xs
xsm
sm
md
lg

คุ้มไหม? เปิดราคาบัตร Transit Pass สายสีแดงควบรถเมล์ ขสมก.เดือนละสองพัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปรียบเทียบความคุ้มค่าบัตรรายเดือน ทรานซิต พาส ใช้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถเมล์ ขสมก. พบหากใช้ทั้งสองอย่างเฉลี่ยเที่ยวละไม่ถึง 20 บาท แต่ต้องเดินทางบ่อยครั้ง

วันนี้ (28 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ได้เผยตัวอย่างบัตรทรานซิต พาส (Transit Pass) ซึ่งเป็นบัตรโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แบบรายเดือน โดยจะเริ่มจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. เป็นต้นไป ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และเขตการเดินรถ ขสมก. หรือตามที่ ขสมก. กำหนด

สำหรับบัตรดังกล่าวมีค่าออกบัตร 100 บาท และราคาบัตรเหมาจ่าย 2,000 บาท สามารถใช้เดินทางรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) สูงสุดจำนวน 50 เที่ยว และรถประจำทาง ขสมก. ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศไม่จำกัดเที่ยว ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ลูกค้าใช้บัตรครั้งแรกที่รถเมล์ ขสมก. หรือรถไฟฟ้าสายสีแดงอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงครบ 50 เที่ยวแล้ว จะไม่สามารถใช้ได้อีก แต่สามารถใช้ขึ้นรถเมล์ ขสมก.ได้จนกว่าจะครบ 30 วัน

เมื่อพ้นระยะเวลา 30 วันแล้วต้องเติมเงินเข้าไปใหม่ จำนวน 2,000 บาท โดยสแกน QR CODE ด้านหลังบัตร ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารใดก็ได้ที่มีเมนูสแกนจ่าย, เครื่อง ATM ธนาคารกรุงไทย และเครื่อง EDC ของจุดจำหน่ายบัตรที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และเขตการเดินรถ ขสมก.


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดง จำหน่ายบัตรโดยสาร 30 วัน 30 เที่ยว โดยมีราคาจำหน่าย 800 บาท แบ่งเป็นราคาเที่ยวโดยสาร 30 เที่ยว 750 บาท และค่าธรรมเนียมออกบัตร 50 บาท โดยเที่ยวเดินทางจะมีวันหมดอายุ 30 วัน เริ่มนับตั้งแต่เข้าใช้งานครั้งแรก หากเที่ยวเดินทางหมดสามารถเติมเที่ยวใหม่ได้ ตามเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนด โดยจะนับวันหมดอายุของบัตรโดยสารใหม่ทันที

ส่วนรถเมล์ ขสมก. มีบัตรล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งรายสัปดาห์และรายเดือน แบ่งทั้งเฉพาะรถโดยสารธรรมดา (ครีมแดง) และรถโดยสารปรับอากาศ โดยคิดค่าธรรมเนียมบัตร 30 บาท ซึ่งหากเป็นประเภทตั๋วรายเดือน รถโดยสารปรับอากาศจะอยู่ที่ราคา 1,020 บาทต่อเดือน โดยรอบการใช้งานจะสิ้นสุดทุกสิ้นเดือน หลังใช้งานบัตรครั้งแรกในรอบเดือนนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบบัตรทรานซิต พาส กับบัตรโดยสารรายเดือนรถไฟฟ้าสายสีแดงและบัตรล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์รายเดือน ขสมก. จะพบว่ามูลค่าบัตร 2,000 บาท เมื่อลบกับตั๋วรายเดือน รถโดยสารปรับอากาศ ขสมก. 1,020 บาทต่อเดือน จะเหลือ 980 บาท และเมื่อหารด้วยจำนวนเที่ยวเดินทางรถไฟฟ้าสายสีแดงสูงสุด 50 เที่ยว จะตกเที่ยวละ 19.60 บาท ซึ่งถูกกว่าบัตรโดยสาร 30 วัน 30 เที่ยว ที่ตกเที่ยวละ 25 บาท

ถึงกระนั้น บัตรดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้วต่อด้วยรถเมล์ ขสมก.เป็นประจำจริงๆ เพราะหากปกติเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงตกวันละ 2 เที่ยว (ไป-กลับ) จะต้องเดินทางให้ได้ 25 วันจึงจะคุ้มค่าบัตร แต่หากใช้งานเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดงอย่างเดียว จะตกเที่ยวละ 40 บาท ซึ่งแพงกว่าบัตรโดยสาร 30 วัน 30 เที่ยว

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาเพจบัสแฟน เช่น เฟซบุ๊ก "Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์" พบว่ามีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยมองว่าควรใช้บัตรโดยสารได้กับรถประจำทางทุกสาย และรถไฟฟ้าทุกเส้นทางมากกว่า เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางอีกรายหนึ่งก็แยกบัตรโดยสารเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่สามารถใช้บัตรดังกล่าวได้ และมองว่าปัจจุบันรถเมล์ ขสมก.มีน้อยลง บ้างก็แสดงความกังขาถึงโครงการบัตรแมงมุมที่ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น