นักวิจัยปริญญาเอกด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เผยไทยเหลื่อมล้ำเพราะไม่ปรับตัวตามระบบเศรษฐกิจใหม่ นโยบายรัฐไม่เท่าเทียม ภาคการเงินชัดสุดต้นทุนรายเล็ก-ใหญ่ต่างกันทำเสียเปรียบ เชื่อเลือกตั้งเที่ยวนี้แสดงออกมากขึ้น แนะพรรคการเมืองใส่ใจปัญหา ยกตัวอย่างพักหนี้ตอบโจทย์ประชาชน
วันนี้ (2 มี.ค.) นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ปัจจุบันทำงานวิจัยระดับปริญญาเอกด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ Aston University ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรื่องความเหลื่อมล้ำมีทุกประเทศและมีมานานแล้ว ประเทศไทยเริ่มเห็นปัญหาเหลื่อมล้ำชัดเจนประมาณ 8-10 ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ เกิดจากการที่ประเทศไทยไม่ได้ปรับตัวหรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามโลก ตามระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ ของโลก เช่น การค้าขายทุกวันนี้ เป็นค้าขายออนไลน์แล้ว แต่ปัญหาคือ รายได้ไปเพิ่มบนแพลตฟอร์มของต่างชาติ และไม่ได้เสียภาษีในประเทศไทยเพราะไม่มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ระบบทุนของโลกที่เปลี่ยนไปช่วง 5-6 ปีก่อน ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องกองทุนร่วมทุน (Venture Capital) หรือ VC แต่กลายเป็นว่า VC เติบโตที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะสามารถออกกฎหมายบางอย่างเอื้อการลงทุนแบบ VC
"เป็นสิ่งที่น่าเสียใจว่าธุรกิจไทยที่เติบโตในไทยก็ไปจดที่สิงคโปร์เพราะเข้าถึงเงินทุนง่ายกว่าประเทศตัวเอง โครงสร้างพวกนี้ที่เราไม่ได้ปรับตามโลก สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ ทำให้นักธุรกิจไทยมีปัญหา ขณะเดียวกันมันทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจอีกด้วย" นายณัฐพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก นโยบายรัฐบาล ปัจจุบันในเวทีโลก จะไม่พูดถึงว่าประเทศไหนจีดีพี (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) สูงกว่า แต่จะดูความรุ่งเรืองที่เพิ่มขึ้นกระจายไปสู่ประชาชนว่าใครกระจายได้ดีกว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาจึงมีคำว่า SDG (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของการเติบโตไปด้วยกัน แบ่งผลประโยชน์กันอย่างเท่าเทียม
"ยกตัวอย่างประเทศจีน ยังเน้นความรุ่งเรืองที่เท่าเทียมกัน สิ่งที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทำก็คือ การกระจายงบประมาณไปยังมณฑลต่างๆ ให้เติบโตเพื่อแก้ปัญหาความยากจน กระจายงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคไปยังทุกองค์กรท้องถิ่น ส่วนรัฐบาลจะดูแลเรื่องกฎหมายผูกขาด นโยบายเหนือตลาด ดูเรื่องการจ่ายภาษีให้เท่าเทียม คนมีมากเสียมาก คนมีน้อยเสียน้อย รัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก คนรวยต้องเก็บภาษีมากๆ เพื่อนำความร่ำรวยมากระจายสู่คนข้างล่าง แต่คำถามคือ เราเคยเห็นนโยบายแบบนี้หรือไม่ หลักคิดของรัฐบาลคือ ต้องเสียภาษีเท่ากัน เป็นเหตุให้กิจการเอสเอ็มอีใช้วิธีหนีภาษีด้วยการทำบัญชี 2 เล่ม มันเป็นความคิดแบบโบราณ เราต้องเปลี่ยน เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบจ. อบต. ควรใช้กฎหมายร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) เปิดทางให้ท้องถิ่นได้รับการพัฒนาที่รวดเร็วขึ้น และพัฒนาในแบบที่เขาต้องการโดยไม่ต้องรองบประมาณส่วนกลาง เพียงแค่แก้กฎหมายนิดเดียวก็สามารถเปิดช่องให้ทำได้" นายณัฐพงศ์กล่าว
ส่วนที่สอง คือ ในภาคการเงิน มี 4 ปัญหาที่ไม่ทำไม่ได้ คือ 1. เรื่องส่วนต่างดอกเบี้ย (Spread) ประเทศไทยเคยติดอันดับประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สูงที่สุดในโลกมาแล้ว โดยฝากเงินได้ไม่ถึง 1% แต่พอกู้เงินจ่าย 7-8% ผลคือ ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการสูง ขณะที่การฝากเงิน คือ การสะสมความมั่งคั่งอย่างหนึ่งเพราะได้ดอกเบี้ย ตอนนี้ความมั่งคั่งลดแต่ต้นทุนเพิ่ม กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนไม่สามารถสะสมความมั่งคั่งได้ ในภาพรวมคือจะจนเร็ว ยิ่งอายุมากยิ่งจนเร็ว
2. ดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ต่างกัน ดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ 1% เศษ ขณะที่รายเล็กอยู่ที่ 7-8% นักธุรกิจ 2 คน ทำในเรื่องเดียวกันแต่มีต้นทุนต่างกัน ทำยังไงก็แพ้ เพราะต้นทุนแพ้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นหากปล่อยโครงสร้างนี้ต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกระทบต่อทุกคนคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SME) จะตายเรื่อยๆ ก็จะเข้าสู่สังคมลูกจ้างแทน คำถามคือ สังคมลูกจ้าง ไม่ใช่สังคมรากฐานของคนไทย เมื่อเข้าสู่สังคมลูกจ้าง ประเทศต้องพร้อมกับการเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะลูกจ้างอายุ 60 ปี รัฐบาลมีความพร้อมในการให้สวัสดิการหรือไม่ หากไม่มีความพร้อมก็ไม่ควรผลัก SME ให้ไปสู่สังคมลูกจ้าง
3. ปัญหาหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งกลัวกันมากว่าปล่อยกู้จำนวนมากแต่ไม่เข้มงวด จะเป็นหนี้เสียเยอะนั้น ถ้าดูให้ละเอียด จะพบว่าหนี้เสียของรายเล็ก หากนับรายหัวยังมีสัดส่วนต่ำกว่าหนี้รายใหญ่ หนี้คนตัวเล็กต่อให้ล้มทั้งหมด ก็ไม่ทำให้สถาบันการเงินล้ม แต่สถาบันการเงินจะล้มเพราะรายใหญ่ แต่รัฐกลับออกนโยบายแบบเหมารวมที่ทำให้รายเล็กเสียเปรียบ เช่น นโยบายโกดังพักชำระหนี้ กำหนดเงื่อนไขที่เอสเอ็มอีไม่สามารถทำได้
4. เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินของคนตัวเล็ก ตัวอย่างเช่น ลูกค้ารายย่อยต้องการกู้เงิน 80,000 บาทจากธนาคารของรัฐ ทำไมต้องเช็กเครดิตบูโร ถ้าเกิดติดเครดิตบูโร แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิด-19 ระบาด สถาบันการเงินก็ปฏิเสธการให้กู้ มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่เมกเซนส์ (Make Sense) กฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นหลักปฏิบัติข้อตกลงระหว่างสถาบันการเงินกันเอง ซึ่งสามารถยกเว้นชั่วคราวได้หรือไม่ เช่น ยกเว้นเครดิตบูโรสำหรับการกู้เงินต่ำกว่า 100,000 บาทเป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น
"ช่วงโควิด 3 ปี ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมจนควบคุมไม่ได้ สุดท้ายผลเสียเกิดแก่ประเทศ ไทยจะไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างไร ถ้าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดมานานหลายสิบปี แต่ตอนนี้เราจะแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว ไม่แปลกใจว่าทำไมวันนี้เวียดนามแซงเราในบาง Sector แล้ว ทำไมวันนี้เกาหลีไปไกลมากเรื่อง Soft Power ทั้งๆ ที่สมัยก่อนประเทศไทยมีเยอะมาก Soft Power ของเรายังมีเสน่ห์ ยังขายได้อยู่ แต่ต้องจริงจังกับมัน" นายณัฐพงศ์กล่าว
นายณัฐพงศ์กล่าวอีกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาล และทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่ปัจจุบันเริ่มมีการพูดกันมากขึ้น เกือบทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญ ใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง ส่วนเรื่อง SDG ประเทศไทยก็มีเรื่อง BCG (โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน
"คนไทยคุ้นเคยกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง SDG ซ้ำกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ 10 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นการคิดที่ล้ำหน้า พระองค์ท่านทรงใช้คำง่ายๆ ในการอธิบาย ฝรั่งทำเป็นทฤษฎี แต่จริงๆ แล้วมันก็คือแนวเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง คือทำให้ตัวเองอยู่ได้ ที่เหลือค่อยขาย" นายณัฐพงศ์กล่าว
นายณัฐพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำจะไปแสดงออกในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำถ่างออกมากขึ้น จากผลกระทบของโควิด-19 ที่บีบคั้น คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ เปรียบเหมือนน้ำเดือดเต็มที่ ดังนั้น พรรคการเมืองไหนทำให้ประชาชนทุกกลุ่มรู้สึกว่าได้รับการดูแล พรรคไหนตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำได้ อย่างเช่น การเสนอนโยบายพักหนี้ ทำให้คนรู้สึกว่าได้รับการใส่ใจปัญหาที่เจอ พรรคนั้นจะชนะ แต่ถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้ว ไม่จัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง ก็บริหารประเทศไม่ได้เช่นกัน