xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายความเล็งจัดการทนายหิวแสง ยกข้อบังคับห้ามตั้งโต๊ะแถลงข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาทนายความถกองค์กรวิชาชีพสื่อ ยืนยันว่ากำลังจะจัดการทนายหิวแสง ยอมรับคดีมรรยาททนายความค้างเติ่ง บางเคสยาวกว่า 10 ปี ชงกรอบเวลาร้องเรียนไม่เกิน 1 ปี ด้าน ปธ.กรรมการมรรยาทฯ ชี้แถลงข่าวขัดข้อบังคับห้ามประกาศโฆษณา ส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อชงจัดทำบัญชีทนายความเฉพาะด้าน และเรียนรู้มรรยาททนายความ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “สิ่งที่สื่อมวลชนควรทราบ เกี่ยวกับมรรยาททนาย” โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธงสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรเสวนา

ดร.วิเชียรกล่าวว่า แม้จะเข้าใจบริบทสื่อที่ต้องทำกำไรและเรตติ้ง แต่สื่อต้องระวัง และรู้ทันมรรยาททนายความเพื่อป้องกันตัวเอง เท่าที่ได้รับฟังรายงาน มีผู้ประกอบวิชาชีพทนายความและผู้อ้างว่าเป็นทนายความ ทำให้เส้นแบ่งอาชีพทนายความกับผู้มีอิทธิพลทางความคิดหมิ่นเหม่มรรยาททนาย กระทบจริยธรรมสื่อ ซึ่งสภาทนายความมีคณะกรรมการสองชุด คือ 1. คณะกรรมการบริหาร และ 2. คณะกรรมการมรรยาททนายความ ซึ่งมีหน้าที่จัดเลือกตั้งกรรมการบริหารและควบคุมมรรยาททนายความ

ทั้งนี้ คดีมรรยาททนายความต้องมีผู้ร้องมาที่คณะกรรมการมรรยาททนายความ โดยต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหาย ทนายความ หรือความปรากฏ จะถูกหยิบยกเป็นคดีมรรยาททนาย ซึ่งตามกฎหมายมรรยาททนายความ ปี 2529 ซึ่งเป็นกฎหมายลูกบัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ.ทนายความ ปี 2528 บทลงโทษจะมี 3 สถาน กรณีเบาสุด คือ ภาคทัณฑ์ ถัดมาคือ ห้ามการเป็นทนายความ 3 ปี และหนักสุด คือลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ หากจะกลับมาต้องผ่านกระบวนการสอบสวนหลังผ่านไป 5 ปี สามารถยื่นขอกลับมาได้แต่โอกาสน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่คณะกรรมการฯ ที่ผ่านมามีทนายความโดนลบชื่อออกไปเยอะพอสมควร และมีทุกเดือน มีเยอะมาก แต่ที่กลับเข้ามาได้มีส่วนน้อย

"ขณะนี้กำลังจะมีการแก้ไขข้อบังคับการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ เพราะพบว่าหลังกรรมการรับเรื่องไป ไม่มีกรอบระยะเวลา บางเรื่องใช้เวลานานเกิน 10 ปี เราต้องแก้ข้อบังคับ กำหนดกรอบระยะเวลาไม่ควรเกิน 1 ปี แต่เห็นต่างอย่างไรต้องไปว่ากันที่ศาลปกครอง เพราะคนที่ร้องเขารอกระบวนการที่มีข้อจำกัด ทำให้เขาเสียโอกาสจากการใช้เวลานานในการพิจารณา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรอบระยะเวลาให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดและจะออกเป็นนโยบาย คือถึงเวลาการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนรับคดีมรรยาทได้แล้ว เพื่อลดปริมาณคดีลงไป ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย สามารถชี้แจงคู่กรณีและสังคมได้" ดร.วิเชียรกล่าว

ส่วนประเด็นของทนายอาสาที่มีทนายความบางคนอ้างตัวว่าเป็นทนายอาสาเพื่อช่วยเหลือคดีแก่ประชาชนนั้น นายกสภาทนายความอธิบายว่า ทนายอาสาของสภาทนายความมีทั่วประเทศ 6,400 คน แต่ทนายความอาสาต้องผ่านการอบรมจากสภาทนายความ หากไปตั้งเองอาจจะหมิ่นเหม่มรรยาททนายความ เพราะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาทนายความ ใครจะไปอ้างเป็นทนายอาสา โดยไม่ได้ผ่านการอบรมโดยสภาทนายความ มีความหมิ่นเหม่ ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปทำ ต้องมีคนร้อง มีผู้เสียหาย หรือความปรากฏในการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการ

ด้านนายชวรงค์กล่าวว่า สภาทนายความ กับองค์กรวิชาชีพสื่อมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งการช่วยเหลือคดีเมื่อสื่อโดนละเมิด ฟ้องร้องดำเนินคดี และยังหารือเกี่ยวกับปัญหาของทนายความ หรือคนอ้างตัวเป็นทนายความ ใช้พื้นที่สื่อโฆษณาตัวเองทำให้สังคมสับสน เช่น มีการรับจ้างแถลงข่าว ทำให้สงสัยว่าถูกต้องตามมรรยาทของทนายความหรือไม่ เมื่อสื่อเข้าใจก็จะได้นำความคิดเห็นไปทำข่าวได้อย่างถูกต้อง ถ้าจะแก้ปัญหานี้ สภาการสื่อมวลชน องค์กรสื่อ จะเสนอแนะไปยังสภาทนายความ จัดทำบัญชีทนายความในการทำคดีประเภทต่างๆ เพื่อให้สื่อติดต่อ ขอความเห็น แทนที่จะติดต่อกับคนที่อ้างว่าเป็นทนายความ เพราะหากสื่อนำความเห็นทนายความ หรือคนอ้างเป็นทนายความ อาจหมิ่นเหม่การละเมิดจริยธรรมสื่อ

ส่วนนายมงคลกล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ มีหน้าที่การปกป้องเสรีภาพของสื่อ และสื่อต้องใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ แต่ขณะเดียวกันสื่อและสังคมต้องรู้ว่าใครคือสื่อมวลชน แน่นอนว่าใครอยากเป็นสื่อมวลชนเป็นได้ แต่อาจจะมีส่วนช่วยทำร้ายสังคมหากไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้น ใครที่อยากเป็นสื่ออยากให้ตระหนักจริยธรรมสื่อ และมาเรียนรู้มรรยาททนายความ เพื่อไม่เผลอไปสร้างดาวเด่นแต่ทำลายสังคม

นายเกษม สรศักดิ์เกษม ประธานกรรมการมรรยาททนายความ กล่าวว่า คดีมรรยาททนายความ ผู้ได้รับความเสียหายจากเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นประชาชน ส่วนทนายความทะเลาะกันเองมีน้อย ซึ่งประชาชนสามารถมาร้องเรียนต่อประธานกรรมการมรรยาทได้โดยตรง ทั้งนี้ ข้อบังคับสภาทนายความ 2529 ข้อ 17 ระบุว่า ห้ามประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใดๆ เช่น ทนายความแถลงข่าว เอาเรื่องข้อมูลในคดีมาแถลงข่าวด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม แต่ทนายความก็มีที่อยากโตเร็ว อยากมีชื่อเสียง ดังนั้น การรับเป็นทนายความไม่มีเหตุใดเลยต้องนั่งแถลงข่าว การว่าความต้องไปศาล ต้องสู้กันในศาล ต้องตั้งคำถามว่าการแถลงข่าวเพื่อชื่อเสียงหรือไม่

"อยากดังหรือเป็นยาจกก็ห้ามแถลง แต่ห้ามนำเรื่องในคดีลึกๆ มาเล่าให้คนฟัง การนั่งแถลงแบบนั้น เพื่ออวดศักดา อวดฝีมือ แสดงว่ามีค่าตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เรียกค่าทนายได้ แบบนี้้เป็นเจตนาไม่ค่อยดี ถ้าเป็นทนายมีความประพฤติดีควรหลีกเลี่ยงตรงนี้ กรณีสื่อได้รับเชิญจากทนายไปแถลงข่าว แนะนำว่าสื่ออย่าไป ปิดประตูตรงนี้เพราะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเลย เพราะเป็นเรื่องของคู่กรณีที่มีได้มีเสียกัน ถ้าสื่อไม่ไปก็จะไม่เกิดปัญหา" นายเกษม กล่าว

ส่วนกระบวนการพิจารณาคดีมรรยาทที่ล่าช้านั้น ประธานกรรมการมรรยาททนาย ยอมรับว่ากระบวนการช้ามากบางคดีใช้เวลาเป็น 10 ปี และพบว่ามีคดีผู้ร้องคดีมรรยาทในปี 2566 ประมาณร้อยคดีแล้ว

นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ กล่าวว่า ทนายความขณะนี้เหมือนเป็นจำเลยสังคม เพราะเดินทางไปไหนก็มีคนถาม ยืนยันว่ากำลังจะจัดการทนายหิวแสง จึงฝากบอกสื่อมวลชนล่วงหน้าว่าตอนนี้กำลังจะมีทนายความร้องทนายหิวแสง ซ้อนความหิวแสงออกไปเป็นอีกสเต็ปหนึ่ง จึงอยากเตือนสื่อขอให้อย่าไปหลง ทั้งนี้ กรรมการบริหารสภาทนายความไม่ได้มีหน้าที่รับคำกล่าวหาเรื่องมรรยาท ตามดำเนินคดี เพราะจะส่งเรื่องให้กับประธานกรรมการมรรยาทเท่านั้น

"ยอมรับว่าโลกมีวิวัฒนาการ สมัยก่อนสื่อไม่กี่ช่อง เมื่อสื่อจะถามข้อกฎหมายส่วนใหญ่จะติดต่อมาที่สภาทนายความ เพื่อให้จัดหาทนายความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับสื่อในการให้ความเห็น แต่ปัจจุบันสื่อไม่ได้ประสานมาที่สภาทนายความ แม้จะไม่ใช่ความผิดของสื่อ แต่เราก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทนายความมีแสนคนทั่วประเทศ ประพฤติผิดในโซเชียลมีเยอะมาก แต่ถ้าสามารถจับไม่กี่เคสเชื่อว่าเคสอื่นๆ เขาจะหยุด เราต้องป้องปราม" นายสุชาติกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น