เปิดหลักฐานตอกย้ำ “สวนชูวิทย์” เป็นสาธารณะสมบัติ เอกสารประกอบคำให้การต่อศาลทั้งแผนที่-ภาพถ่ายระบุชัด ให้เป็นสวนสาธารณะหมดทั้งแปลง โดยไม่กำหนดระยะเวลา ไม่ใช่แค่บางส่วนตามที่ “ชูวิทย์” พยายามเฉไฉ ไม่ต้องให้กรรมการบริษัทคนอื่นรับรองตามที่ “เชาว์ มีขวด” ช่วยแก้ต่าง เพราะมีอำนาจเต็มคนเดียว และไม่เหมือนทางเดินสวนบุคคลอย่างที่ “ทนายอนันต์ชัย” พยายามแถ
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้นำเอกสารหลักฐานมาตอกย้ำว่าที่ดิน “สวนชูวิทย์” บริเวณปากซอย 10 ถนนสุขุมวิท ที่ดินพิพาทในคดีรื้อบาร์เบียร์ ได้ตกเป็นสาธารณะสมบัติแล้ว แม้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ และทนายความพยายามบอกว่ายังเป็นที่ดินของนายชูวิทย์ก็ตาม โดยกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับคำพิพากษาศาลฎีกา และประเด็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ หลังจากได้มีการเผยแพร่รายละเอียดข้อเท็จจริงทางรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม (ชำระคดี “สวนชูวิทย์” ตกเป็นสาธารณสมบัติแล้ว “สนธิ” จ่อฟ้อง “ชัชชาติ” หากยังนิ่งเฉย) ก็มีการออกมาโต้แย้งจากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ในวันเดียวกัน ตามด้วยนายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 2 เมษายน และนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความของนายชูวิทย์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน โดยได้ขู่ว่าถ้ามาทำอะไรให้สวนชูวิทย์ผิดไปจากการเป็นสมบัติส่วนตัวของนายชูวิทย์แล้ว ก็จะฟ้องตามมาตรา 157
นายสนธิกล่าวว่าคำชี้แจงเรื่องที่ดินเจ้าปัญหาจากนายชูวิทย์ นายเชาว์ และนายอนันต์ชัย ต่างคนต่างไปคนละทิศคนละทาง เพื่อหาช่องเทคนิคทางกฎหมายแก้เกม แต่เมื่อดูแผนผังไทม์ไลน์ แล้วดูข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏชัดต่อสาธารณะในสื่อวิดีโอเทป คลิปเสียงการให้สัมภาษณ์ คำให้การต่อศาลของนายชูวิทย์เอง และคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว เปรียบเทียบกับคำพูดของทั้ง 3 คน เพื่อหาช่องเอาสมบัติที่ยกให้สาธารณะกลับมาเป็นสมบัติส่วนตัวอีกครั้งให้ได้ ก็จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วผลจะเป็นอย่างไร
คำแถจาก “ชูวิทย์”
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายชูวิทย์ได้โต้แย้งเรื่องที่ 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง นายชูวิทย์อ้างว่า ที่เคยพูดว่า "ให้" หรือ "บริจาค" ที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะนั้น ไม่ได้ระบุว่าจะให้ทั้งหมด หรือให้บางส่วน เพราะฉะนั้นตัวเอง (นายชูวิทย์) สามารถที่จะสร้างเป็นอาคารบางส่วน และเป็นสวนสาธารณะบางส่วนด้วยก็ได้
ประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า นายชูวิทย์ยอมรับแล้วว่าเคยเอ่ยปากเรื่องที่ดินว่ามีลักษณะการให้ หรือการบริจาคจริง แต่พยายามแถว่าอาจจะไม่ได้แปลว่าให้ทั้งหมดก็ได้
ประเด็นที่สอง เมื่อนักข่าวถามนายชูวิทย์ว่า ตอนนี้ กทม. ตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาเรื่องนี้ นายชูวิทย์ตอบด้วยอาการหงุดหงิดออกแนวประชดว่า "ก็ตั้งเลยครับ อยากจะให้ผมเสียหาย ผมจะเสียหายให้ ตอนนี้ผมก็หยุดโครงการให้แล้ว จะเอาลูกเมียผมไปด้วยไหม"
นายสนธิ กล่าวว่า เรื่องนี้นายชูวิทย์ควรจะอ่านเอกสารคำให้การต่อศาลฎีกาในคดีรื้อบาร์เบียร์เรื่องที่ดินที่นายชูวิทย์เป็นคนร่างและส่งขึ้นไปให้กับศาลฎีกาด้วยตัวเอง ซึ่งมี 2 คำสำคัญเพื่อให้การขอลดโทษต่อศาลฎีกา ที่ว่าจะทำให้เป็น “สวนสาธารณะทั่วไป” และ “จะทำต่อไป”
ประการแรก เอกสารที่นายชูวิทย์ได้ยื่นคำให้การต่อศาลฎีกาในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 เพื่อขอลดโทษนั้น ระบุข้อความดังต่อไปนี้
“แต่จำเลยที่ 129 (นายชูวิทย์) ก็ไม่ทำโครงการต่อ โดยยอมทิ้งผลประโยชน์มูลค่ากว่าหนึ่งพันล้าน และยังได้นำเงินส่วนตัวมาลงทุนก่อสร้างสวนสาธารณะ ชื่อ "สวนชูวิทย์" ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ เป็นประโยชน์ดังเช่นสวนสาธารณะทั่วไป และเป็นปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร”
วิเคราะห์ข้อความว่า “ทิ้งประโยชน์มูลค่ากว่าหนึ่งพันล้าน” ขอย้ำ นายชูวิทย์ใช้คำว่า “ทิ้ง” ไม่ได้ใช้คำว่า “ชะลอโครงการ”
ทั้งนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า "ทิ้ง" มีความหมายถึง "สละ" เช่น ทิ้งทาน ละไป ทิ้งบ้าน ทิ้งเรือน โยนหรือเทเสียโดยไม่ต้องการ ข้อความนี้จึงเป็นการ "สละ" ผลประโยชน์จากโครงการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา
นอกจากนั้น ข้อความที่ว่า “ได้ใช้เงินส่วนตัวมาลงทุนก่อสร้างสวนสาธารณะ” และ “มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ดังเช่นสวนสาธารณะทั่้วไป และเป็นปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร”
ข้อความคำกล่าวว่า "สวนสาธารณะ" นั้น แปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิยสถาน หมายถึง สวนเพื่อประชาชนทั่วไป
เมื่อถูกย้ำอีกครั้งในคำถามถัดไป ว่า "ทั่วไป" ในข้อความ "ให้ประชาชนได้ใช้ดังเช่นสวนสาธารณะทั่วไป ย่อมหมายถึงสวนสาธารณะทั่วไป เช่น สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนรถไฟ สวนหลวง ร.๙ และอื่นๆ คือเป็นสวนสาธารณะทั่วไปที่มีการปิดและเปิดเป็นเวลา ไม่เก็บค่าใช้จ่าย พลเมืองมาใช้บริการได้ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งสิ้น
นายอนันต์ชัย ที่เป็นทนายความ ควรฟังตรงนี้ให้ดีๆ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 บัญญัติเอาไว้ว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”
เมื่อนายชูวิทย์สร้างสวนสาธารณะให้เป็นดังเช่นสวนสาธารณะทั่วไป ย่อมหมายถึงแผ่นดินซึ่งใช้สาธารณประโยชน์ที่สงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่นเดียวกับที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ยิ่งเมื่อนายชูวิทย์ตอกย้ำในคำให้การต่อศาลฎีกาด้วยคำพูดที่ว่าให้ที่ดินแห่งนี้เป็นปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร
ความหมายตามตัวอักษรของคำว่า "ปอด" นั้น หมายถึงอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจอยู่ภายในร่างกายของคน หรือสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเป็นส่วนมาก ย่อมเป็นการเปรียบเสมือนเป็นอวัยวะหายใจสำหรับผู้ที่อาศัยทั่วไปสำหรับคนที่อยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร
ข้อความนี้หมายถึงเป็นสถานที่ที่ใช้ประโยชน์ต่อการหายใจของพลเมือง ร่วมกันของคนกรุงเทพมหานคร จึงไม่อาจจะให้ปอดใจกลางกรุงเทพมหานครที่ให้ไปแล้วจะมาเอาคืนได้
ยิ่งตอกย้ำว่าเป็นสาธารณสมบัติของพลเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นการ "สละ" เพื่อพลเมืองกรุงเทพมหานครที่ไม่สามารถกำหนดเวลาเอาคืนกลับได้แล้ว
ข้อความที่สอง คือคำให้การที่มีต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ว่าจะให้เป็น “สวนสาธารณะต่อไป” อีกด้วย ความว่า
“ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ 129 ก็ยังให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สาธารณะจากสวนชูวิทย์และจะทำต่อไป เพื่อแสดงความสำนึกผิดในการกระทำของตนเองที่กระทำต่อผู้อื่น และละเมิดกฎหมายของรัฐ ทั้งที่ปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวหากทำการซื้อขายจะมีมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านบาท”
โปรดสังเกตคำว่า "จะทำต่อไป" ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการ "สละ" ให้เป็นสวนสาธารณะต่อไปในอนาคต โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ถ้ากำหนดต้องบอกว่าทำต่อไปอีกกี่ปี เช่น 3 ปี 5 ปี 10 ปี แต่นี่ไม่มี ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นการสละที่ดินชั่วคราวจากอดีตถึงปัจจุบันเท่านั้น
ดังนั้น จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีผลต่อไปในอนาคตโดยไม่ได้กำหนดเวลาด้วย จึงย่อมเป็นไปตามกฎหมาย คือ ให้แล้วให้เลย ไม่สามารถจะนำกลับคืนมาได้อีก เพราะตามคำพิพากษาศาลฎีกา เลขที่ 11089/2556 ชี้ชัดว่า ผู้อุทิศที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้วจะขอยกเลิกการอุทิศที่ดินไม่ได้
แฉแผนที่-ภาพถ่ายประกอบคำให้การของ “ชูวิทย์” มอบที่ดินทั้งผืนให้เป็นสวนสาธารณะ
กรณีที่นายชูวิทย์อ้างว่าการให้ หรือบริจาคที่ดินนั้น ไม่ได้แปลว่าให้ทั้งหมด อาจจะให้บางส่วน และสร้างอาคารบางส่วน โดยอ้างว่าเพราะนายชูวิทย์เป็นเจ้าของที่ดิน ฟังดูก็มีเหตุผล แต่หลังจากนายชูวิทย์ได้ยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 แล้วนายชูวิทย์ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ซึ่งมีรายละเอียด ทั้งแผนที่ ภาพถ่าย ครอบคลุมการทำสวนสาธารณะเต็มพื้นที่ทั้งหมด
“การอ้างของนายชูวิทย์ว่าไม่ได้แปลว่าให้ทั้งหมดก็ได้ แต่อาจจะหมายถึงให้บางส่วน เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว จึงเป็นการแถที่ทำให้ตัวคุณถลอกไปหมดทั้งตัว นอกจากเป็นการแถแล้ว เป็นไปได้ไหมว่านี่คือการโกหกศาล”
“นี่ผมยังไม่ได้กล่าวไปถึงคดีอาญาอีกนะ ที่คุณได้กระทำไปในการโกหกศาล เพราะถ้าตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2558 วันนั้นที่คุณชูวิทย์แถลงว่าเป็นที่สาธารณะแล้ว ตามหลักกฎหมาย เป็นที่สาธารณะไปเรียบร้อยแล้ว ก็หมายความว่า ตระกูลคุณ ไม่ว่าจะเป็นลูกคุณ3-4 คน ซึ่งเป็นกรรมการอีกบริษัทหนึ่ง ที่มารับช่วงต่อไป มาตัดต้นไม้ทุกต้น มารื้อถอนสิ่งที่อยู่ในนั้น ผิดกฎหมายนะครับ
“คุณรู้ใช่ไหมครับ คุณอนันต์ชัย ไปเช็กได้ คุณเป็นทนายความ ตัดต้นไม้ 1 ต้น ในที่สาธารณะ โทษจำคุก 5 ปี ผมไม่รู้ว่าสวนสาธารณะแห่งนั้นมีต้นไม้อยู่กี่ร้อยต้น ผมเรียนให้คุณชูวิทย์ทราบนะครับ คุณติดคุกหัวโตแน่ ลูกหลานคุณติดคุกหัวโตแน่”นายสนธิกล่าว
กทม.ขอให้ชะลอการก่อสร้าง
ความจริงในวันนี้ กรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือถึงบริษัท เทนธ์ อเวนิว จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้าง และเป็นของครอบครัวกมลวิศิษฎ์ ให้ชะลอการก่อสร้างเอาไว้ก่อน เพราะเกิดกรณีพิพาทขึ้น และครอบครัวนายชูวิทย์ได้ยอมหยุดการก่อสร้าง
ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท สุขุมวิท ซิลเวอร์ สตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัวนายชูวิทย์ อนุญาตให้บริษัทลูกๆ ของนายชูวิทย์ คือบริษัท เทนธ์ อเวนิว เป็นผู้ก่อสร้างอาคารในที่ดิน
การที่กรุงเทพมหานครขอให้ชะลอการก่อสร้างไปในระหว่างมีการพิพาทนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผู้ที่เสี่ยงและได้รับความเสียหายจากการถูกฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาอีกมาก
สวนสาธารณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อมีการกระทำรื้อถอน ทำลาย ย่อมมีความเสี่ยงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ที่บัญญัติเอาไว้ว่า ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งปรับทั้งจำ
ต่อมา หากมีการเข้าครอบครองพื้นที่ เข้าไปก่อสร้าง ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า การเข้ายึดถือ ครอบครอง และทำสัญญาให้เช่าที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง เป็นกรณีเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเป็นที่ดินของรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งปรับทั้งจำ
เรื่องนี้เจ้าของโครงการชื่อ บริษัท เทนธ์ อเวนิว เป็นผู้ก่อสร้างอาคารในที่ดิน ซึ่งอาจจะเป็นผู้รื้อถอนและเริ่มก่อสร้างทั้งหมด แต่บริษัทนี้ไม่มีชื่อนายชูวิทย์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเลย มีลูกๆ 4 คนเท่านั้น ได้แก่ 1.นายต้นตระกูล กมลวิศิษฎ์ 2.นายเติมตระกูล กมลวิศิษฎ์ 3.นางสาวตระการตา กมลวิศิษฎ์ (ปัจจุบันเป็นนาง เพราะได้แต่งงานไปแล้ว) 4.นายต่อตระกูล กมลวิศิษฎ์ โดยกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันกับบริษัท คือกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท
นอกจากนั้นแล้ว ผู้รับเหมางานเสาเข็ม ไดอาแฟรมวอลล์ ซึ่งทำงานใต้ดินก่อนหน้านี้ คือบริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากในวันนั้นไม่ทราบ ก็อาจจะรับฟังได้ว่ามีความสุจริตใจ ไม่ได้สมรู้ร่วมคิด แต่ถ้าบริษัท ซีฟโก้ รู้ว่าที่ดินนี้เป็นที่สวนสาธารณะ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว หากกลับเข้ามาดำเนินการอีก ก็มีความเสี่ยงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดครั้งนี้อีกด้วย
ส่วนข้าราชการและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตฝ่ายโยธา ฝ่ายกฎหมาย ถ้ารู้แล้วว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งกับผู้กระทำความผิดทำลายสวนสาธารณะ และการเข้าครอบครอง รวมทั้งควรจะต้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างด้วย หากทราบแล้วยังฝ่าฝืนให้ดำเนินการก่อสร้างต่อ ย่อมต้องมีความเสี่ยงในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
สรุป ที่โครงการดังกล่าวต้องชะลอหรือหยุดก่อสร้างในวันนี้ คือการไม่ถลำลึกลงไปสร้างความเสียหาย ส่วนผู้ที่รู้แล้วยังฝืนดำเนินการก่อนหน้านี้ ต้องถือว่าความผิดสำเร็จ แล้วรอเวลาดำเนินคดีความและต้องรับความเสี่ยงตามกฎหมายที่ตามมาอย่างแน่นอน
การพร้อมใจกันหยุดการก่อสร้างในวันนี้ ย่อมเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ผืนนี้มีปัญหาอย่างแน่นอน
2 ทนาย นามสกุล “มีขวด”
ประเด็นต่อมา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2566 นายเชาว์ มีขวด ทนายความ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ทางเฟซบุ๊ก พยายามช่วยแก้ต่างให้นายชูวิทย์ แต่ช่างบังเอิญที่นายเชาว์ มีขวด เป็นพี่น้องกับนายนิติศักดิ์ มีขวด ทนายความนายแทนไท ณรงค์กูล ที่ฟ้องร้องนายสนธิแยู่ในขณะนี้
และมีข้อสังเกตว่า หลังจากนายชูวิทย์ได้พบกับนายแทนไทแล้ว ก็ไม่เคยแฉนายแทนไทอีกเลย แถมยังฟอกขาวให้ด้วยว่า แปลงร่างไปทำธุรกิจที่ถูกต้องแล้ว ทั้งๆ ที่ดีเอสไอก็เพิ่งออกหมายเรียก แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันฟอกเงินการทำการพนันอย่างผิดกฎหมาย เกี่ยวพันคดีกับนายนอท พันธ์ธวัช หรือ พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ที่ปัจจุบันพยายามลงมาเล่นการเมืองในนามของ "พรรคเปลี่ยน" มาวันนี้พี่น้องทนายตระกูล "มีขวด" ก็ยังออกมาโอบอุ้มโพสต์ช่วยเหลือประเด็นปํญหานายชูวิทย์ด้วย
ข้อความส่วนหนึ่งของนายเชาว์ มีขวด นั้น ราวกับว่านายชูวิทย์จะมีไพ่เด็ดในการต่อสู้คดี เพราะนายเชาว์ได้โพสต์ว่า“ที่สำคัญยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายชูวิทย์แต่เพียงผู้เดียวหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท สุขุมวิท ซิลเวอร์สตาร์ ที่มีนายชูวิทย์เป็นกรรมการ
“ถ้าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทสุขุมวิท ซิลเวอร์สตาร์ การอุทิศให้หรือยกให้เป็นสาธารณะประโยชน์ก็จะต้องให้กรรมการผู้มีอำนาจยินยอมด้วยจึงจะมีผลผูกพัน ผมว่าเรื่องนี้นายชูวิทย์รู้ดีแต่อุบไว้ให้พวกวิจารณ์เข้าทางตีน”
หลักฐานชัด “ชูวิทย์” มีอำนาจเต็มคนเดียว
ในความเป็นจริงแล้ว ในภาษากฎหมาย นายชูวิทย์เป็นตัวการในการทำนิติกรรมในนามบริษัทของตัวเองตลอด ด้วยข้อความแถลงการณ์ประกอบนายชูวิทย์เพื่อขอลดโทษต่อศาลฎีกา ในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 หลายจุดที่แสดงให้เห็นว่าบริษัท สุขุมวิทซิลเวอ์สตาร์ จำกัด มีนายชูวิทย์เป็นตัวการทั้งหมด เช่น
ในแถลงการณ์รับสารภาพในหน้าที่ 1 ระบุโดยนายชูวิทย์เอง "จำเลยที่ 129 ได้ซื้อที่ดินในนามบริษัทสุขุมวิทซิลเวอร์สตาร์ จำกัด"
นอกจากนี้ ยังมีข้อความในคำให้การของนายชูวิทย์ต่อศาลฎีกา หน้าที่ 2 ความว่า "จำเลยที่ 129 ได้พยายามเข้าเจรจากับร้านอาหารบาร์เบียร์ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยความอะลุ่มอล่วย และพร้อมชดใช้ค่าขนย้ายและค่าชดเชย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้"
และข้อความต่อมาพูดอีก "จำเลยที่ 129 จึงได้ทำการรื้อถอนสุขุมวิทสแควร์ ซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์กล่าวหาในคดีนี้"
และในคำให้การต่อศาลมีข้อความอีกในหน้าที่ 3 ตัวอย่างความว่า "ภายหลัง จำเลยที่ 129 ได้สำนึกผิดอย่างมาก จึงได้ล้มเลิกโครงการสุขุมวิท 10 ตามเจตนาเดิม"
และยังมีข้อความต่อว่า "จำเลยที่ 129 ได้นำเงินส่วนตัวมาลงทุนก่อสร้างสวนสาธารณะชื่อสวนชูวิทย์ ด้วยเงินลงทุนกว่าร้อยล้านบาท ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เรื่อยมา ตั้งแต่สร้างเสร็จจนถึงปัจจุบัน"
"ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ 129 ก็ยังให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สาธารณะจากสวนชูวิทย์และจะทำต่อไป"
ตัวอย่างข้อความคำให้การของนายชูวิทย์เอง เมื่อผนวกกับวันเปิดสวนชูวิทย์ที่มีการประกาศเป็นสัญญาต่อประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สวนสาธารณะแห่งนี้ โดยที่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการคนใดยื่นเรื่องคัดค้านในรายการการประชุมของบริษัทไว้เลย ย่อมแสดงว่านายชูวิทย์คือตัวการของบริษัทตามกฎหมาย ในการดำเนินการทุกอย่างแทนบริษัท สุขุมวิทซิลเวอร์สตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ยึดถือครองที่ดินผู้นี้อย่างชัดเจน
โดยเฉพาะการเอาเอกสารที่ดินของบริษัทไปยื่นต่อศาลฎีกาว่าได้สำนึกผิด นำที่ดินนี้มาเป็นสวนสาธารณะทั่วไป และจะทำต่อไป เพื่อเป็นสาเหตุในการลดโทษ ย่อมแสดงให้เห็นว่านายชูวิทย์เป็นตัวการในการกระทำแทนบริษัท สุขุมวิทซิลเวอร์สตาร์ จำกัด โดยปริยาย
ถ้าต้องการอาศัยอำนาจกรรมการจริง หรือต้องการอาศัยอำนาจผู้ถือหุ้นจริงในเรื่องใหญ่เหล่านี้ อย่างน้อยในปีถัดไปก็ต้องมีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นให้สัตยาบันย้อนหลังในสิ่งที่คุณชูวิทย์ได้กระทำไป หรือหากมีกรรมการคนใดไม่เห็นด้วย ก็ต้องคัดค้าน
ที่สำคัญ หนังสือรับรองของบริษัทแห่งนี้ พบว่า นิติกรรมของบริษัท สุขุมวิทซิลเวอร์สตาร์ จำกัด ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2545 - 20 กุมภาพันธ์ 2562 คือชื่อนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ มีอำนาจแต่ผู้เดียว
ซึ่งนิติกรรมที่สามารถทำโดยนายชูวิทย์เพียงคนเดียว กระทำไปในนามบริษัท สุขุมวิทซิลเวอร์สตาร์ จำกัด เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมในที่ดินแห่งนี้ ครอบคลุมนิติกรรมสำคัญในช่วงการก่อสร้างการเปิดสวนสาธารณะให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในวันที่ 24 ธันวาคม 2548
ครอบคลุมไปถึงคำให้การของคุณชูวิทย์ในการรับสารภาพ และยืนยันให้ใช้สวนสาธารณะต่อไป โดยไม่มีกำหนดเวลา ต่อศาลฎีกา ในวันที่ 15 และ 28 ตุลาคม 2558 และครอบคลุมถึงการยินยอมให้ประชาชนได้ใช้สวนสาธารณะในช่วง 12 ปี โดยปริยาย
ดังนั้น กิจกรรมที่ได้กระทำไป ย่อมกระทำโดยนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวในบริษัททั้งสิ้น และก็แสดงถึงการอุทิศที่ดินที่ผูกพันต่อบริษัทนี้อย่งางแน่นอน
“อรหันต์อนันตชัย” แถ “สวนชูวิทย์” เหมือนทางเดินส่วนบุคคล
ต่อมาวันจันทร์ที่ 3 เมษายน ทนายประจำตัวนายชูวิทย์ คือนายอนันต์ขัย ไชยเดช ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า นายชูวิทย์ไม่ได้ยกที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพียงแต่ให้ใช้ประโยชน์ชั่วคราว โดยอ้างว่า ตามเจตนารมณ์ของนายชูวิทย์ ไม่ได้ต้องการบริจาคให้เป็นที่ดินสาธารณะ เป็นความเห็นสอดคล้องกับทั้ง กทม. และผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีข้อมูลไม่ต่างกัน ถ้าจะฟ้องต้องผ่านด่านอรหันต์อนันต์ชัยเสียก่อน ใครจะพูดเสียงนกเสียงกา กทม. ไม่ควรบ้าจี้ ไม่ใช่บุคคลฟ้องได้ ระวังจะตกม้าตาย เชื่อว่า กทม. ฟ้องไม่ได้ ถ้า กทม. ฟ้อง ก็ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 พร้อมยกตัวอย่างทางเดินส่วนบุคคลยังยกให้คนเดินผ่านได้ มีป้ายบอกเป็นทางเดินส่วนบุคคล ต่อมาสามารถคิดค่าผ่านทางได้
นายสนธิ กล่าวว่า ประเด็นี้ประชาชนทั่วไปยังไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องนายชูวิทย์และพวกโดยตรงได้ ตนจึงได้ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต อัยการสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย และกำลังเตรียมทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฉบับที่ 2 เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายภายใน 30 วัน
“ตอนนี้ กทม. ได้ทำหนังสือให้ชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน แต่เมื่อไรคนเหล่านี้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผมจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ป.ป.ช. ฐานที่เจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ปลัด กทม.ลงไป รวมไปถึงคุณชัชชาติ
“ถึงแม้คุณชัชชาติจะพยายามตั้งกรรมการ กันตัวเองออกไป ให้สิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจของกรรมการ แต่คุณชัชชาติก็ต้องรับผิดชอบด้วยในฐานะที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมจะฟ้องไป ป.ป.ช. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หลังจากนั้นจึงมีผลบังคับต่อสภาพที่ดินที่พิพาทเอง”
นายสนธิ กล่าวอีกว่า ตนและทีมทนายความไม่เห็นด้วยกับนายอนันต์ชัยที่เปรียบเทียบกับที่ดินหรือทางเดินส่วนบุคคลให้ประชาชนเดินเข้า-ออก แล้วมาเก็บเงินภายหลัง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับกรณีที่ดินของนายชูวิทย์ เพราะ
ประการแรก ที่ดินของบุคคลทั่วไปที่เป็นทางผ่าน ที่มีการติดป้ายทางเดินส่วนบุคคล และอนุญาตให้ประชาชนผ่านด้วยการมีด่านเปิด-ปิด จะต่างกว่าที่ดินนายชูวิทย์ที่มีการกล่าวด้วยวาจาและบันทึกลายลักษณ์อักษร คำให้การต่อศาลฎีกาที่เป็นสวนสาธารณะ ไม่ใช่สวนส่วนบุคคล
ประการที่สอง ในการให้การต่อศาลฎีกา นายชูวิทย์ระบุคำให้การต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ว่าสวนสาธารณะแห่งนี้เป็นดังเช่นสวนสาธารณะทั่วไป เป็นปอดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสวนสาธารณะทั่วไป็ได้มีการเปิด-ปิดเป็นเวลาเช่นกัน การเปิด-ปิดเป็นเวลาไม่ได้เป็นเหตุอ้างว่าไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ประการที่สาม คำให้การของคุณชูวิทย์ยังระบุอีกด้วยว่า จะให้เป็นสวนสาธารณะต่อไปโดยไม่กำหนดเวลา คุณชูวิทย์ก็ได้ประโยชน์กลับมา โดยศาลฎีกาได้บรรเทาโทษจำคุก 5 ปี ให้เหลือ 2 ปี คือต่างตอบแทนกันเรียบร้อย
ประการที่สี่ นายอนันต์ชัยข่มขู่ข้าราชการว่า อย่าฟ้องยึดที่ดิน มิเช่นนั้นทนายอนันต์ชัยจะฟ้องกลับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างไรก็ตาม ถ้าข้าราชการถ้ามีหลักฐานเพียงพอ โดยเฉพาะคำให้การต่อศาลของนายชูวิทย์เอง เขาต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าเขาไม่ดำเนินการ เขาจะโดนฟ้องข้อหา 157
“ระหว่างเขาโดนผมฟ้อง 157 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กับคุณอนันต์ชัยฟ้องเขา 157 กรณีที่เขาปฏิบัติตามกฎหมาย คุณอนันต์ชัยใช้สติปัญญาธรรมดาคิดดูว่าเขาจะกลัว 157 ของผม หรือกลัว 157 ของคุณกันแน่ แน่นอนที่สุด เขาต้องกลัว 157 ของผม เพราะผมบังคับให้เขาทำตามกฎหมาย” นายสนธิกล่าว
นายสนธิ กล่าวอีกว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ทำหนังสือฉบับที่ 2 ออกไป ให้เวลาการปฏิบัติงานอีก 30 วัน ถ้าไม่คืบหน้าก็จะไปที่ ป.ป.ช. ทั้งข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความได้ร่างคำฟ้องต่อ ป.ป.ช. เตรียมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมหลักฐานเอกสารทุกอย่างเพื่อยืนยันว่าคำฟ้องของเรานั้นถูกต้อง ไม่ผิด และยึดถือกฎหมาย
ทั้งหมดนี้คนที่ต้องเสี่ยงเขาต้องชั่งน้ำหนักเทียบคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีต และรับความเสี่ยงว่าอันไหนจะเสี่ยงคุกมากกว่ากัน คดีเกี่ยวกับที่ดิน ข้าราชการ นักการเมือง ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พ่ายแพ้ติดคุกกันมาเยอะแล้ว ยิ่งมีการอ้างคำพิพากษาศาลฎีกานับสิบคดี เรื่องนี้จึงเดินหน้าก่อสร้างต่อไปยาก
“สุดท้ายครับ อย่างที่ผมพูดไว้ตอนแรก คุณอนันต์ชัยเป็นทนายความคุณชูวิทย์ จำเป็นต้องพูดให้คุณชูวิทย์มั่นใจ เพราะคุณชูวิทย์เป็นคนจ่ายเงินค่าทนายให้ เพื่อจะได้จ้างคุณอนันต์ชัยในอัตราค่าวิชาชีพที่ทนายอนันต์ชัยพอใจ โดยเฉพาะคดีที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงอย่างนี้ จะไม่มีทนายคนไหนที่ได้ค่าจ้างแพงๆ แบบนี้มาให้สัมภาษณ์ว่าไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ถึงขนาดอวดตัวเอง เรียกตัวเองว่าเป็นอรหันต์ ส่วนผมมีทนายความระดับมือพระกาฬที่ผมมั่นใจในฝีมือและมั่นใจในหลักฐานมากเช่นกันว่าคดีนี้สามารถทวงคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับคืนมาได้ในที่สุด สามารถจะเอาผิดกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ และข้าราชการที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วย
“คุณอนันต์ชัยครับ ผมขอเตือนคุณอีกครั้งนะว่า คุณชูวิทย์เขาไม่ใช่คนธรรมดา เขาผ่านทนายมาหลายคนแล้ว เขาใช้มาหลายต่อหลายทีมแล้ว ในแวดวงทนาย มีกิตติศัพท์เลื่องลือชื่อมาก แต่ผมมาคิดดูอีกที คุณทนายอนันต์ชัยครับ คุณเองก็ไม่ธรรมดา ถึงขนาดกล้าพูดว่าด่านอรหันต์อนันต์ชัย ผมว่ามันเป็นมวยถูกคู่แล้วล่ะครับระหว่างคุณ กับคุณชูวิทย์ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะออกหมัดและตีศอกก่อนเท่านั้นเอง
“แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เรื่องนี้ผมกับคุณชูวิทย์ ตลอดจนทนายแต่ละฝ่ายมั่นใจแค่ไหน หรือคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะเชื่อและเดินหน้าอย่างไร ไม่ใช่คนตัดสินครับ คนที่ตัดสินเรื่องนี้คือศาลเท่านั้นครับ ท่านผู้ชมครับ เรื่องมันต้องจบในศาล” นายสนธิกล่าว