พบกลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แจ้งสำนักข่าวทูเดย์ ในเครือเวิร์คพอยท์ ขอชมเทปรายการก่อนเผยแพร่ ภายหลังไม่อนุญาตให้เผยแพร่รายการ แต่กอง บก.ใจแข็งออนแอร์ต่อ ด้านอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ชี้สำนักข่าวไม่ควรทำ ขัดหลักจริยธรรม บุคคลภายนอกแทรกแซง ระบุเคสนี้ประหลาด คนที่ขอดูไม่ใช่แหล่งข่าวด้วย
วันนี้ (6 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นายพริสม์ จิตเป็นธม รองบรรณาธิการสำนักข่าวทูเดย์ บริษัท ไทย บอร์ดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นสำนักข่าวออนไลน์ในกลุ่มเวิร์คพอยท์ (คนละส่วนงานกับข่าวเวิร์คพอยท์) ได้ทำหนังสือถึงประธานกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่อง ชี้แจงการสัมภาษณ์ น.ส.สุวลักษณ์ จันทรัตน์ ระบุว่า ศปปส.ได้ติดต่อกองบรรณาธิการสำนักข่าวทูเดย์มาในช่วงเช้าวันที่ 5 พ.ค. เพื่อขอรับชมรายการ "VOTE ปะล่ะ คุยการเมืองสไตล์บ้าๆ" ก่อนล่วงหน้าที่จะมีการเผยแพร่ โดยขัดกับแนวทางของกองบรรณาธิการ ทางกองบรรณาธิการจึงปฏิเสธ และขอให้ทาง ศปปส.ส่งหนังสือขออนุญาตมาทางกองบรรณาธิการ
ทาง ศปปส.ได้ส่งหนังสือ "ไม่อนุญาตให้เผยแพร่รายการ" มายังกองบรรณาธิการ โดยอ้างว่าแหล่งข่าวที่สัมภาษณ์ (ป้าลักษณ์-น.ส.สุวลักษณ์ จันทรัตน์) เป็นสมาชิกของ ศปปส. แต่ทางทีมงานไม่ได้ติดต่อผ่านทาง ศปปส.
กองบรรณาธิการสำนักข่าวทูเดย์ขอชี้แจงว่าเทปรายการดังกล่าวเป็นการสัมภาษณ์ น.ส.สุวลักษณ์ จันทรัตน์ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และได้รับความยินยอมจาก น.ส.สุวลักษณ์ โดยตรง และมีเอกสารการรับค่าตอบแทนการออกรายการ ซึ่ง น.ส.สุวลักษณ์ได้ลงลายมือชื่อเรียบร้อย ทั้งนี้ ตั้งแต่การติดต่อสัมภาษณ์และระหว่างการบันทึกเทปไม่มีการกล่าวพาดพิงถึงกลุ่ม ศปปส.แม้แต่น้อย สำนักข่าวทูเดย์ยืนยันว่าได้ดำเนินการสัมภาษณ์และถ่ายทำตามจรรยาบรรณสื่อมวลชน และจะเผยแพร่รายการดังกล่าวต่อไปเนื่องจากแหล่งข่าวไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากกลุ่ม ศปปส. แต่เป็นในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
รายงานเพิ่มเติมระบุว่า รายการ เลือกตั้ง 66 พรรคที่ชอบ ผู้นำที่ใช่ และทิศทางการเมืองไทยที่อยากเห็นของ ‘ป้าเป้า-ป้าลักษณ์’ ของสำนักข่าวทูเดย์ ได้ออกอากาศไปเมื่อเช้านี้ (6 พ.ค.) มีความยาวประมาณ 22 นาที โดยเป็นการสัมภาษณ์ระหว่าง น.ส.สุวลักษณ์ จันทรัตน์ หรือป้าลักษณ์ และนางวรวรรณ แซ่อั้ง หรือป้าเป้า มวลชนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าม็อบราษฎร โดยมีเนื้อหาตั้งแต่การแนะนำตัว ความสนใจการเมือง และความรู้สึกต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงต่างๆ เช่น การทำรัฐประหาร การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าม็อบราษฎร ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย ใครคือผู้นำในดวงใจ การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 8 ปีที่ผ่านมา และความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก Nopadol Prompasit ของนายนพดล พรหมภาสิต ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือ ศชอ. ได้โพสต์ข้อความทำนองว่า ป้าลักษณ์ไม่ควรไปออกรายการนี้ เหตุผลคือเวิร์คพอยท์กำลังมองว่าป้าลักษณ์เป็นคนที่อยู่ในระดับเดียวกับป้าเป้า ซึ่งในความเป็นจริงป้าลักษณ์เกรดดีกว่าป้าเป้าเยอะ ซึ่งป้าลักษณ์ไม่ควรลดตัวลงไป อย่ามองแต่ว่าตัวเองได้ออกสื่อ
ต่อมานายนพดลระบุว่า ได้ข่าวว่าป้าลักษณ์ไปบันทึกเทปกับป้าเป้ามาแล้ว เวิร์คพอยท์จะเอาออกเผยแพร่พรุ่งนี้ ป้าลักษณ์ต้องขอเอาเทปรายการทั้งหมดมาดูก่อน ถ้าไม่เป็นผลดีต่อฝั่งเราก็ต้องให้ระงับการเผยแพร่ และระบุอีกว่า ศปปส.กำลังทำหนังสืออย่างเป็นทางการส่งไปยังเวิร์คพอยท์ว่าไม่อนุญาตให้เผยแพร่เทปบันทึกรายการดีเบตระหว่างป้าลักษณ์กับป้าเป้า ไม่ว่าจะช่องทางไหน ป้าลักษณ์เป็นสมาชิกของ ศปปส. และป้าได้แจ้งความประสงค์มาทาง ศปปส.แล้วว่า เห็นด้วยว่าไม่อนุญาตให้ทางเวิร์คพอยท์นำออกเผยแพร่ แต่ทางสำนักข่าวทูเดย์ยืนยันว่าจะเผยแพร่เทปดังกล่าว
ด้านนายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามหลักจริยธรรมสื่อมวลชนแล้ว ถ้าหากแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์แบบบันทึกเทปแล้ว (On Record) กองบรรณาธิการไม่ควรให้แหล่งข่าวหรือบุคคลภายนอกตรวจหรือดูข่าวก่อนเผยแพร่อยู่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้กองบรรณาธิการถูกแทรกแซงจากบุคคลภายนอก ทำได้มากสุดก็คือถ้าเป็นประเภทงานเขียน นักข่าวสามารถส่งคำพูดของแหล่งข่าวที่จะใช้ในข่าวให้ดูก่อนได้ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีการบิดเบือน แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะของการส่งให้ดูทั้งชิ้น
หลักการนี้ไม่ใช่เฉพาะข่าวการเมือง แต่รวมถึงข่าวอื่นๆ ด้วย ซึ่งในประเทศไทย นักข่าวหรือสื่อหลายแห่งยังไม่เคร่งครัดในเรื่องนี้มาก เข้าใจว่ายังมีวัฒนธรรมยอมให้แหล่งข่าวหรือบุคคลภายนอกตรวจข่าวก่อนเผยแพร่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ควรทำ ดังนั้นมองว่าสำนักข่าวทูเดย์ทำถูกแล้ว แต่ก็ขอให้ยืนหยัดในหลักการแบบนี้กับข่าวอื่นด้วย และอยากให้สื่ออื่นทำตามด้วย
"เคสนี้ประหลาด ไม่ใช่เพราะแค่มีการขอดูหรือตรวจข่าวก่อนเผยแพร่ ซึ่งไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่เพราะหลายคนก็ทำกันประจำ แต่ที่ประหลาดคือ ในเคสนี้คนที่ยืนยันจะดูหรือตรวจชิ้นงานก่อน ไม่ได้เป็นบุคคลที่สำนักข่าวสัมภาษณ์ด้วย เป็นแกนนำขององค์กรที่บุคคลในข่าวเป็นสมาชิก อันนี้ผมไม่เคยเจอมาก่อนจริงๆ แปลกดี" นายธีรนัยระบุ