อ่านประกอบ : ปัญหาประเทศไทยกับนโยบายที่หายไป EP.1 “ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม”
รายงานพิเศษ
“กลุ่มชาติพันธุ์ของพวกผมเหมือนเป็นที่ทิ้งขยะ อะไรที่ไม่ดีมันก็ง่ายที่รัฐจะโยนความผิดมาให้เรา ทำเหมือนพวกเราเป็นตัวถ่วง ถูกกล่าวโทษกันจนเป็นเรื่องปกติ และวันไหนที่รัฐแค่มาพูดทำดีกับพวกเราก็เหมือนเป็นบุญคุณแล้ว เพราะพวกเขากดพวกเราจนจมดิน กดให้เราไม่มีที่ทำกิน บอกว่าบุกรุกป่า กดให้พวกเราเหมือนคนที่มาขออาศัยอยู่ จนพวกเราไม่เหลือศักดิ์ศรีอะไร”
พฤ โอโดเชา ชายชาวกะเหรี่ยงปกากะญอ จาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้ซึ่งใช้เวลาที่ผ่านมาทั้งชีวิตของเขาไปกับการเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ใน “ป่า” มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เช่นเดียวกับเขาก็ยังคงมีปัญหาถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยดั้งเดิม หลายคนบอกว่าเป็นเพราะพวกเขาไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นเพราะไม่สามารถขอเอกสารสิทธิ์ได้ แม้จะอยู่อาศัยมานับร้อยปี
แต่เมื่อพิจาณาปรากฎการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นอย่างดีแล้ว พฤ โอโดเชา กลับได้ข้อสรุปว่า ปัญหาการถูกขับไล่ เป็นเพราะพวกเขา “ต่างออกไป” เท่านั้นเอง
“ผมยังนึกไม่ออกด้วยซ้ำ ว่าเราต้องการเห็นนโยบายอะไรจากพรรคการเมือง ที่จะมาให้สิทธิกับพี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศไทย ขนาดแค่ไปขอออกเอกสารสิทธิ์ พวกเรายังไม่กล้าเลย เพราะถ้าเราไปขอ ก็จะถูกคนในเมืองต่อว่ากลับมาว่า เราอยู่ในป่าต้นน้ำ จะขอเอกสารสิทธิ์ได้ไง” ชายชาวกะเหรี่ยง ตอบอย่างจริงใจ เมื่อถูกถามว่า เขาอยากเห็นนโยบายต่อกลุ่มชาติพันธุ์แบบไหนจากพรรคการเมือง และเขาก็ยอมรับว่า การที่เขายังไม่เคยได้รับการสื่อสารจากพรรคการเมืองใดเลยว่ามีนโยบายต่อกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไรบ้าง ก็ทำให้เป็นเรื่องยากที่เขาจะตอบคำถามนี้ได้
แต่ถ้าจะให้บอกว่า เขาต้องการเห็นอะไร พฤ โอโดเชา ตอบได้ทันที นั่นคือ อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับสิทธิของความเป็นคนเหมือนๆ กัน
“สิทธิความเป็นคน ไม่ใช่แค่สิทธิความเป็นคนไทยนะครับ มันมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ สิทธิในที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งวิถีชีวิตของเราคือการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่อาศัยภูมิปัญญารักษาป่า ไร่หมุนเวียนไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะเราใช้พื้นที่ 7 แปลง ปล่อยให้ป่าเติบโตตามธรรมชาติ แล้วค่อยเวียนมาทำไร่ในแปลงเดิมทุกๆ 7 ปี เราใช้วิถีหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปในแปลง ไม่ปลูกพืชเป็นแถวเป็นแนวเหมือนในพื้นที่อื่นๆ เราแค่ปลูกกระท่อมเล็กไว้อาศัย ทำแค่พออยู่พอกิน ไม่ได้ทำไว้เพื่อเชิงพาณิชย์ แต่ด้วยวิธีการทำไร่ที่ต่างออกไปเช่นนี้ ทำให้เราไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายส่วนกลาง ซึ่งกำหนดไว้ว่า หากจะขอพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินทำกิน หากดูจากภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังไปจะต้องเห็นร่องรอยการทำประโยชน์ ต้องปลูกพืชเป็นแถวเป็นแนว เห็นบ่อน้ำ เห็นหลังคาบ้าน และเมื่อบ้านเราถูกประกาศให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ เขาก็มาบอกว่าเราเป็นผุ้บุกรุกทำลายป่า มันหมายความว่า แม้เราจะได้สิทธิความเป็นคนไทย อยู่ภายใต้กฎหมายไทยเหมือนๆ กัน แต่กฎหมายเดียวกันนั้น กลับเป็นกฎหมายที่มาทำร้ายเรา ซึ่งมีวิธีทำกินที่ต่างออกไป”
พฤ โอโดเชา ยกตัวอย่างปัญหาเรื้อรังที่พี่น้องกล่มชาติพันธุ์ของเขาต้องเผชิญมาหลายสิบปี นั่นคือ การถูกตีตราว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เข้าไปบุกรุกทำลายป่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ ความขัดแย้งระหว่างชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย กับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งในที่สุดก็บานปลายจนนำไปสู่ความสูญเสียและถูกดำเนินคดี
พฤ บอกว่า เขาเคยมีกำลังใจว่าความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์อาจจะถูกยอมรับในช่วงที่มีการผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่แล้วก็ต้องอกหักไป จากนั้นก็เคยมีความหวังกับการผลักดันโฉนดชุมชน แต่ในที่สุดนโยบายนี้ก็มาไม่ถึงกลุ่มชาติพันธุ์จริงๆ และยังอาจสรุปได้ว่า แม้จะมีความพยายามทางการเมืองอยู่บ้างในการแก้ปัญหาสิทธิทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่นโยบายทุกตัวที่ถูกนำมาเสนอ ก็เป็นการเสนอให้สิทธิในลักษณะเกษตรแปลงรวมของชุมชน ไม่เคยมีนโยบายไหนที่จะให้สิทธิเฉพาะบุคคลกับกลุ่มชาติพันธุ์
“อย่างในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ก็มีนโยบายออกมาให้เราไปแสดงตัวเพื่อพิสูจน์สิทธิ์นะ แต่สุดท้ายก็มีเงื่อนไขมากมายจากกรมอุทยานฯ มาตั้งไว้อยู่ดี เช่น อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 จะขอไม่ได้ จะต้องปลูกพันธุ์ไม้ 40% ในแปลงนั้นๆ ใช้ประโยชน์ไป 20 ปี ต้องออกจากพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า พวกเราไม่มีสิทธิอยู่ดี”
ดังนั้น พฤ โอโดเชา จึงมีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพียงข้อเดียว
ข้อเสนอ สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดย พฤ โอโดเชา สถานะ สัญชาติไทย เชื้อชาติ กะเหรี่ยง
ขอให้พรรคการเมืองต่างๆ ช่วยผลิตนโยบายที่เหมาะกับคนที่แตกต่างออกไปอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ออกมาบ้างได้หรือไม่ เราอยากเห็นพรรคที่เปิดโหมดเข้าใจความแตกต่างของคน เราอยากเห็นนโยบายที่ไม่ใช่แค่ร่างพิมพ์เขียวจากรัฐส่วนกลางแล้วเอามาใช้กับทุกคน โดยไม่เคยมองว่า นโยบายหรือกฎหมายเหล่านั้นอาจทำให้เราเสียสิทธิบางอย่างที่ควรจะมีไป เพียงเพราะเรามีแนวทางการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ ทั้งที่พวกเราก็คือ คน เหมือนกัน
“มันเหมือนกับว่า รัฐยังไม่ยอมรับว่ามีกลุ่มคนไทยอีกหลายกลุ่มอยู่ในประเทศไทย แต่เป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ มีชีวิตที่แตกต่าง มีวิถีที่แตกต่าง มีรูปแบบการทำกินที่แตกต่าง แต่รัฐพยายามจะทำให้เราต้องเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่เท่านั้น ถ้าเราทำไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้หรือต้องอยู่ในฐานะของผู้ขออาศัยเท่านั้น
หากเราลองเปรียบเทียบกับการเรียกร้องสิทธิในการสมรสของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เราจะเห็นว่า การให้คนเพศเดียวกันมีสิทธิสมรสกันได้ ไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของคนอื่นเลย แต่การไปห้ามไม่ให้คนเพศเดียวกันสมรสกัน มันกลับไปลิดรอนสิทธิหลายอย่างของพวกเขา เช่น ไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ ไม่สามารถมีสินสมรสจากทรัพย์สินที่หามาร่วมกันได้ ซึ่งผมเห็นว่า มันคล้ายกับปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะเมื่อเราซึ่งมีชีวิตที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ แต่ต้องมาถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีของตัวเองจึงจะอยู่ในสังคมนี้ได้ มันเป็นการลิดรอนสิทธิของพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกัน” พฤ กล่าวทิ้งท้าย