“สนธิ” พิสูจน์ลงลึก 5 เหตุการณ์ “ชูวิทย์” มอบที่ดินปากซอย 10 ถ.สุขุมวิท เป็นสวนสาธารณะ สอดคล้องแนวคำพิพากษาศาลฎีกากว่า 10 คดี ที่ชี้ชัดที่ดินมอบเป็นธาณะสมบัติแล้วเอาคืนไม่ได้ คำให้การต่อศาลที่ “ชูวิทย์” เขียนเองยิ่งมัดแน่น เผยเตรียมยื่น ป.ป.ช.เอาผิด “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” หากยังยืนกรานจะอุ้มชูวิทย์
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้นำเสนอข้อมูลลงลึกเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินบริเวณปากซอยสุขุมวิท 10 ที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้ยื่นคำให้การต่อศาลฎีกาว่าจะเสียสละให้เป็นสวนสาธารณะ โดยได้เปิดเป็น “สวนชูวิทย์” ให้คนกรุงเทพฯ เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ จนเป็นเหตุบรรเทาโทษใน “คดีรื้อบาร์เบียร์” นั้น น่าจะเป็นที่ดินสาธารณะไปแล้ว แต่วันนี้บริษัทของครอบครัวนายชูวิทย์ได้มีการปิดเพื่อรื้อถอนสวนสาธารณะ และกำลังก่อสร้างอาคารสูง 51 ชั้นแทน
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” เมื่อสัปดาห์ ก่อนได้นำเสนอคำพิพากษาศาลฎีกา 10 ฉบับ กรณีการอุทิศที่ดินเป็นสวนสาธารณะ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สรุปความสั้น ๆ ได้ว่า การอุทิศที่ดินเอกชนให้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายและตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้น “ให้แล้วให้เลย” เพียงแค่แสดงเจตจำนงเท่านั้น ก็มีผลทันที โดยไม่ต้องรอการโอนเสร็จสิ้นเสียก่อน และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อ่าน “ชูวิทย์” ดูไว้ เปิด 10 คำพิพากษาฎีกา มอบที่ดินให้สาธารณะแล้วชักคืนได้หรือไม่)
เมื่ออ้างอิงจากเนื้อหาคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ที่ดินของนายชูวิทย์จึงน่าจะกลายเป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ไปแล้ว แม้นายชูวิทย์จะยังคงอ้างว่าชื่อในโฉนดยังเป็นของตน ตนซื้อมาด้วยเงิน 500 ล้านบาท ยังจ่ายภาษีที่ดินให้กรุงเทพมหานครทุกปี ก็ตามแต่
เปิดข้อกฎหมายอุทิศที่ดินเอกชนเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
มีคำ 2 คำ ที่นายชูวิทย์ที่ได้พูดต่างกรรมต่างวาระในเรื่อง “สวนชูวิทย์” นั่นคือคำว่า “เสียสละ” และ “สวนสาธารณะ” ซึ่งความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตนั้น “เสียสละ” หมายถึง “ให้โดยยินยอม หรือ ให้ด้วยความเต็มใจ” ส่วนคำว่า “สวนสาธารณะ” หมายถึง “สวนเพื่อประชาชนทั่วไป”
ดังนั้นคำว่า “เสียสละที่ดินเพื่อเป็นใช้เป็นสวนสาธารณะ” จึงแปลความได้ว่า “การยินยอมให้ที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์เป็นสวนเพื่อประชาชนทั่วไป”
ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (2) บัญญัติเกี่ยวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยพิจารณาว่าทรัพย์สินชนิดนั้นมีการใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ และ “พลเมืองใช้ร่วมกัน” หรือไม่
ซึ่งแน่นอนว่า “สวนสาธารณะ” ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ไม่ต่างจากชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ดังนั้นทรัพย์สินใดถ้ามีการใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน หรือพลเมืองใช้ร่วมกันเมื่อไหร่ ย่อมต้องเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
นี่คือเหตุผลว่าทำไมคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ดิน จึงตัดสินว่า ในการอุทิศที่ดินเพื่อเป็นสาธารณสมบัตินั้น ไม่ว่าจะด้วยวาจาที่ให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ โดยยินยอมโดยพฤติการณ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินแห่งนั้นไม่ว่าเดิมจะเป็นกรรมสิทธิ์ของใครก็ตามย่อมเป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ทันที
ไม่ต้องรอการโอน หรือรอการจดทะเบียนโอน และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงย้อนกลับไปได้อีก
เปิดไทม์ไลน์ “ที่ดินชูวิทย์” กลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตอนไหน?
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน นายชูวิทย์ได้ซื้อที่ดินจากบริษัทไฟแนนซ์ ทิสโก้ บริเวณติดถนนสุขุมวิทซอย 10 และขับไล่ผู้ที่ทำบาร์เบียร์อย่างอุกอาจมาก เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2546 มีการนำชายฉกรรจ์นับร้อยคนพร้อมรถแบ็กโฮรื้อบาร์เบียร์จำนวน 60 ร้านในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองหลวง
ต่อมาตำรวจดำเนินคดี อัยการส่งฟ้องศาลอาญากรุงเทพใต้ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกในเวลากลางคืน และกักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขืนใจให้บุคคลปราศจากเสรีภาพ
นับตั้งแต่มีการดำเนินคดี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็ได้ปรับที่ดินตรงนั้นมาเป็น “สวนสาธารณะ”ให้ประชาชนได้ใช้ฟรี เพื่อปรับภาพลักษณ์ตัวเองประการหนึ่ง และใช้ประโยชน์ในการบรรเทาโทษต่อศาลฎีกาด้วยเป็นอีกประการหนึ่ง
ถ้าหากดูภาพแผนภาพ Timeline ข้อความสี่เหลี่ยมสีแดง คือ ไทม์ไลน์จุดสำคัญที่พิสูจน์ได้ว่าที่ดินแห่งนี้ ได้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปตั้งแต่ วันที่ 24 ธันวาคม 2548 หรือเมื่อ 18 ปี มาแล้ว!
สรุป 5 เหตุการณ์ “ชูวิทย์” อ้างยกที่ดินให้สาธารณะ
หากกล่าวโดยสรุปแล้วมีเหตุการณ์มากถึง 5 เหตุการณ์ ที่นายชูวิทย์ได้พูดถึงการเสียสละที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะ ทั้งโดยวาจา คำให้การต่อศาลฎีกา บทความที่เผยแพร่สาธารณะ และโดยพฤติการณ์ ดังนี้
เหตุการณ์ที่ 1 โดยวาจา - ในวันเปิด “สวนชูวิทย์” เมื่อ วันที่ 24 ธันวาคม 2548 นายชูวิทย์ระบุชัดเจนว่าได้เสียสละที่ดินให้ใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะ เพื่อเป็นปอดของ กทม. และให้ประชาชนสามารถใช้ได้ฟรี โดยไม่ได้มีการระบุระยะเวลาด้วย
นายชูวิทย์ได้ระบุความตอนหนึ่งที่บันทึกปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่ต่อสาธาณะไปทั่วว่า
“ยืนยันว่าที่ดินตรงนี้เป็นของผมและตระกูลกมลวิศิษฏ์ แต่ขอเสียสละให้เป็นสวนของ กทม. ผมเคยบอกจะสร้างสวนสาธารณะให้เป็นปอดของ กทม. ต้องการให้เป็นตัวอย่างกับคนที่มีเงินเป็นแสน ๆ ล้านบาท ว่าตายไป เอาอะไรไปไม่ได้ เหรียญบาทเงินปากผี สัปเหร่อยังเอาไปเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยวางแผนจะใช้พื้นที่นี้สร้างโรงแรมระดับสี่ดาว และจ่ายค่าออกแบบไปแล้ว 30 ล้านบาท แต่ก็ยกเลิกโครงการไปแล้ว”
ข้างต้น เป็นคำปราศรัยแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนมากว่าเป็นการเสียสละที่ดินโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเวลา ถึงกับบอกว่าทรัพย์สินตายไปเอาอะไรไปไม่ได้
“ผมยังเก็บคลิปเสียงคุณชูวิทย์เมื่อเกือบ 17 ปีที่แล้วไว้ด้วย ถ้าคุณจำไม่ได้ หรือปฏิเสธว่าไม่ได้พูด ผมจะเอาไปเปิดในศาลเมื่อเรื่องนี้ถึงศาล”นายสนธิกล่าว
การเสียสละที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะแม้จะด้วยวาจาแต่ก็จะมีผลทันที เหตุการณ์นี้เทียบเคียงได้กับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2555 ที่ระบุว่า การอุทิศด้วยวาจามีผลตามกฎหมายสมบูรณ์ และการอุทิศที่ดินมีผลทันทีโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อีกตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4377/2559
เหตุการณ์ที่ 2 โดยคำให้การต่อศาลฎีกาของนายชูวิทย์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 โดยเปลี่ยนคำให้การมารับสารภาพ แล้วอ้างเรื่อง “ที่ดิน” ซึ่งเป็น “ที่ดินพิพาท” ว่า ได้ดำเนินการให้เป็นสวนสาธารณะทั่วไป ยกเลิกโครงการก่อสร้างอาคารสูง และจะทำต่อไป เพื่อแสดงความสำนึกผิด (ซึ่งแปลว่าไม่ได้กำหนดระยะเวลา)
การยื่นเอกสารครั้งนั้นทำให้ศาลฎีกาเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นไปอีก 3 เดือนเศษ คือ วันที่ 28 มกราคม 2559
นายสนธิได้แสดงเอกสารสำคัญ เป็น “คำให้การรรับสารภาพของนายชูวิทย์” ที่ยื่นต่อศาลฎีกา เป็นเอกสารประกอบสำนวนคำพิพากษาที่มีเป็นร้อย ๆ กล่อง มีเพียงรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ที่เดียวที่ได้มา แม้แต่กรุงเทพมหานครก็ยังไม่มี
เอกสารนี้ มีคำรับสารภาพที่มีรายละเอียด และใจความที่สำคัญอยู่ ระบุว่า
“ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 129 (คือนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์) ก็ได้สำนึกผิดอย่างมากจึงได้ล้มเลิกโครงการสุขุมวิท 10 ตามเจตนาเดิมซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นหาก สามารถทำได้สำเร็จก็จะทำให้จำเลยที่ 129 ได้รับรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
“แต่จำเลยที่ 129 รู้สำนึกอย่างแท้จริงทั้งที่บาร์เบียร์ตามแผนเดิมทั้งหลายถูกหรือถอนเป็นพื้นที่ว่างเปล่าแล้ว และสามารถก่อสร้างโครงการสุขุมวิท 10 ได้โดยทันที
“แต่จำเลยที่ 129 ก็ไม่ทำโครงการต่อ โดยยอมทิ้งผลประโยชน์มูลค่ากว่า 1,000 ล้าน และยังได้นำเงินส่วนตัวมาลงทุนก่อสร้างสวนสาธารณะชื่อสวนชูวิทย์ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทโดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ดังเช่นสวนสาธารณะทั่วไปและเป็นปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร
“ซึ่งประชาชนก็ได้ใช้ประโยชน์เรื่อยมาตั้งแต่สร้างเสร็จจนถึงปัจจุบันแล้วการดูแลรักษาสวนชูวิทย์ดังกล่าวแต่ละเดือนโดยรวมประมาณปีละ 828,000 บาทตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันปี 2558 รวมระยะเวลา 10 ปีเป็นเงินประมาณ 8,280,000 บาทโดยไม่มีรายได้แม้แต่น้อยเป็นการชดเชยและแสดงถึงความสำนึกในการกระทำความผิดบนที่ดินแปลงดังกล่าวอย่างแท้จริง
“ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ 129 ก็ยังให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สาธารณะจากสวนชูวิทย์ และจะทำต่อไปเพื่อแสดงความสำนึกผิดในการกระทำของตนเองที่กระทำต่อผู้อื่นและละเมิดกฎหมายของรัฐ ... ”
คำให้การนี้นายชูวิทย์เขียนเอง ก็แสดงว่าเป็นการเสียสละไม่ทำโครงการต่อยอมทิ้งผลประโยชน์ แบบไม่กำหนดระยะเวลา
และยังก่อสร้างสวนชูวิทย์เป็น “สวนสาธารณะทั่วไป” และเป็น “ปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร”คำ 2 คำนี้ แสดงให้เห็นการให้ใช้ประโยชน์สาธารณะชัดเจน จึงเป็นการยกที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว
คำให้การนี้ยังยืนยันด้วยจะทำ “ต่อไป” จึงเท่ากับไม่ได้กำหนดระยะเวลาด้วยเช่นกัน และไม่ได้เป็นอย่างที่นายชูวิทย์อ้างว่ายื่นต่อศาลว่าจะให้เป็นสวนสาธารณะแค่ 12 ปี ซึ่งเป็นคำโกหก
เพราะในข้อเท็จจริงก็คือ นายชูวิทย์พอถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก แต่ให้ลดโทษจากจำคุก 5 ปี เหลือ 2 ปี เมื่อ วันที่ 28 มกราคม 2559 ก็ติดคุกจริงไม่ถึงปี ได้ออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559
พอได้รับอิสรภาพ นายชูวิทย์ก็ออกลายทันที ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว หลังออกจากเรือนจำ ก็ดำเนินการ “ปิดสวนชูวิทย์” ในวันที่ 30 ธันวาคม 2560
ทั้งนี้ แม้นายชูวิทย์จะปิดสวนไปและพยายามเอาที่ไปทำธุรกิจต่อ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินของตัวเอง แต่คำให้การในการอุทิศที่ดินต่อศาลฎีกาได้มีบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจน จึงมีผลตามกฎหมายโดยสมบูรณ์อีกเช่นกัน และการอุทิศที่ดินเป็นที่สาธารณะไม่อาจสูญสิ้นไป
เหตุการณ์ที่ 3 อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19662-19664/2557 ระบุ วันที่ 29ธันวาคม 2558 ภายหลังจากคุณชูวิทย์ ได้ยื่นคำให้การใหม่ต่อศาล เป็น รับสารภาพ ได้เยียวยาผู้เสียหายแล้ว และ ได้นำที่ดินเป็นสวนสาธารณะโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา
ศาลได้บันทึกในคำพิพากษาเหตุในการลดโทษจาก 5 ปี เหลือ 2 ปี ไม่ใช่เพราะเป็นคำให้การใหม่มารับสารภาพในชั้นศาลฎีกา แต่มาจากการได้เยียวยาผู้เสียหายไปจำนวนหนึ่งแล้ว กับเหตุผลเพราะมีการนำที่ดินมาเป็นสวนสาธารณะ โดยศาลฎีกาได้พิพากษาในการลดโทษอันมีเหตุมาจากที่ดินที่ยื่นคำให้การ ดังนี้
“นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 129 นำที่ดินพิพาทมาก่อสร้างเป็น สวนสาธารณะ ให้ประชาชนใช้พักผ่อน ไม่ได้นำที่ดินพิพาทไปก่อสร้างศูนย์การค้าย้อนยุคเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตามที่ตั้งใจไว้ ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายและรายได้จำนวนมาก บ่งบอกว่าจำเลยที่ 129 และฝ่ายจำเลยรู้สำนึกผิดที่ได้กระทำไป
“ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ร่วมกันกระทำผิดโดยจำคุกคนละ 5 ปีนั้น จึงหนักเกินไป เห็นควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”
หลังจากยื่นคำให้การไปแล้ว วันที่ 28 ตุลาคม 2558 นายชูวิทย์ยังได้ยื่นเอกสารท้ายคำแถลงเพิ่มเติม เต็มไปด้วยแผนที่ภาพถ่าย ของสวนสาธารณะ
เพราะฉะนั้น การที่ศาลฎีกาลดโทษจากศาลอุทธรณ์ส่วนหนึ่งจึงมาจากการนำที่ดินซึ่งพิพาทมาก่อสร้างเป็น “สวนสาธารณะ” ในคำพิพากษาศาลฎีกา โดยระบุว่าในคำให้การของคุณชูวิทย์ว่าเป็น “สวนสาธารณะทั่วไป” ย่อมมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเนื่องจากคำให้การในการยื่นเรื่องที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลา จึงย่อมเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาคืนได้
เหตุการณ์ที่ 4 - บทความเผยแพร่สาธารณะ เขียนโดยนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์เอง โดยภายหลังจากที่นายชูวิทย์ ติดคุกตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2559 ก็ได้เลื่อนชั้นนักโทษ ได้รับการลดโทษและพระราชทานอภัยโทษตามลำดับ จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อ วันที่ 17 ธันวาคม 2559 พ้นโทษมาไม่ถึง 1 เดือนก็มาเขียนบทความใน มติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2560 ในหัวข้อเรื่อง บทความพิเศษ : เรียนรู้คุก(1)
ในบทความนั้น นายชูวิทย์ระบุถึงเหตุที่ได้ลดโทษเพราะการนำที่ดินมาเป็นสวนสาธารณะว่า
“แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาตัดสินจำคุก 5 ปี คำรับสารภาพของผมแม้ว่าศาลฎีกาจะไม่รับพิจารณา แต่ก็ได้ลดโทษจาก 5 ปี เหลือ 2 ปี เหตุเพราะผมสำนึกผิด
“และได้พยายามเยียวยาโดยนำเอาที่ดินมูลค่ามหาศาลทำเป็นสวนสาธารณะปลูกต้นไม้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางตึกสูงระฟ้า ทั้งโรงแรม สำนักงานล้อมรอบแทนที่จะนำที่ดินมาทำประโยชน์หาผลตอบแทนทางธุรกิจ”
แต่หลังจากพ้นโทษมาแล้วนายชูวิทย์ก็ได้เขียนบทความอ้างเองว่าที่ผ่านมาให้ชั่วคราวและจะเอาที่ดินคืนความตอนหนึ่งว่า
“ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ซื้อที่ดินแปลงนี้มา เมื่อมีปัญหาเป็นคดีความผมจึงนำที่ดินมาเป็นปอดให้กับคนกรุงเทพฯ
“แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาชั่วคราวเพราะในอนาคตนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะนำไปทำประโยชน์อันใด ถือเป็นเรื่องอนาคต เพราะเป็นที่ดินของผม”
จุดนี้ นายชูวิทย์เข้าใจผิดแล้ว การให้ที่ดินเพื่อเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้พลเมืองได้ใช้ประโยชน์ เป็นสาธารณสมบัติทันทีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลับมาตามความเข้าใจไปเองของนายชูวิทย์ได้
เหตุการณ์ที่ 5 พฤติการณ์นายชูวิทย์ที่ให้ประชาชนได้ใช้เป็นสวนสาธารณะเป็นเวลา12 ปี จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยาย
ทั้งนี้ “สวนชูวิทย์” ได้เปิดให้ประชาชนใช้เป็นสวนสาธารณะของพลเมืองร่วมกันตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2548 และได้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2560 แม้ไม่มีโดยวาจาการใช้ประโยชน์ยาวนานขนาดนั้นย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยาย
ดังปรากฏอ้างอิงได้ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 6067/2552 และ เลขที่ 2526/2540 ซึ่งระบุว่า การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อาจกระทำโดยปริยาย ก็ได้ เช่น ยินยอมให้ประชาชนใช้สอยโดยไม่หวงห้าม
การให้พลเมืองได้ใช้ที่ดินเอกชนเป็นสวนสาธารณะ ตามวาจาที่นายชูวิทย์เคยให้ไว้จึงไม่สามารถย้อนกลับมาได้แล้ว
และเมื่อนายชูวิทย์ปิดสวนสาธารณะไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2560 ก็ไม่มีพลเมืองหรือประชาชนเข้าไปได้ใช้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหายไป
เพราะเมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 2004/2544 นั้นชี้ชัดว่า การอุทิศที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่อาจสูญสิ้นไปเพราะการไม่ได้ใช้ แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมิได้ใช้ทางพิพาทตามวัตถุประสงค์ก็ตาม
และข้อสำคัญกว่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 11089/2556 ชี้ชัดว่า ผู้อุทิศที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้วจะขอยกเลิกการอุทิศที่ดิน ไม่ได้
รื้อสวนสาธารณะสร้างตึกใหม่ระวังสร้างคดีใหม่
นายสนธิให้ข้อเตือนใจทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการรื้อสวนสาธารณะ แล้วสร้างอาคารใหม่มิกซ์ยูส 51 ชั้นที่ชื่อ เทนธ์ อเวนิว (Tenth Avenue) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกมารับประกันอุ้มนายชูวิทย์ โดยไม่ดูเรื่องความผูกพันของข้อกฎหมายทั้งปวง
ทั้งนี้ การรื้อ “สวนชูวิทย์” นั้น ต้องพิจารณาว่า
ประการที่หนึ่ง เป็นบุกรุกสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่
ประการที่สอง เป็นการทำลายสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่
ประการที่สาม ออกใบอนุญาตก่อสร้างได้อย่างไร ถ้าจะอ้างว่าไม่ทราบเรื่องสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนหน้านั้น แต่เมื่อรับทราบถึงปัญหาว่าสวนสาธารณะแห่งนี้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินแล้ว จะเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ และจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
“ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ ท่านผู้อำนวยการเขตครับ ท่านใจเย็นๆ เรื่องของท่านถึง ป.ป.ช. แน่นอน แล้วหลักฐานที่ผมมีอยู่นั้นจะส่งมอบให้ ป.ป.ช. ด้วย ท่านผู้ว่าฯ ครับ พูดตรงๆ นะ ท่านรอดยากงานนี้ ถ้าท่านยังออกมาปกป้องคุณชูวิทย์อยู่เหมือนเดิม เหมือนกับท่านมีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง” นายสนธิกล่าว
ประการที่สี่ ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือผู้สนับสนุนทางการเงิน เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือกระทำการในการทำลายสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่
“ผมฝากข้อคิดไว้ตรงนี้ดีกว่า คนที่ตัดสินเรื่องนี้ไม่ใช่ผม ไม่ใช่คุณชูวิทย์ ไม่ใช่ผู้ชม ไม่ใช่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ เรื่องนี้จะต้องมีการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และพิจารณาใหม่โดยศาลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 264/2555 ที่ระบุว่า ผู้อุทิศที่ดินไปแล้วกลับมาครอบครองที่ดินอีกครั้ง แม้จะครอบครองนานเพียงใด ก็ไม่ทำให้ที่ดินนี้กลับมาเป็นของคุณชูวิทย์อีก จะยกเอาอายุความต่อสู้กับแผ่นดินก็ไม่ได้
“แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือใครก็ตาม ออกมาค้ำประกันคุณชูวิทย์ คุณชัชชาติครับ คุณรับความเสี่ยงคดีอาญา ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ กันเอาเองอย่างแน่นอน คุณโดนแน่ คุณชัชชาติ ไม่ต้องห่วง ความฝันที่คุณจะพ้นจากผู้ว่าฯ กทม. แล้วคุณจะเดินหน้าทางการเมืองให้ใหญ่ไปกว่านั้น น่าจะมืดมนล่ะ” นายสนธิกล่าว
นายสนธิ กล่าวอีกว่า ที่ต้องเตือนในวันนี้เพราะได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการเขตคลองเตยม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ อัยการสูงสุด ซึ่งหากมีใครละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะดำเนินคดีหมดและจะเอาให้ถึงที่สุด
เตือน “ชัชชาติ” ให้สัมภาษณ์มั่วซั่ว เสี่ยงติดคุก
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 ว่า
“ได้รับรายงานเมื่อช่วงเช้าจากนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. พบว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้ยกให้เป็นที่สาธารณะ และ กทม.ไม่ได้มีส่วนร่วมเข้าไปปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นที่ดินเอกชน มีการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อเนื่องตามกฎหมาย ซึ่งมีการจ่ายภาษีแล้วกว่า 3 ล้านบาท”
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า การยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะ เข้าใจว่าเกิดขึ้นจากคำให้การในชั้นศาลฎีกา จึงได้มอบหมายให้ปลัด กทม.ทำหนังสือขอคัดคำพิพากษาหรือคำให้การในชั้นศาลว่ามีปฏิบัติทางกฎหมายอย่างไร ข้อมูลที่แสดงเจตจำนงทั้งถ้อยแถลงและเจตนา ซึ่งทางศาลไม่ได้แจ้งข้อมูลส่วนนี้
และทางสำนักการโยธาได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของโครงการก่อสร้าง เตือนถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้น หากดำเนินก่อสร้างต่อแล้วเกิดปัญหาภายหลัง ต้องรับความเสี่ยงและรับผิดชอบเอง โดย กทม.ไม่ได้สั่งให้ยุติการก่อสร้าง เพราะไม่มีข้อกฎหมายให้ดำเนินการ
นายสนธิกล่าวว่า นายชัชชาติคงไม่ได้อ่าน หรือ ให้คนไปศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกานับ 10 คดีว่า การให้เป็นที่ดินสาธารณะ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกา แต่เกิดขึ้นจากการพูดโดยวาจาในวันเปิดสวนชูวิทย์, โดยคำให้การในศาล, โดยบันทึกในคำพิพากษาศาลฎีกา, โดยพฤติการณ์ที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้สวนสาธารณะนานถึง 12 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
“ผมว่าหลังจากนี้ ถ้าคุณชัชชาติยังยืนยันตามคำพูดท่าน ซึ่งผมส่งหนังสือร้องเรียนไปแล้ว คุณชัชชาติจะต้องถูกดำเนินคดีตามมาแน่นอน เพราะถ้าไม่มีใครทำ ผมจะทำเอง ร่วมกับอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผมจะดำเนินคดีความคุณชัชชาติ และคุณชูวิทย์ ผู้ถูกร้อง ไปพร้อมกับ ป.ป.ช. แล้วมาดูกันว่า ป.ป.ช. จะจัดการกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เขาจะดำเนินการกับพวกคุณสองคนได้อย่างไร” นายสนธิกล่าว
รู้ทัน “ชูวิทย์” บิดเบือนอ้างที่ดินนำมาใช้เพื่อลดโทษไม่ได้ และภาษีที่ดินแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ในช่วงที่ผ่านมา นายชูวิทย์ได้แถลงข่าวว่า มีใครมีที่ดินแล้วเอามาลดโทษได้บ้าง ?
แสดงว่านายชูวิทย์ ไม่น่าจะได้อ่านคำพิพากษาหรืออย่างไร ผู้พิพากษาระบุว่าสาเหตุในการบรรเทาโทษให้นายชูวิทย์ เพราะเป็น “ที่ดินพิพาท” ที่มีปัญหาแล้วมาทำสวนสาธารณะไม่ใช่ “ที่ดินทั่วไป” เพื่อแสดงความสำนึกผิดต่อคดีที่เกิดขึ้นจริง ๆ นายชูวิทย์ควรเลิกบิดเบือนเรื่องนี้ได้แล้ว
เรื่องถัดมา นายชูวิทย์บอกว่าชื่อในโฉนดเป็นของนายชูวิทย์ หรือบริษัทครอบครัวของนายชูวิทย์ จ่ายภาษีที่ดินเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์อยู่ นายชูวิทย์คงลืมไปว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะนายชูวิทย์ยังไม่ได้จดทะเบียนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐทางเอกสารเท่านั้น แต่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วมิอาจลบล้างความเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้แต่อย่างใด
“คุณชูวิทย์ครับ การที่คุณบอกจะยกที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะ แต่กลับมีพฤติกรรมชักเข้าชักออก วันหนึ่งพูดอย่าง อีกวันพูดอีกอย่าง วันหนึ่งเขียนคำให้การศาลอย่างหนึ่ง อีกวันหนึ่งกลับมารับสารภาพแล้วบอกจะยกที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะ ระบุด้วยว่า จะทำต่อไป
“แต่พอคุณได้ลดโทษจาก 5 ปี เหลือ 2 ปี ติดคุกไม่กี่ปีคุณก็เปลี่ยนใจแล้ว ออกมาแค่ปีเดียวก็ปิดสวนสาธารณะ เข้ายึดที่ดินที่ตัวเองบอกจะยกให้เป็นสวนสาธารณะ ทำให้ตัวเองได้รับการลดโทษแล้ว กลับไปทำโครงการของตัวเอง อ้างว่าเป็นของผม เป็นของผม เป็นของผม ผมซื้อมา ผมจ่ายภาษีแล้ว”
นายสนธิตั้งคำถามว่า การกระทำของนายชูวิทย์เช่นนี้เข้าข่ายเป็นการโกหกศาลหรือไม่? เพราะนายชูวิทย์ยื่นคำร้องให้ศาล แล้วกลับทำอีกแบบหนึ่ง
“โกหกศาลหรือเปล่า? ผมแค่ถามนะ ผมไม่ได้หาเรื่องอะไรคุณ แล้วถ้าต่อไปในอนาคตมีคนทำอย่างคุณชูวิทย์อีก เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาลดโทษ ศาลจะพิจารณาอย่างไร” นายสนธิกล่าว