xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาประเทศไทยกับนโยบายที่หายไป EP.1 “ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“ถ้าเรามองยาเสพติด เป็นปัญหาอาชญากรรม มีคนร่ำรวยจากการค้ายาเสพติด ถ้าเรามองค้ามนุษย์ ว่ามีคนร่ำรวยจากการค้ามนุษย์ เราจึงมีกฎหมายที่ใช้ตรวจสอบเส้นทางทางการเงินเข้ามาดูแลปัญหาเหล่านี้ แต่ที่เราไม่เข้าใจคือ เมื่อเรามองไปที่ปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม เราก็จะพบว่า มีคนร่ำรวยจากการทำธุรกิจนี้อย่างผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่กลับไม่มีกลไกติดตามเส้นทางทางการเงินเลย และเราก็ยังไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนมีนโยบายที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง”

ดาวัลย์ จันทรหัสดี เธอเป็นอดีตแม่ค้าขายข้าวแกงที่ลุกขึ้นมาคัดค้านและจับทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ จนโครงการมูลค่า 23,000 ล้านบาท ต้องยุติลงไปด้วยปัญหาทุจริตที่เธอและเครือข่ายภาคประชาชนไปค้นหาข้อมูลมาเปิดโปง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ดาวัลย์ ยังคงติดตามปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมมาตลอดกว่า 13 ปี กับ “มูลนิธิบูรณะนิเวศ”

ดาวัลย์ มองว่า “การลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” จากกลุ่มโรงงานรีไซเคิล เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สร้างความสูญเสียมูลค่ามหาศาล แต่กลับไม่เคยถูกเหลียวแลจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย



ดาวัลย์ จันทรหัสดี
“เราเข้าใจว่านโยบายแรกๆ ที่พรรคการเมืองมักจะเสนอต่อประชาชนก็คือ นโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ค่าแรง ค่าครองชีพ ปัญหาปากท้อง เพราะมันเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองอาจจะเชื่อกันว่า จะทำให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน จนทำให้แทบไม่มีใครสนใจนำเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่หากเราพัฒนาเศรษฐกิจผ่านภาคอุตสาหกรรม โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม วันหนึ่งเมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ฐานทรัพยากรที่จะมาค้ำชูภาคเศรษฐกิจก็จะหายไป และเราก็จะ “จน” กันยิ่งกว่าเดิม”
“ถ้าพรรคการเมืองไหนลองมาศึกษาปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ลองลงไปในพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายเกือบทั่วประเทศแล้ว ที่หนักมากๆ ก็ระยอง ราชบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อยุธยา โคราช (นครราชสีมา) ไปจนถึงเพชรบูรณ์ ก็จะพบว่าทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเรื้อรังยาวนาน และยังไม่รู้ว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้ในชาตินี้หรือไม่ ส่วนประชาชนที่เป็นเหยื่อล้วนอยู่ในสถานะที่หมดหวัง ไม่มีรายได้ ไม่มีที่ทำกิน แถมยังต้องสูดดมอากาศที่เป็นพิษเข้าไปทุกๆ วินาที แต่ปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้ กลับไม่เคยมีพรรคไหนนำเสนอนโยบายหรือไม่เคยพูดถึงกันเลยด้วยซ้ำ”


ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งสำคัญกำลังจะมาถึงในอีกไม่ถึง 2 เดือน แต่ยังไม่เห็นนโยบายจากพรรคการเมืองใดที่พูดถึงเรื่องนี้ ดาวัลย์ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหานี้ออกสู่สาธารณะ โดยหวังว่า จะมีพรรคการเมืองที่สนใจประเด็นทางสิ่งแวดล้อมนำข้อเสนอของเธอไปผลิตเป็นนโยบาย




ข้อเสนอ จัดการปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม โดย “ดาวัลย์ จันทรหัสดี” สถานะ “ประชาชน”
1. รัฐต้องหยุดการนำเข้าวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทุกชนิดจากต่างประเทศ เช่น เศษขิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก วัสดุที่ใช้ไม่ได้แล้ว (ขยะ)

2. รัฐต้องกำหนดมาตรการกำกับดูแลโรงงานที่ประกอบกิจการรีไซเคิลอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ขั้นตอนการออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน การตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพของเครื่องจักร เพิ่มมาตรการหลักประกันด้านความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น บังคับให้โรงงานต้องทำประกันความเสียหาย เพื่อให้มีความสามารถในการฟื้นฟูเมื่อเกิดมลพิษ

3. รัฐต้องจัดสรรให้มีงบประมาณ เพื่อดำเนินการยุติการแพร่กระจาย และการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว

4. รัฐต้องเปลี่ยนคำนิยามของคำว่า “ของเสียอันตราย” ให้เป็น “อันตรายจริงๆ” ไม่สามารถนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ เพราะที่ผ่านมาต้นตอของปัญหาเกิดจากการลดค่าของคำว่า “อันตราย” ไปเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการรีไซเคิล

5. แก้ไขกฎหมายให้การลักลอบทิ้งของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม ต้องติดตามเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการทั้งหมด ทั้งผู้ก่อกำเนิดของเสีย โรงงานรับกำจัดของเสีย หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล โดยให้กฎหมายครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน (ปปง.) ตรวจสอบการทุจริต (ป.ป.ช.) และตรวจสอบการก่อเหตุเป็นขบวนการ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ)





“ตอนนี้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศนับล้านคน แต่ไม่เคยมีนโยบายแก้ไขอย่างจริงจัง ที่บอกว่าไม่มี สามารถดูได้ง่ายๆ เช่น หน่วยงานที่ทำให้เกิดปัญหา คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจทั้งการอนุญาตและการกำกับดูแลโรงงาน แต่หน่วยงานที่ต้องเข้ามาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กลับเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่แทบไม่มีอำนาจเข้าไปในโรงงานด้วยซ้ำ นั่นก็เห็นแล้วว่ารัฐไม่เคยใส่ใจเรื่องนี้จริงๆ”

“วันที่สารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ถูกเปิดเผยว่ารั่วไหลออกมานอกโรงงานและถูกหลอมเป็นฝุ่นแดงไปแล้ว เราจะเห็นว่า มันสร้างความตื่นตระหนกหวาดกลัวให้ประชาชนมาก จนทำให้หน่วยงานรัฐที่โดยปกติจะเชื่องช้ามากกับปัญหากากอุตสาหกรรม กลับเข้ามาบริหารจัดการในพื้นที่ทันที มีข้าราชการระดับสูงมากมายมาสั่งการ รีบจำกัดพื้นที่ของวัตถุอันตราย ซึ่งมันก็น่าสนใจว่า ทำไมถึงทำได้ ...

เพราะหากเราให้นิยามว่า ซีเซียม-137 เป็นวัตถุอันตราย เราก็จะพบว่า มีชุมชนมากมายที่ต้องทนอยู่โดยถูกรุกรานจากวัตถุอันตรายมาอย่างยาวนานแล้ว ที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ทนมา 20 ปี, ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ทนมา 10 ปี, ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ทนมา 5 ปี และทั้งๆ ที่พวกเขาเดือดร้อนหนัก ส่งเสียงประท้วง ลุกขึ้นมาต่อสู้ทางกฎหมายจนชนะคดีไปแล้วในทั้ง 3 ชุมชน แต่กากของเสียอันตรายเหล่านั้น ก็ยังอยู่ที่นั่นเหมือนเดิม พวกเขายังไม่มีดินที่ดีให้เพาะปลูก ไม่มีน้ำไว้ดื่มกิน และยังไม่มีอากาศที่ดีไว้หายใจด้วยซ้ำ” 
ดาวัลย์ กล่าวทิ้งท้าย

พบกับรายงานพิเศษ ปัญหาประเทศไทยกับนโยบายที่หายไป EP.2 “วิถีที่ต่างออกไปจากส่วนกลางของกลุ่มชาติพันธุ์” ในวันพรุ่งนี้ (28 มีนาคม 2566)










กำลังโหลดความคิดเห็น