xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับวิริยะฯ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเมืองรอง​ ศึกษาวิถีวัฒนธรรม​ ​ชุมชน​เชิงประวัติศาสตร์ฯ จ.สุพรรณบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



​​สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับวิริยะฯ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเมืองรอง​เพื่อการศึกษาวิถีวัฒนธรรม​ ​ชุมชน​เชิงประวัติศาสตร์ฯ จ.สุพรรณบุรี กระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ

​​ฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองรอง​ เพื่อการศึกษาวิถีวัฒนธรรม​ ​ชุมชน​ เชิงประวัติศาสตร์ (ตามรอยขุนช้างขุนแผน) ​จังหวัดสุพรรณบุรี นำสื่อมวลชนไทยเดินทางศึกษาวิถีวัฒนธรรม​ ​ชุมชน​ เชิงประวัติศาสตร์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ

​​เริ่มจาก วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เป็นวัดที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระพุทธรูปองค์หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพรักศรัทธาของชาว จ.สุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ถัดมาคือ วัดแค เป็นวัดเก่าแก่สำคัญมีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนที่มีต้นมะขามใหญ่อายุราว 1,000 ปี อันเป็นต้นมะขามที่สามเณรแก้ว หรือขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนเมื่อครั้งมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแคนี้ นอกจากนี้ยังมีคุ้มขุนแผน เป็นเรือนไทยทรงโบราณ สวยงามมาก

ต่อมาคือ วัดพระลอย ตั้งอยู่ริมน้ำท่าจีนหรือแม่น้ำสุพรรณบุรี ต.รั้วใหญ่ อันเป็นสถานที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปนาคปรก 7 พระเศียร ลอยน้ำมา แกะสลักด้วยหินทรายขาวศิลปะสมัยลพบุรี เชื่อกันว่าน่าจะมีอายุเกือบ 1,000 ปี ทำให้ชาวบ้านเชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์กราบขอพรจำนวนมาก

​​จากนั้นได้เดินทางมายังวัดสังฆจายเถร ต.สวนแตง โดยมีนายคมสันติ์ สุขสมดาว นายกเทศมนตรีตำบลท่าระหัด อ.เมืองสุพรรณบุรี ให้การต้อนนำสื่อมวลชนกราบไหว้ขอพรพระสังกัจจายน์ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ม. สูง 10 ม. ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และไหว้ขอพรพระสังกัจจายน์ 7 สี การนี้ พระครูสิริกิตติคุณ เจ้าคณะตำบลสระแก้ว และเจ้าอาวาสวัดสังฆจายเถร กล่าวว่า เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดวังฆ้อง ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณที่ตั้งวัดเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมามีการขุดเจอพระพุทธรูปเนื้อหินทราย มีลักษณะอ้วน ขนาดหน้าตักประมาณ 9 นิ้ว ซึ่งเป็นพระสังกัจจายน์ จึงนำไปมอบให้เจ้าอาวาสในยุคนั้น และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ตามสิ่งมงคลที่เจอเป็นวัดสังฆจายเถร ก่อนสร้างพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งตระหง่านสวยงามสง่าอยู่ภายในวัด

​​แต่ที่นี่ยังมีไฮไลต์ ล่องเรือชมริมลำน้ำท่าว้า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมสองฝั่งลำน้ำ และได้ตื่นตาตื่นใจกับความชุกชุมของ “หิ่งห้อย” หรือที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียก “แมงแม่บ” ที่ส่องแสงระยิบระยับในยามค่ำคืนตลอดทาง นายคมสันติ์ สุขสมดาว นายกเทศมนตรีตำบลท่าระหัด กล่าวว่า เดิมพื้นที่ลำคลองท่าว้าที่อดีตเคยประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย เพราะผู้ประกอบการฟาร์มหมูปล่อยน้ำเสีย แต่ปัจจุบันหน่วยงานราชการเข้าไปดำเนินการแก้ไขสภาพน้ำใสสะอาด และได้พบมวลหิ่งห้อยจำนวนมาก ส่องแสงเรืองรองสวยงามน่าสนใจ โดยเฉพาะบริเวณหมู่ 3-8-9 บ้านสังฆจายเถร ต.สวนแตง อ.เมืองสุพรรณบุรี ที่กำลังจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในภาคกลางคืนให้แก่ จ.สุพรรณบุรีได้เป็นอย่างดี

​​จึงประสานหน่วยงานรัฐ ผู้นำท้องถิ่น ภาคเอกชน ชาวบ้าน ร่วมประชุมหาแนวทางร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในอนาคต เพราะ จ.สุพรรณบุรี มีการท่องเที่ยวในภาคกลางวันครบถ้วนอยู่แล้ว เช่นเส้นทางไหว้พระ 9 วัด เช่นวัดป่าเลไลยก์ พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง) พุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีเกจิอาจารย์อีกหลายวัด เช่น หลวงพ่อสมบุญ วัดลำพันบอง หลวงพ่อเนียม วัดน้อย หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว

​​อนาคตจะพัฒนาเแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และอนุรักษ์พื้นที่นี้ให้เป็นระบบนิเวศอยู่แบบนี้ตลอดไป ถ้าเราพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาประสบความสำเร็จมั่นใจว่าเศรษฐกิจสุพรรณบุรีจะกลับมารุ่งเรือง และฟื้นฟูในภาคกลางคืนได้ รวมทั้งภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ โฮมสเตย์ รีสอร์ต ต่างๆ ในโซนของตำบลสวนแตง หรือตำบลใกล้เคียงจะมีคนเข้ามาสนใจในระบบพักอาศัย และระบบนิเวศของพวกเรา ในช่วงนี้พี่น้องที่ผ่านมาสามารถแวะมาดูความชุกชุมของหิ่งห้อยได้โดยลงเรือที่หน้าวัดสังฆจายเถร

​​ส่วนท่านอื่นจะได้นั่งเป็นเรือยนต์ เรือมีให้บริการทั้งหมด 4 รอบด้วยกัน คือ เวลา 18.30 น. 19.30 น. 20.30 น. และ 21.30 น. เป็นรอบสุดท้าย ติดต่อเรือชมหิ่งห้อยได้ที่วัดสังฆจายเถร

​​นายวัฒนะชัย ยะนินทร อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเปิดประเทศนักท่องเที่ยวต่างประเทศทยอยเดินทางเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยก็เริ่มเที่ยวกันในประทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเที่ยวเมืองรองเพราะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเมืองท่องเที่ยวหลักอย่าง จ.สุพรรณบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกแม่น้ำท่าจีนที่มีความอุดมสมบูรณ์เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนก็หลากหลาย ดังนั้น การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ภายใต้โครงการท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อการศึกษาวิถีวัฒนธรรมชุมชนเชิงประวัติศาสตร์ฯ เพื่อหวังจะนำไปสู่การโปรโมตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้เกิดการเดินทางกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองในการกระตุ้นเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่ชุมชน และช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยเกิดการฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากวิกฤตโควิด-19 นี้

​​นายสุวัฒน์ สุขสัมฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท วิริยะประกันภัยฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมในการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเมืองรองเป็นอีกทางเลือกที่ได้รับความสนใจกันมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องการหลีกเลี่ยงความแออัดของเมืองท่องเที่ยวหลัก​เหตุนี้ บริษัท วิริยะประกันภัยฯ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อไม่เป็นการกระจุกตัวเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักชื่อดังๆ จึงได้จัดโครงการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อการศึกษาวิถีวัฒนธรรม ชุมชนเชิงประวัติศาสตร์ฯ จ.สุพรรณบุรี ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศต่อไป


























กำลังโหลดความคิดเห็น