xs
xsm
sm
md
lg

ไทยโชว์ความสำเร็จ "E-Phyto เชื่อมต่อคู่ค้า พาไทยเชื่อมโลก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศไทยประกาศความสำเร็จ "E-Phyto เชื่อมต่อคู่ค้า พาไทยเชื่อมโลก" อำนวยความสะดวกการส่งออกเต็มรูปแบบ ช่วยลดค่าใช้จ่ายเดินทางของผู้ประกอบการ และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 166 ล้านต่อปี

วันนี้ (30 มี.ค. 66) นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดสัมมนาประกาศความสำเร็จ "E-Phyto เชื่อมต่อคู่ค้า พาไทยเชื่อมโลก" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Phytosanitary Certificate : E-Phyto) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการส่งออก นำเข้า และนำผ่าน สินค้าประเภทพืชและผลิตภัณฑ์พืช แก้ปัญหาความล่าช้าและซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน ลดเวลาที่ใช้ในการเดินทางมายื่นคำขอใบรับรองจากหน่วยงานรัฐด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ปลายทางถึงผู้ผลิต โดยมี ดร.แบนด์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย นางพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการ E-Phyto ประเทศไทย นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานหลักนำร่องการใช้ระบบ E-Phyto นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร และ ดร.วิชัย ดีเจริญกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งผู้แทนผู้บริหารจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้เกียรติเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Phyto กับประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้วคืออินโดนีเซีย และประสบความสำเร็จในการทดสอบแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ อีก ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ชิลี ฟิจิ ฝรั่งเศส และโมร็อกโก นอกจากนี้ มกอช.กำลังจัดเตรียมแนวทางเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางในการใช้งานจริงกับประเทศเหล่านี้ และได้เจรจาเพื่อขอแลกเปลี่ยนใบรับรอง E-Phyto กับฟิลิปปินส์เพิ่มเติม

“มกอช. ในฐานะหน่วยงานกลางของไทยในการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อเปิดตลาดและแก้ไขปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร จะเดินหน้าเจรจากับประเทศคู่ค้าทั่วโลกเพื่อทดสอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้งานระบบ E-Phyto ตลอดจนทำการรวบรวมข้อมูลใบรับรอง E-Phyto และสร้างระบบฐานข้อมูลที่สามารถแลกเปลี่ยนกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ระบบ E-Phyto เป็นนวัตกรรมที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งสุขอนามัยพืช สุขอนามัยสัตว์ และสุขอนามัยอาหารยังเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับประเทศไทย เราพร้อมเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบการรับรองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ค้าและผู้ส่งออก ทำให้มาตรฐานสินค้าเกษตรไทยเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก” เลขาธิการ มกอช.กล่าว


ดร.แบนด์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Global Alliance for Trade Facilitation) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้ดำเนินโครงการ E-Phyto ประเทศไทย ร่วมกับสามหน่วยงานภาครัฐของไทยประกอบด้วยกรมวิชาการเกษตร มกอช. และกรมศุลกากร รวมทั้ง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชจากรูปแบบกระดาษมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าประเภทพืชและผลิตภัณฑ์พืชสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศคู่ค้าผ่านช่องทาง National Single Window (NSW) ซึ่งเป็นระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของประเทศไทย โดยโครงการได้สนับสนุนประเทศไทยให้สามารถเชื่อมต่อกับ E-Phyto Hub เพื่อแลกเปลี่ยน E-Phyto กับประเทศคู่ค้าที่ได้มีการเชื่อมต่อกับ E-Phyto Hub ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention หรือ IPPC)

ด้านนางพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการ E-Phyto ประเทศไทย กล่าวว่า GIZ สนับสนุนการพัฒนาต่อยอดระบบไอทีเพื่อให้ระบบ E-Phyto ของประเทศไทยสามารถเชื่อมต่อกับ E-Phyto Hub และนำไปสู่การแลกเปลี่ยน E-Phyto กับประเทศคู่ค้าของไทยในรูปแบบดิจิทัลได้ อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนากระบวนการทำงานภาครัฐให้ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของเวทีการค้านานาชาติ

“ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทสำคัญกับเราในชีวิตประจำวัน รวมทั้งระบบการค้าการส่งออกระหว่างประเทศ เรามีความภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพภาครัฐและเอกชนไทย ออกแบบและพัฒนาระบบสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Phyto ทำให้การค้าและการส่งออกระหว่างประเทศทำได้รวดเร็วขึ้นและปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานการค้าสากล” นางพจมานกล่าว


นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานหลักนำร่องการใช้ระบบ E-Phyto กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรออกใบรับรองสุขอนามัยพืชรวมทั้งหมด 409,279 ฉบับ ในปี 2564 ให้กับผู้ส่งออกพืชผักผลไม้ไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก คิดเป็นมูลค่าส่งออกมากถึง 784,259 ล้านบาท การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกสินค้าประเภทพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชได้รับความสะดวกเพราะสามารยื่นเอกสารขอการรับรองออนไลน์ได้ ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่าย ขั้นตอนการดำเนินการทางเอกสารและปัญหาการปลอมแปลงเอกสารที่อาจเกิดขึ้น ระบบ E-Phyto ให้การตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ประเทศคู่ค้าจนถึงผู้ผลิตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการส่งออกของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล จากการศึกษาภายใต้โครงการ พบว่า การใช้ E-Phyto เต็มรูปแบบ ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศคู่ค้าผ่านทางดิจิทัลได้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการการเดินทาง และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้มากถึง 166 ล้านบาทต่อปี หรือ 4.89 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ โดยใช้ข้อมูลจำนวนใบรับรองสุขอนามัยพืชโดยที่ออกโดยเฉลี่ย 392,532 ฉบับต่อปี ระหว่างปี 2563-2565

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ E-Phyto สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือที่เรียกว่ารูปแบบเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green: BCG) กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตโดยส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ ภาคการเกษตรและการผลิตอาหารคือหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรในฐานะหน่วยงานหลักผู้ดูแลระบบ NSW สำหรับการแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ มีการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานระบบ NSW และระบบงานที่เกี่ยวข้องกับ E-Phyto อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและพิธีการทางศุลกากร ทำให้การส่งออกสินค้าจากประเทศต้นทางสู่ประเทศปลายทางเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว E-Phyto ช่วยลดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย พร้อมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าของประเทศ ปัจจุบันจีนแจ้งความประสงค์จะแลกเปลี่ยนใบรับรอง E-Phyto กับไทย ผ่าน Single Window และอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดร่วมกับกรมศุลกากร

“กรมศุลกากรพร้อมสนับสนุนกรมวิชาการเกษตร มกอช. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพร้อมร่วมมือพัฒนาการระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชและสินค้าเกษตรอื่นๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนวัตกรรมและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตรไทยอย่างเป็นรูปธรรมไปด้วยกัน” รองอธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

ดร.วิชัย ดีเจริญกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กล่าวในฐานะผู้ให้บริการ NSW หรือ NSW Operator ได้พัฒนาการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจด้านการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และโลจิสติกส์ รวมถึงการเชื่อมต่อกับ ASEAN Single Window หรือ ASW เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน โดยได้มีการร่วมทดสอบและเตรียมความพร้อมของระบบในการรองรับการเชื่อมต่อเอกสารใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Phyto certificate ในทุก protocol ทั้งภายในภูมิภาคเอเชีย และการเชื่อมต่อกับฝั่งอเมริกาเหนือ และยุโรป ผ่าน IPPC Hub (อนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ-International Plant Protection Convention หรือ IPPC) ด้วยศักยภาพของ NT ในด้านดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคม พร้อมที่นำเทคโนโลยีต่างๆ มาอำนวยความความสะดวกทางการค้าและส่งออกของไทย

ดร.วิชัยกล่าวว่า ด้วยศักยภาพของ NT สามารถรองรับการเชื่อมโยงในทุกรูปแบบไม่ว่าประเทศต่างๆ จะเชื่อมต่อมายัง NSW ด้วย Protocol ใดๆ NT ก็สามารถรับส่งและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ โดย NT มีความตั้งใจที่จะนำบริการด้านดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมที่มีอยู่ มาสนับสนุนพันธกิจของโครงการอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้ภารกิจในการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์พืชออกสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศให้ประสบผลสำเร็จ สร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าเกษตรของประเทศไทยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น