๆ ชาวไทยจำนวนมากยิ่งขึ้นจะสามารถเข้าใจวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิมอันยอดเยี่ยมและใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมการบูรณาการและการเรียนรู้ร่วมกันของวัฒนธรรมจีนและไทย ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชนตามโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของไทย จีน และมวลมนุษยชาติ
การแสดงศิลปะการชงชามีพื้นฐานมาจากกระบวนการชงชาใน “คัมภีร์ชา” ของ Lu Yu ใช้พิธีกรรมและวัฒนธรรมดนตรีของจีนเป็นประเด็นสำคัญเพื่อจำลองพิธีชงชาของราชวงศ์ถังอันรุ่งเรืองในรูปแบบของการแสดง ปรมาจารย์ด้านศิลปะการชงชาแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายของราชวงศ์ถังอันรุ่งเรืองด้วยเช่นกัน แสดงและอธิบายถึงศิลปะการจัดดอกไม้ เครื่องหอมและศิลปะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชาอย่างครบถ้วน ตลอดจนแสดงถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรมของอุปกรณ์การชงชาที่ทำด้วยทองและเงิน หลังจากการผิงไฟ บด คั่วและต้มชา ชาในสมัยราชวงศ์ถังที่เป็นเอกลักษณ์ก็ได้เสิร์ฟให้แก่แขกและผู้ชม แสดงถึงวัฒนธรรมและมารยาทในพิธีชงชาของจีนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
บนเวทีการแสดงดนตรีพื้นบ้านจีน เครื่องดนตรีจีนดั้งเดิม เช่น หร่วน เซิง ซั่วน่า และกู่เจิง ล้วนแสดงอยู่บนเวที แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดสมัยใหม่ของเครื่องดนตรีจีนแบบดั้งเดิมและวัฒนธรรมศิลปะประจำชาติ นำเสนอการแสดงด้วยภาพและเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจีนแก่ผู้ชม วงดนตรีได้คัดสรรเพลงจีนและเพลงไทยที่มีชื่อเสียงอย่างพิถีพิถัน บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนบนเส้นทางสายไหมทางวัฒนธรรมผ่านเทคนิคการสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์และภาษาของดนตรีที่ทันสมัย การแสดงที่มีคุณภาพสูงสื่อถึงมิตรภาพอันยาวนานระหว่างจีนกับไทย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรมจีนกับไทย
การแสดงพิธีชงชาและการแสดงดนตรีพื้นบ้านได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากผู้ชมชาวไทย ผู้ชมรู้สึกประทับใจไปกับเสียงปรบมือและเสียงเชียร์ตลอดงาน นอกจากนี้ คณะผู้แทนเส้นทางสายไหมทางวัฒนธรรมเมืองเซินเจิ้นยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมการทูตสาธารณะของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมอีกด้วย
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เทคนิคการชงชาแบบดั้งเดิมของจีนและประเพณีที่เกี่ยวข้องได้รับการบรรจุอย่างเป็นทางการในรายชื่อตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดยองค์การยูเนสโก จึงได้ถือโอกาสของความสำเร็จนี้ในการนำศิลปะการชงชาจีนไปเผยแพร่ในต่างแดนตามโครงการ “เส้นทางสายไหมทางวัฒนธรรม” กิจกรรมศิลปะการชงชาจากคณะผู้แทนเส้นทางสายไหมทางวัฒนธรรมเมืองเซินเจิ้นยังเป็นโครงการแรกของชุดกิจกรรม “เสน่ห์ชาจีนหอมทั่วหล้า” ที่จัดขึ้นโดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน ในฐานะโครงการด้านดนตรีของ “เส้นทางสายไหมทางวัฒนธรรม” ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ก็ได้สร้างเวทีแลกเปลี่ยนศิลปะสำหรับดนตรีพื้นบ้าน แสดงดนตรีพื้นบ้านของจีนที่มีสีสันในรูปแบบที่แปลกใหม่ เป็นการสืบทอดและสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมอันยอดเยี่ยมของจีนไปด้วยกัน