xs
xsm
sm
md
lg

ขุดรากเหง้า “อาณาจักรพนันออนไลน์” “บ่อนดิจิทัล” แยกกอ เมื่อ “2 ป.” แยกพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” เปิดเครือข่ายพนันออนไลน์ที่อาศัยแอบอิงอำนาจบารมี “2ป.” จากเดิมเคยทำมาหากินร่วมกัน แต่หลังจาก “2ป.” แยกทาง ก็เริ่มแบ่งฝ่ายฟาดฟันกันเอง ช่วง“บิ๊กป้อม” นั่งรักษาการนายกฯ มีการจับกุมเครือข่าย “ตุนมินลัต” ที่ีเชื่อมโยงกับ “ส.ว.อุปกิต” เจ้าของตึกที่ทำการพรรค รทสช. แต่หลังจาก “บิ๊กตู่” กลับมานั่งนายกฯ เครือข่าย พปชร.ก็โดนฟาดกลับ ตำรวจที่จับกุมตุนมินลัตโดนย้ายระนาว “สารวัตรซัว” โดนไล่ล่า แต่การพนันออนไลน์ยังคงทำร้ายสังคมไทย สื่อและภาคประชาชนต้องช่วยกันกดดัน สตช. อัยการ ปปง. ดีเอสไอ ตำรวจไซเบอร์ กระทรวงดีอีเอส ให้เร่งดำเนินการปิดเว็บอาชญากรรมออนไลน์พวกนี้ให้ได้

ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 10 มี.ค. นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้พูดถึงการขยายตัวของการพนันออนไลน์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งการทำมาหากินในระบบฝืดเคือง ผู้คนตกงาน จึงมีคนจำนวนหนึ่งที่หมดหวังในการทำมาหากิน หันไปหาธุรกิจที่เชื่อว่าจะทำให้รวยเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ หรือไม่ก็แชร์ลูกโซ่


ในขณะที่เทคโนโลยีออนไลน์ พัฒนาอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นมีแอปพลิเคชันระบบบริการสำหรับคนที่ต้องการเปิดเว็บพนันออนไลน์ มีตัวแทนแฟรนไชส์ในประเทศไทย มีเอเยนต์ ซับเอเยนต์​ ทั่วประเทศไทย

มีการโฆษณาบริการรับทำเว็บพนันอย่างโจ๋งครึ่ม เพียงค้นหาผ่าน Google ระบุข้อความว่า เปิดเว็บสล็อต เปิดเว็บบาคาร่า เปิดเว็บพนันบอล เปิดเว็บหวย มีเกมให้เลือกมาที่สุดในประเทศไทยด้วย Provider เกมชื่อดังระดับโลกกว่า 60+ ค่ายเกม ออกแบบหน้าเว็บไซต์ได้ตามสไตล์ที่คุณชื่นชอบ เพียงติดต่อมาไปทางไลน์

นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวยังสามารถช่วยการเปิดเว็บพนัน โดยทำให้เป็นธุรกิจพนันประสบความสำเร็จ โดยมีบริการแบบครบวงจร ทั้งการยิงโฆษณา สายขาวสายเทา บริการการตลาดทุกอย่างอย่างมีประสบการณ์เชี่ยวชาญ และยังให้คำปรึกษาแผนงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาพร้อมระบบ Auto(ระบบสมาชิกและโอนเงินแบบอัตโนมัติ) ที่ดีที่สุด ระบบหลังบ้านที่เข้าใจง่าย เป็นมิตรต่อผู้เล่นและเจ้าของ พร้อมด้วยทีมงานประสบการณ์สูงคอยดูแลระบบตลอด 24 ชั่วโมง


นายสนธิ กล่าวต่อ ว่า บรรดา ดารา-นักร้อง-พริตตี้ ตกอับที่ไม่ค่อยมีงานช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แต่มีผู้ติดตามอยู่ในโซเชียลอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ล่าสุดคือใน TikTok พอเห็นช่องทางสำเร็จรูปที่หาเงินได้ง่ายแบบนี้ แค่ตัวเองมีช่องทางโปรโมต มีคนติดตามหลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้านก็แล้วแต่ ก็รีบพุ่งหลาวใส่ โดยจะกระโจนใส่ผ่านญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง แฟน หรือ สามี หรือคนใกล้ตัวก็แล้วแต่ โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง เพราะลงทุนแป๊บเดียวไม่กี่เดือน ไม่กี่ปีก็กำเงินได้เป็น ร้อยล้าน พันล้าน หรืออาจจะถึงหมื่นล้าน อย่างพี่น้อง 4 บ. แห่งมาเก๊า888, อย่างนายแทนไท ณรงค์กูลหรือ แม้แต่วัยรุ่นโนเนมอย่าง“ไอ้ฟลุ๊ค” เกียรติศักดิ์ เจริญสุข

นอกจากนี้ ประกอบกับปัจจัยที่ในช่วงหลังเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนผ่าน เปิดช่องให้มีการฟอกเงินผ่านการซื้อขายเงินดิจิทัล-คริปเคอร์เรนซี ทั่วโลก สามารถผ่านแอปพลิเคชันซื้อขายคริปโตฯ ทั้งต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไบแนนซ์ (Binance) , คอยน์เบส (Coinbase) หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ทั้งในประเทศ ที่เจ้าหน้าที่ตามอายัดหรือยึดได้ยาก หรือไม่มีทางตามได้เลยอีกด้วย


เหล่านี้ประจวบเหมาะกับ ปรากฏการณ์ การหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ครั้งใหญ่ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งดูดเงิน แก๊งจีนเทา เจริญเติบโตในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด

เปิดสถิติสุดอึ้ง“อาชญากรรมออนไลน์”คุกคามสังคมไทยหนัก เบื้องต้นมูลค่าความเสียหายเฉียด 3 หมื่นล้าน!

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 - 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีการแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี

  • มีสถิติคดีแจ้งความประมาณ 1,000 รายต่อวัน
  • มูลค่าความเสียหายที่ได้รับแจ้งกว่า 29,546 ล้านบาท
  • โดยสามารถติดตามอายัดบัญชีได้ 65,872 บัญชี
  • อายัดเงินได้ทันเพียง445 ล้านบาทหรือคิดเป็นเพียงแค่ 1.5% ของความเสียหายเกือบ 30,000 ล้านบาท ที่ได้รับแจ้งเท่านั้น
  • สถิติผู้เสียหายรายเดียว ที่คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงสุดถึง 100 ล้านบาท



ส่วนรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพ 5 อันดับแรก ได้แก่
1) การหลอกลวงซื้อสินค้า
2) การโอนเงินหารายได้พิเศษ
3) การหลอกให้กู้เงิน
4) แก๊งคอลเซ็นเตอร์
5) การหลอกให้ลงทุน

ความเสียหาย 30,000 ล้านบาท นั้นเป็นเพียงแค่ตัวเลขความเสียหาย “ขั้นต่ำ”เท่านั้น เพราะยังมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ ไม่ได้แจ้งความให้เจ้าหน้าที่ทราบอีกจำนวนมาก โดยที่คาดว่ามากกว่าจำนวนที่แจ้งหลายเท่าตัวทำให้ตัวเลขความเสียหายจริงอาจจะทะลุหลักแสนล้านบาท !!!

ที่สำคัญ การนิยาม คำว่า“อาชญากรรมออนไลน์” ที่อ้างว่ามีความเสียหายประมาณปีละ 30,000 ล้านบาท นั้น ตามความหมายข้างต้นของรัฐบาล โดยพิจารณาจาก 5 อันดับแรก ของกลโกงของมิจฉาชีพนั้น ชัดเจนว่ามิได้รวมเอา“การพนันออนไลน์”เข้าไปด้วย

ซึ่ง“การพนันออนไลน์” นั้นไม่เหมือนการเปิดวงไพ่ วงไฮโล เปิดบ่อนท้ายซอย เหมือนนิยามของ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ที่เขียนขึ้นเมื่อ 90 ปีก่อนอีกแล้ว แต่จริง ๆ แล้วมันเป็น“การฉ้อโกงประชาชน”เพราะระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมชุดคำสั่ง (Algorithm) หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) นั้นเจ้าของบ่อนพนันออนไลน์สามารถกำหนดได้เลยว่าจะให้ได้กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ 50% 60% 70% หรือ 80%

ด้วยระบบ และหลักการเช่นนี้ทำให้“การพนันออนไลน์” ไม่ได้เป็นการพนันธรรมดาแล้ว แต่มันคือ “การฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งการจะแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ส่วนหนึ่งต้องจัดให้การพนันออนไลน์นั้นต้องแก้กฎหมายให้ผู้กระทำผิดมีความผิดไม่เพียงแต่การจัดเล่นให้มีการพนัน หรือ ฟอกเงินเท่านั้น แต่ต้องมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เหมือนกับการโกงแชร์ลูกโซ่ด้วย !!!

โดยความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้นโดยปกติศาลจะไม่รอลงอาญา และคิดโทษเป็นกรรม อย่างแชร์ลูกโซ่ หรือ กรณีฉ้อโกงออนไลน์นั้นมีการพิพากษาให้จำคุกกันเป็นพัน ๆ ปี หรือ หลายหมื่นปีแต่ติดจริงไม่เกิน 20 ปี

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ทีมงานค้นคว้าพบว่า เรื่องแรกดูอย่างง่าย ๆ ลองเปิดกูเกิล ค้นคำว่า“เว็บพนันออนไลน์”ภาษาไทย นอกจากจะพบว่าเต็มไปด้วยเว็บพนันจำนวนมากแบบนับไม่ถ้วนแล้ว ยังพบว่ามีผลการค้นหามีมากถึง 10.6 ล้านรายการ


เปิดตัวเลขสุดอึ้ง คนไทย 15% หรือเกือบ 5 ล้านคน ติดพนัน!

นอกจากนี้ จากรายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทยล่าสุดประจำปี 2565 ของ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (Center for Gambling Studies) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพบตัวเลขที่น่าตกใจด้วยว่าคนไทยเกือบ 5 ล้านคนติดพนัน

คนไทยที่เล่นพนันในปี 2564 มีมากถึงถึง15.1% ของประชากรผู้ใหญ่หรือคิดเป็นจำนวน 4.882 ล้านคน


ในจำนวนนี้กว่า 60% ระบุว่าประสบปัญหาหรือได้รับผลกระทบทางลบจากการเล่นพนันอย่างน้อยหนึ่งอย่างนักพนันกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางการเงินและหนี้พนัน เช่น
  • ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
  • มีหนี้สินที่เกิดจากการเล่นพนัน
  • ต้องขายทรัพย์สินหรือสิ่งมีค่าเพื่อเล่นพนัน/ใช้หนี้
  • เลือกที่จะทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อนำ เงินเป็นทุนเล่นพนัน
  • ถูกเจ้าหนี้ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่ตามมาก็คือ “หนี้สินที่เกิดจากการพนัน”โดย รายงานฉบับดังกล่าวได้ประมาณการไว้ว่าในปี 2564มีนักพนัน 1.127 ล้านคนมีหนี้สินจากการพนันอย่างน้อย 15,307 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยคนละ 13,579 บาท

นี่แค่ปัญหา “หนี้สินจากการพนัน” ก็มากถึง 15,000 ล้านบาทแล้ว แล้วท่านผู้ชมคิดว่า ยอดเงินหมุนเวียนในระบบการพนัน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปอยู่ในโลกออนไลน์หมดแล้ว จะมากมายกี่แสนล้านบาทกัน?

คำนวณแบบง่าย ๆ
15,000 ล้าน X 10 ก็เท่ากับ 150,000 ล้าน
15,000 ล้าน X 20 ก็เท่ากับ 300,000 ล้าน
15,000 ล้าน X 30 ก็เท่ากับ 450,000 ล้าน

ข่าวกรณีล่าสุดที่สร้างฮือฮาใน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ กรณีคลิป “ครูยืม 3,000 แต่แม่หนูหนีทัน” ฉายา “ครูสล็อตติดพนัน” ที่ จ.สระแก้ว


โดยเฟซบุ๊กเพจหนึ่งที่ชื่อ “อีซ้อขยี้ข่าว” เปิดคลิปภาพเด็กนักเรียนชั้น ป.3 ที่พากันออกมาแฉพฤติกรรมครูคนหนึ่งในโรงเรียนที่มักบุกไปยืมเงินผู้ปกครองถึงบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ยามค่ำคืน จนเด็กๆ พากันตั้งฉายาให้ว่า“คุณครูสล็อต”โดยเด็ก ๆ เหล่านี้เชื่อว่าสาเหตุที่คุณครูต้องบุกยืมเงินผู้ปกครองไปทั่วเพราะติดพนันออนไลน์ และเมื่อคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่และแชร์ต่อเป็นวงกว้าง ชาวเน็ตต่างพากันเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า ครูท่านนี้น่าจะติดไฮโล แต่ทางเพจได้ชี้แจ้งว่าครูไม่ได้ติดไฮโล แต่ครูท่านนี้ติดพนันออนไลน์ และน่าจะมัวแต่ "ปั่นสล็อต" จนเป็นที่มาของฉายาที่นักเรียนตั้งให้

เว็บพนันออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งดูดเงิน ที่ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง จนเรียกได้ว่าคนไทยแทบจะทุกคน ทุกครัวเรือน ทุกเพศทุกวัย ทุกวิชาชีพ นั้นเคยประสบพบเจอ บางคนเจอวันละหลาย ๆ ครั้ง อาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าตำรวจและนักการเมืองของไทยไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ กับขบวนการเหล่านี้ ซึ่งใหญ่โตมโหฬาร ครอบคลุมไปถึง องค์กรอาชญากรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง“ขบวนการการพนันออนไลน์”การพนันในโลกเสมือนจริงได้กลายเป็น“แหล่งขุมทรัพย์ แหล่งมหาสมบัติแหล่งใหญ่” ของตำรวจ แทนที่ บ่อนเถื่อน ผับ บาร์ ฯลฯ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไปเรียบร้อยแล้ว

“อาชญากรรมไซเบอร์” ได้กลายเป็นปัญหาวิกฤติที่ร้ายแรงและทำลายชาติบ้านเมืองทำให้คนไทยต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจำนวนมาก

เชื่อหรือไม่? แม้กระทั่งคนบางคนที่ออกมาต่อสู้กับการพนันออนไลน์ ตัวเองและลูกชายก็มีส่วนเกี่ยวพันกับการพนันออนไลน์เช่นกัน แต่อย่าเพิ่งให้เอ่ยชื่อ สักวันหนึ่งสังคมคงจะรู้ เพราะความจริงมีหนึ่งเดียวเท่านั้น

บทบาท“พี่น้อง 2 ป.”ในการป้องกัน-ปราบปราม “พนันออนไลน์”


การที่ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้ ผู้นำสูงสุดที่ต้องรับผิดชอบ หนีไม่พ้นคนแรก คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ต.ร.)

คนที่สองพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็น ประธานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.)

ส่วนผู้นำในระดับรอง ๆ ลงมาในรูปองค์กรที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์, ปปง., ดีเอสไอในอดีต, กระทรวงดีอีเอสองค์กรเหล่านี้ได้ปล่อยปละละเลยจนทำให้ปัญหาบานปลายมาถึงวันนี้

หน่วยงานเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ได้ส่วนแบ่ง โดยแบ่งเรตกันไปเลยว่าเป็นตั๋วราคาเหมา หรือ ตั๋วรายเดือน

ตัวอย่างเช่นตำรวจไซเบอร์ หรือสอท. ยุคหนึ่ง มีอัตราค่าบริการในการจ่ายให้ตำรวจไซเบอร์แตกต่างออกไปตามประเภทเว็บไซต์ธุรกิจ เช่น
- เว็บลามก เว็บโป๊ มีราคาเหมาหลักแสนบาทขึ้นไป
- ส่วนจ่ายรายเดือนเริ่มต้นที่ 5,000-10,000 บาทต่อเดือน
- เว็บพนันไม่มีราคาเหมา แต่รายเดือนเริ่มที่ 20,000-50,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ยังมีโมเดลใหม่ คือ ไม่เก็บส่วย แต่ขอหุ้นด้วย หรือ ยก Sub-Agent ให้ตำรวจไปทำเงินทั้งเว็บเลยก็มี

เมื่อตำรวจไซเบอร์ มีการตั้งโต๊ะเก็บส่วยแบบเป็นล่ำเป็นสัน แล้วท่านผู้ชมคิดว่า ปปง., ดีเอสไอในอดีต หรือ กระทรวงดีอีเอส ที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นรัฐมนตรี จะไม่รู้เรื่องเลยหรือ?!?

ดูง่ายๆ ตอนนี้ ถ้าดูหนังออนไลน์ หรือเล่นเกม ก็มีข้อความโฆษณาพนันออนไลน์เต็มไปหมด โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงประชาชน เยาวชนในวงกว้างอย่าง เฟซบุ๊ก TikTok ไลน์ SMS ฯลฯ

ทั้ง ๆ ที่ทีเวลาประชาชนพูดถึงเรื่องสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างกรณีฟ้าทะลายโจร สมุนไพร หรือ ปัญหาวัคซีน ถูกบล็อกหมดแสดงให้เห็นว่ารัฐมีการรู้เห็นเป็นใจกับผู้ประกอบการ โอเปอเรเตอร์เหล่านี้ด้วย และมีการเลือกปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐจริงหรือไม่?

ย้อนรอย อำนาจเปลี่ยน “รักษาการนายกฯ ประวิตร” จับเครือข่าย “เอ็ดดี้-ตุน มิน ลัต” และ “ลูกเขย ส.ว.อุปกิต”


เดิมที“พี่น้อง 2 ป.” คือพล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร อยู่ร่วมกันในพรรคพลังประชารัฐ องคาพยพที่เกี่ยวกับพนันออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งดูดเงิน แก๊งจีนเทา ได้มาอาศัยกลุ่มผลประโยชน์ที่อาศัยแอบอิงพึ่งบารมี พี่น้อง 2 ป. จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะอย่างน้อยผลประโยชน์ก็ยังอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือลงในหีบสมบัติในบ้านเดียวกัน

แต่ ทำไมพนันออนไลน์ เพิ่งจะมาถูกจับตา ไล่ล่ากันมากในช่วงนี้ ทั้ง ๆ ที่ระบาดมาหลายปีแล้ว ?

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า หรือเป็นเพราะรอยร้าวจากการแยกพรรค ที่เกิดขึ้นระหว่างเครือข่ายของ “พี่น้อง 2 ป.” คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ?

ย้อนกลับไปช่วงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อคำวินิจฉัยกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีหรือไม่ และพล.อ.ประวิตร ได้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

ปรากฎว่าช่วง พล.อ.ประวิตร เป็นรักษานายกฯ นั้น ได้มีการจับเครือข่ายของ “เอ๊ดดี้” พันณรงค์ ขุนพิทักษ์ ซึ่งถูกตั้งข้อหายาเสพติด หนีไปอยู่อังกฤษ แล้วจับนายตุน มิน ลัต ซึ่งเป็นลูกเขยของมิน อ่อง หล่าย ของพม่า และรวมไปถึงลูกเขยของ ส.ว.อุปกิต ปาจรียางกูร ด้วย


นั่นเป็นหนึ่งเดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เว้นวรรค พล.อ.ประวิตร นั่งรักษาการนายกฯ แบบคึกคักเต็มกำลัง จนกระทั่งวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 6 ต่อ 3 เสียง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไปเป็นนายกฯ ต่อไปได้

ในวงการเมืองก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากว่า เบื้องหลังกระบวนการล็อบบี้ ที่จะโค่นล้ม พล.อ.ประยุทธ์นั้น หนักมาก โดยเฉพาะจาก“ป. ที่ 4”ที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร แต่เครือข่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แก้ไขสถานการณ์ได้ทัน

เรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถจะไว้วางใจมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคู่กับ พล.อ.ประวิตร ในพรรคพลังประชารัฐอีกต่อไปได้ และตัดสินใจอย่างแน่นอนที่จะทิ้งพรรคพลังประชารัฐ ไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตั้งสำรองมารอล่วงหน้าก่อนหน้านี้

เค้าลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะแยกตัวออกจากกันนั้น ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่การก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่แม้จะก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน


จนกระทั่งพรรครวมไทยสร้างชาติ มีการย้ายที่ทำการพรรคจากย่านรัชดาภิเษก มาอยู่ที่ซอยอารีย์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ซึ่งต่อมามีการอภิปรายทั่วในสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่ดินที่ตั้งใหม่ของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นอาจมีความเกี่ยวพันธ์กับ สมาชิกวุฒิสภา ชื่อ ส.ว.อุปกิต ปาจริยางกูร หรือไม่?

ถ้าสมมติว่า ที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติเกี่ยวข้องกับ ส.ว.อุปกิต จริง ๆ แล้ว ก็อาจจะถูกข้อสงสัยในทางการเมืองได้ว่า ส.ว.อุปกิต ที่มีฐานะระดับมหาเศรษฐีกว่า 1,700 ล้านบาท ผู้นี้ให้การสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ ในทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่?

นายอุปกิต ปาจรียางกูร
โดยเฉพาะต้องไม่ลืมว่า ส.ว. ชุดนี้มาจากเครือข่ายของ คสช. ดังนั้นพี่น้อง 3 ป.ย่อมรู้อยู่แล้วว่าเบื้องหลัง ส.ว.แต่ละคนมีธุรกิจทำอะไรมา และมีความใกล้ชิดและไว้วางใจกันแค่ไหนจึงถูกเลือกมาเป็น ส.ว.จริงหรือไม่?

อย่างไรก็ตามช่วงเวลา พล.อ.ประวิตร เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม - 30 กันยายน 2565 พล.อ.ประวิตร จึงมีฐานะเป็นทั้งประธาน คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ต.ร.) จึงเท่ากับคุมตำรวจ แทน พล.อ.ประยุทธ์ไปด้วย

ในช่วงเวลา 38 วัน ของการดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประวิตร นั้นมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายเรื่อง และล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

โดยเฉพาะในช่วงเวลารักษาการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร ก่อนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาประมาณ 24 วันปรากฏเหตุการณ์สำคัญขึ้น คือ

เหตุการณ์แรก -วันที่ 17 กันยายน 2565พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ ธนศุภณฏัฐ์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ นำชุดตำรวจขยายผลขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงินปิดล้อมตรวจค้นหลายจุดจนนำไปสู่การจับกุม 4 คน โดยเฉพาะ 2 คนสำคัญคือ

นายตุน มิน ลัต (Tun Min Latt) อายุ 53 ปี ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดผู้นำทหารพม่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ทั้งนี้ นายตุน มิน ลัต ผู้คนนี้มีความใกล้ชิดและทำธุรกิจร่วมกันกับ ส.ว.อุปกิต ปาจริยางกูร อีกด้วย

นายตุน มิน ลัต
ซึ่งนายอุปกิตนั้น สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ว่า นักธุรกิจชาวพม่าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่า ถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน

และสำคัญไปกว่านั้นคือมีการจับกุมนายดีน ยัง จุลธุระ ซึ่งเป็นลูกเขยของ ส.ว.อุปกิต อีกด้วย

จากแก๊งยาเสพติด “คิงส์นนทบุรี” ถึง เครือข่าย “ตุน มิน ลัต”

สำหรับ การจับกุม ตุน มิน ลัต และนายดีน ยัง จุลธุระ ลูกเขยของ ส.ว.อุปกิต นั้นเป็นการขยายผลมาจาก กรณีเมื่อราว 1 ปีที่แล้ว ในวันที่ 5 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมนายวรวัฒน์ วังศพ่าห์ ซึ่งเชื่อมโยงคดียาบ้าของเครือข่ายยาเสพติด“คิงส์ นนทบุรี”และยึดทรัพย์ได้ถึง 500 ล้านบาท โดยผู้ต้องหาคือ นายวรวัฒน์ นั้น มีตำแหน่งเป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งคือพล.อ.บุญธรรม โอริส

โดย นายวรวัฒน์ เป็นผู้นำเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดไปฟอกเงินทำธุรกิจขายน้ำมันส่งออกไปยังประเทศพม่า มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่มาของการขยายผลต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจของเครือข่ายอัลลัวร์ กรุ๊ป ก็เกี่ยวข้องกับพม่าเช่นกัน

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ @JusticeMyanmar ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างนายอุปกิต กับ นายตุน มิน ลัต ระบุว่า นายตุน มิน ลัต กับนายอุปกิต เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ควบคุมกลุ่มที่ชื่อว่า อัลลัวร์ (Allure Group) โดยอ้อม สั่งซื้อไฟฟ้าจากไทยโดยใช้เงินจากธุรกิจสีเทา


หลังจากนั้นตำรวจจึงได้มีการออกหมายจับเพิ่มเติมเป็นเครือข่ายเดียวกันคือ “เอ็ดดี้” พันณรงค์ ขุนพิทักษ์​ ผู้ทำเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศไทย แต่มีนายตำรวจใหญ่ให้การสนับสนุน ทำให้นายเอ็ดดี้ กับพรรคพวก ประกอบไปด้วยนายไข่เจียว นายคมสัน รุกขพันธ์ และ“พีท หรือ ปีเตอร์” นายวริศ ลิ่มอติบูลย์ สามารถหนีไปอยู่อังกฤษได้หรือไม่ ซึ่งเครือข่ายเอ็ดดี้นี้เชื่อมโยงกับนายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส (อ่าน โป๊ะอีกแล้ว! “นอท กองสลากพลัส” อ้างไม่รู้จัก “เอ็ดดี้-พีท” เจ้าพ่อเว็บพนัน) ซึ่งเรื่องนี้ต้องกลับไปถาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าทำไมปล่อยให้“เอ็ดดี้ พันณรงค์”หลบหนีไปอยู่อังกฤษได้สำเร็จ


แต่จุดที่เชื่อมโยงคือเอ็ดดี้ หรือพันณรงค์ ขุนพิทักษ์ เจ้าพ่อพนันออนไลน์ ระดับมาสเตอร์แฟรนไชส์ เป็นผู้ที่ซื้อธุรกิจโรงแรม (คาสิโน) ท่าขี้เหล็ก “อัลลัวร์ กรุ๊ป”ในพม่า ซึ่งเคยเป็นของ ส.ว.อุปกิต ปาจริยางกูร อีกด้วย โดย ส.ว.อุปกิต ได้ระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่าได้ขายหุ้น อัลลัวร์ กรุ๊ป รวมถึงโรงแรม อัลลัวร์ รีสอร์ท ไปก่อนจะเป็น ส.ว. ในปี 2562 ให้กับชายคนหนึ่งคือนายชาคริส กาจกำจรเดช

ต่อมาเดือนเมษายน 2565 มีการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดและการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องไปถึงพนักงานของ อัลลัวร์ กรุ๊ป โดยมีการเรียก นายชาคริส กาจกำจรเดช ไปให้การด้วย โดยนายชาคริส ให้การว่าได้ทำการตกลงซื้อกิจการโรงแรม อัลลัวร์รีสอร์ท จากนายอุปกิตใน ราคา 8.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 252 ล้านบาท“แต่ไม่ได้มีการซื้อขายกันจริงแต่อย่างใด”

โรงแรม อัลลัวร์ รีสอร์ท
ตกลงใครพูดจริง และใครพูดโกหก!? และมีการฟอกเงินหรือไม่ มีนิติกรรมอำพรางหรือไม่ และ ส.ว.อุปกิตได้รายงานเท็จการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ และมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจสีเทาสีดำของเครือข่ายเอ็ดดี้หรือไม่?

นี่คือประเด็นคำถามทั้งจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ นักเคลื่อนไหวภาคประชาชน,นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล,นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ซึ่งมีสถานภาพเป็นภาคประชาชน เป็น ส.ส. และเป็นสื่อมวลชน ตั้งคำถาม

และสื่อมวลชนทั่วไปก็ควรจะสงสัยและสอบถามความจริงนี้จากนายอุปกิต

แต่แทนที่ ส.ว.อุปกิต จะชี้แจงแถลงตอบข้อเท็จจริงเพื่อให้สื่อซักถาม ในฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ย่อมต้องถูกตรวจสอบได้ กลับเลือกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายไปทั่วโดย
  • ฟ้องแพ่งนายอัจฉริยะ 50 ล้านบาท
  • ฟ้องแพ่งนายโรม 100 ล้านบาท
  • ฟ้องนายดนัย 50 ล้านบาท
นี่เป็นเจตนาที่จะปิดปากคนตั้งคำถามหรือไม่?

ศาล รธน.คืนเก้าอี้นายกฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่คดีคนรอบข้าง ส.ว.อุปกิตเดินหน้าต่อไม่หยุด

วันที่ 30 กันยายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่คดีทั้งหลายที่ได้ดำเนินไปแล้ว ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป


วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งตอนนั้นยังคงยึดโยงอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ​ ไม่ย้ายไปพรรคอื่นได้แถลงข่าวร่วมกับ ปปส. และตำรวจนครบาลที่ร่วมกันในการยึดทรัพย์เครือข่าย “ตุน มิน ลัต” และ “เอ็ดดี้ พันณรงค์ ขุนพิทักษ์” โดยนายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า

“คดีนี้เราได้ติดตามจับกุมมาตั้งแต่ปี 2562-2565 จำนวน 5 คดี ยึดยาเสพติด เป็นยาบ้า 3.5 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 87 กิโลกรัม คีตามีน 6 กิโลกรัม และ เฮโรอีน 380 กรัม

“จากนั้นได้มีการขยายผล ได้ 2 เคส ในปี 2564 และ ปี 2565 จับกุมยึดอายัดทรัพย์สินนายวรวัฒน์ วังศพ่าห์ กับพวก 4 คนฐานความผิดสมคบและสนับสนุนช่วยคดียาเสพติด ยึดอายัดทรัพย์กว่า 500 ล้านบาท

“จากนั้นได้ขยายผลขออนุมัติสมคบ ฟอกเงิน จับกุม กลุ่มอัลลัวร์​ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) 4 คน โดยมีนาย ตุน มิน ลัต นักธุรกิจชาวเมียนมา และดีน ยัง จุลธุระ(ลูกเขยของ ส.ว. อุปกิต)รวมถึงยึดทรัพย์ได้มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และเงินสดในตู้นิรภัยอีก 8 ล้านบาท

“และ ยังได้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ของ เอ็ดดี้ พันณรงค์ ขุนพิทักษ์ และพวกซึ่งหลบหนีหมายจับ ยึดอายัดที่ดินได้ 71 แปลง มูลค่ากว่า 1,050 ล้านบาท ทั้ง ที่ดินเปล่า อพาร์ตเมนต์ รีสอร์ต โรงแรมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในพื้นที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.เมือง จ.สงขลา

“รวมกลุ่มเครือข่ายอัลลัวร์ กรุ๊ป และเอ็ดดี้ ยึดอายัดทรัพย์รวมได้มากกว่า 1,858 ล้านบาท”


นายสมศักดิ์ ยืนยันด้วยว่า ในขบวนการยังมีตัวการสำคัญ คือนายพันณรงค์ ขุนพิทักษ์ และน.ส.กัลยวีร์ ธีระประภาวงศ์คนใกล้ชิดนายเอ็ดดี้ที่ยังหลบหนีหมายจับ เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินหลักของกลุ่มนิติบุคคล เป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์

“เอ็ดดี้ พันณรงค์ ขุนพิทักษ์”
ย้อนกลับไปคดีแรกเมื่อราว 1 ปีที่แล้ววันที่ 5 มีนาคม 2565 ที่มีการจับกุมนายวรวัฒน์ วังศพ่าห์ และยึดทรัพย์ได้ถึง 500 ล้านบาท โดยผู้ต้องหาคือ นายวรวัฒน์ นั้น มีตำแหน่งเป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งคือพล.อ.บุญธรรม โอริส ได้ถูกจับเพราะตำรวจทลายคดียาบ้าของเครือข่ายยาเสพติด“คิงส์ นนทบุรี”

โดย นายวรวัฒน์ เป็นผู้นำเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดไปฟอกเงินทำธุรกิจขายน้ำมันส่งออกไป “เมียนมา” มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่มาของการขยายผลต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจของเครือข่ายอัลลัวร์ กรุ๊ป ก็เกี่ยวข้องกับเมียนมาเช่นกัน

ต่อมาศาลอาญาเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้พิพากษาให้ประหารชีวิต นายวรวัฒน์ วังศพ่าห์

คำพิพากษาให้ประหารชีวิต นายวรวัฒน์แสดงให้เห็นว่า ชุด ปปส. และตำรวจ บชน. ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ได้ทำคดีด้วยหลักฐานอย่างแน่นหนา รัดกุมรอบคอบ และแปลว่าเส้นเงินที่ปรากฏในการฟอกเงินเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีน้ำหนักมากจริง ๆ

เจ้าหน้าที่ ปปส. และตำรวจชุดนี้ได้ทำงานกันอย่างเต็มที่โดยไม่เห็นแก่หน้าใครในช่วงเวลาที่ผ่านมาในคดีนี้

ตำรวจทำคดี“อัลลัวร์ กรุ๊ป” โยง ส.ว.อุปกิต ถูกย้ายกระจาย

จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่น่าจับตาเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือ ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ชุดตำรวจนครบาล ที่จับกุมและดำเนินคดีฟอกเงินกับนายวรวัฒน์ วังศพ่าห์ ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกวุฒิสภาจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตนั้น ก็คือชุดเดียวกันกับที่ดำเนินคดี ยาเสพติด/ฟอกเงิน “อัลลัวร์ กรุ๊ป”(ตุน มิน ลัต) และ“เอ็ดดี้ พันณรงค์” ซึ่งมีผลงานในการจับกุมอายัดทรัพย์ และกำลังขยายผลไปยังเครือข่ายอีกหลายคนมากกว่านี้

คดีนี้ทั้ง นายตุน มิน ลัต(หุ้นส่วนของ ส.ว.อุปกิต) นายดีน ยัง จุลธุระ(ลูกเขยของ ส.ว. อุปกิต) และผู้ต้องหาอีก 2 คน ถูกอัยการสั่งฟ้องทั้งหมด อยู่ในขั้นการพิจารณาของศาลแล้ว ในขณะที่ เอ็ดดี้ และพวกได้หลบหนีหมายจับ แต่คดียังไม่แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล

แต่แล้ว ตำรวจชุดทำคดีกลับถูกโยกย้ายกระจายไปหมด ซึ่งเป็นการโยกย้ายนอกฤดูกาล และโยกย้ายข้ามภาคด้วย ได้แก่

คนที่ 1
วันที่ 13 มกราคม 2566 -พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ ธนศุภณัฏฐ์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการนครบาล 2หัวหน้าทีมตำรวจชุดจับกุม นายตุน มิน ลัต เดิมมีคำสั่งถูกย้ายไป สภ.บ้านเดื่อ จ.ชัยภูมิ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566


ตลกร้ายคือโดยภายหลังจากการจับกุม “ตุน มิน ลัต” ในเดือนกันยายน 2565 กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณตามโครงการ “ทำดีมีรางวัล” ให้ พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ นอกจากนี้กองบังคับการสืบสวน 2 ยังได้รับการประกาศเกียรติคุณ ยกย่องด้วยว่า เป็นหน่วยงานที่มีผลงานในการปราบปรามยาเสพติดดีเด่น ประจำเดือนตุลาคม 2565 ด้วย

ขนาดเพิ่งได้รับรางวัลว่ามีผลงานดีเด่น แต่กลับถูกคำสั่งย้ายกระเด็นกระดอนจากกรุงเทพฯ ให้ไปลำบากไกลถึง จ.ชัยภูมิ

ต่อมามีกระแสข่าวถึงประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนมากเห็นความผิดปกตินี้โดยต่างระบุว่า ถือเป็นการกลั่นแกล้งตำรวจน้ำดีอย่างพ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ จนมีการออกคำสั่งใหม่ย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ย้ายเข้าเป็นจเรตำรวจ ซึ่งในวงการถือว่าถูกเด้งแบบลดชั้นอยู่ดี

นอกจากหัวหน้าชุดจับกุมแล้ว นายตำรวจนายอื่น ๆ ก็โดนโยกย้ายเช่นกัน คือ


คนที่ 2
มีคำสั่งวันที่ 31 มกราคม 2566 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ให้พ.ต.ท.สุชาติ มงลคงพิพัฒน์ ผู้กำกับสืบสวน สอบสวน 4 กองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งเคยเป็นรองหัวหน้าชุดจับกุม นายตุน มิน ลัต ย้ายไปรับตำแหน่ง รองผู้กำกับการปราบปราม สภอ.ตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นสถานีตำรวจภูธรที่อยู่แนวชายแดน


คนที่ 3
พ.ต.ท.มานะพงศ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาลถูกคำสั่งย้ายไปเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจพญาไท แม้ว่จะได้ตำแหน่งเดิม และ สน.พญาไทถือเป็นโรงพักเกรดเอ แต่ได้พ้นจากการทำคดี “ตุน มิน ลัต” ทันที


คนที่ 4
พ.ต.ต.ชำนาญยุทธ ก้อนฆ้อง สารวัตรสืบสวนสอบสวนกองกำกับการ 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งถูกย้ายไปเป็น สารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจดอนเมือง ซึ่งถือว่าถูกลดชั้น เพราะงานสอบสวนเป็นงานที่ตำรวจจำนวนไม่น้อยไม่อยากไปทำหน้าที่นั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อตรวจสอบเชิงลึกแล้ว ชุดจับกุมชุดดังกล่าวนี้นอกจากจะได้รับรางวัลการปราบปรามยาเสพติดแล้ว ยัง“ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย” อีกด้วย แต่ทั้งสี่คนถูกย้ายกระจายไปหมดเลย หลังจับนายตุน มิน ลัต และลูกเขย ส.ว.อุปกิต



เป็นที่น่าสังเกตการโยกย้ายครั้งนี้เหมือนถูกเด้งออกจากหน่วยงานเดิมหรือไม่? ทำให้ไม่สามารถร่วมขยายผลคดีที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ได้ ใช่หรือไม่?

ขอถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่อ้างว่าทุกอย่างว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม จะต้องตอบคำถามว่า ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร?

ฟาดกลับ “พนันออนไลน์” แอบอิงตำรวจสาย พปชร.

“เอ็ดดี้”และ“สารวัตรซัว”ได้ถูกเปิดโปงออกมาว่าเป็นกลุ่มพนันออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุด 2 อันดับแรกนับหมื่นล้าน

แต่ที่มีการพูดถึงยังน้อยคือคือ ฟลุ๊ค Mawinbet หรือตี๋น้อย JETSADABET ซึ่งมีขนาดใหญ่นับหมื่นล้านเช่นกัน รองลงมาอีกนิดระดับพันล้าน คือกลุ่มแทนไท ซึ่งกลุ่มนี้่จะมีตำรวจที่เป็นขาใหญ่ เรียกว่า "ปู่" หรือ "ปู่บุญธรรม" มาดูแลด้วยหรือไม่ ผมไม่บอก แต่ปู่คนนี้มีเอี่ยวผลประโยชน์ไปหมด

สมมุติว่า ปู่คนนี้ มีชื่อว่าเป็น “นายพล…” ในวงการไม่มีใครมายุ่งด้วย สื่อทั่วไปก็ไม่กล้ากล่าวถึงปู่คนนี้ เพราะปู่คนนี้มักสร้างภาพให้คนเกรงใจ เข้าใจผิดว่าใหญ่มาก ระดับตั๋วช้าง ไม่มีใครมาเอาผิดได้

นายสนธิกล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าจะพึ่งพาใคร คงมีแต่ตำรวจที่ตนเชื่อมั่นอยู่ 2 คน ที่จะไปปราบปรามได้ คือพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่ดูแลงานไซเบอร์ ช่วยกันจัดการเว็บพนันออนไลน์กลุ่มนี้ และขจัดตำรวจชั่วพวกนี้ออกไปให้หมด อย่าให้มาทำร้ายสังคมแบบนี้อีกต่อไป


ขณะที่ “เอ๊ดดี้” เป็นกลุ่มพนันออนไลน์ที่บังเอิญมีตำรวจแอบอ้างและแอบอิงบารมีของ “ลุงตู่” ปกป้องคุ้มครองอยู่ แต่ก็โดนรุกหนักมากในเวลานี้

แต่ตอนนี้สถานการณ์ถึงกาลฟาดกลับแล้ว “สารวัตรซัว” คือกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตมาได้ด้วยการดูแลของ นายพล จ. แต่มีการรวบผลประโยชน์หลัก คือ ผู้กอง ป. ที่ไม่เอี่ยวเฉพาะการพนันออนไลน์เท่านั้น แต่เกี่ยวไปทั่ว รวมทั้งคอลเซ็นเตอร์ และแก๊งดูดเงินผ่านแอปพลิเคชันมือถือต่างๆ

แต่เชื่อว่า นายพล จ. วันนี้ไม่ได้กุมอำนาจเหมือนเดิมแล้ว วันนี้น่าจะมีคนอื่นยื่นมือมาจัดการได้มากกว่าสถานภาพของ นายพล จ. ในวันนี้

กว่าเว็บพนันออนไลน์จะเจริญเติบโตมาวันนี้ได้ หลายรายเคยถูกตำรวจล่อซื้อ อายัดบัญชี เจรจาจ่ายหนักเพื่อเคลียร์เรื่องราว ให้ปล่อยบัญชี หรือให้ปล่อยตัว และตามด้วยการจ่ายเงินรายเดือน หลังจากนั้นก็กลายเป็นเครือข่ายส่วยประจำที่ได้รับการคุ้มครอง ดูแลเปิดบริการ โฆษณาอย่างโจ๋งครึ่มในวันนี้

บางเครือข่ายจะแบ่งโซนพื้นที่ผลประโยชน์ไปยุ่งเกี่ยว เช่น ระยอง กับชลบุรี ตำรวจคนละกลุ่มจะดูแลกัน บางเครือข่ายจะใช้วิธีใช้เซิร์ฟเวอร์เฉพาะที่ตำรวจจัดให้ เพื่อเช็กยอดเงิน ใครไม่ใช้เซิร์ฟเวอร์ที่จัดให้จะถูกปิด ถูกอายัดทันที

ส่วน “ผู้กองแป้ง” นี่ก็แอบอิงบารมี พล.อ.ประวิตร ทำให้รวบอำนาจเป็นมาเฟียคอยเคลียร์ในช่วงเวลามีอำนาจ

ด้วยเหตุนี้ แม้ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า จะไม่ได้รู้ทันเรื่องเทคโนโลยี แต่คนข้างๆ รอบด้าน จะคอยเอาอกเอาใจเพื่อให้มีการลักไก่แอบอิงในการปกป้องอำนาจและผลประโยชน์อาชญากรรมไซเบอร์ต่อไป

ส่วน “นอท กองสลากพลัส” ต้องถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นชุมทางปลายน้ำ ของห่วงโซ่กลุ่มพนันออนไลน์ แม้ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน ก็ต้องมาใช้บริการการฟอกเงิน นายนอท อยู่ปลายน้ำเลย เผอิญมีหน้าที่เปิดร้านเพื่อรับฟอกเงินโดยเฉพาะ


แต่อย่าเพิ่งลืมว่ามีแพลตฟอร์มสลากออนไลน์เจ้าอื่น บางรายมีเบื้องหลังทำพนันออนไลน์เช่นกัน แต่ต้องการทำลอตเตอรี่ออนไลน์บังหน้าเพื่อฟอกเงินของตัวเอง บางส่วนก็โหมกระหน่ำเพื่อโค่น นอท กองสลากพลัส ด้วย

“ทั้งหมดนี้ผมเห็นว่าสื่อมวลชนต่างๆ รวมทั้งจอมแฉอย่างเฟซบุ๊ก "เหยื่อ" คุณอัจฉริยะ ชูวิทย์ รวมทั้งสื่ออื่นๆ ต้องช่วยกันเปิดโปง เพื่อบีบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ ปปง. ดีเอสไอ ตำรวจไซเบอร์ กระทรวงดีอีเอส ต้องเร่งดำเนินการปิดเว็บอาชญากรรมออนไลน์พวกนี้ ไม่ให้ทำร้ายสังคมต่อไป

“ทุกวันมีความสำคัญ ยิ่งดำเนินการได้เร็วขึ้น 1 วัน ยิ่งช่วยเหลือประชาชนไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งอาชญากรออนไลน์ ฉ้อโกงประชาชน เหล่านี้ได้มากขึ้นอีกนับหมื่นนับแสนคน”นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น