เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายสัตว์แพทย์ รักไทย งามภักดิ์ ให้เกียรติมาร่วมในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบการตัวอย่างของประเทศไทยการขับเคลื่อนด้านอาหารยั่งยืนในการใช้ และจำหน่ายไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง
โดยมี นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร มุมมองต่ออนาคตอาหารที่ยั่งยืนเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายแพทย์ วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้อำนวยการ บริษัท คะตะลิสต์ จำกัด เป็นผู้กล่าวรายงาน และวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมอมรินทร์ สถาบันอาหาร (National Food Institute) ซอยอรุณอมรินทร์ 36 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์ วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้อำนวยการ บริษัท คะตะลิสต์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นองค์กรที่ทำงานภายใต้แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) อันมีพันธกิจเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในระบบอาหาร (animal welfare) และขับเคลื่อนเรื่องอาหารยั่งยืน (sustainable food) ที่เป็นมิตรต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพคนไทย และในภูมิภาคอาเซียน
สืบเนื่องจากความตื่นตัวของผู้บริโภคในประเทศไทยและทั่วโลกที่เล็งเห็นถึงปัญหาของการเลี้ยงไก่ไข่ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้กรงตับ (battery cage) ที่บังคับแม่ไก่อยู่แต่ในกรงแคบๆ แออัด ขยับตัวแทบไม่ได้ ไม่สามารถแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติได้เลยตลอดชีวิต เป็นการละเมิดต่อหลักการอิสระ 5 ประการ (Five Freedoms) ซึ่งเป็นจริยธรรมสากลในการปฏิบัติต่อสัตว์ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ จากการศึกษาทั้งสหภาพยุโรปพบว่าระบบกรงตับนี้นอกจากจะผิดหลักจริยธรรมต่อสัตว์แล้วก็ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย เช่น การต้องใช้ยาปฏิชีวนะแบบหว่าน (antibiotic prophylaxis) ในปริมาณมาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เกิดจากความเครียดของแม่ไก่ การใช้ยาปฏิชีวนะแบบหว่านนี้นำไปสู่ปัญหาการดื้อยา (antimicrobial resistance) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอย่างรุนแรงไปทั่วโลก
การเลี้ยงแม่ไก่ในพื้นที่คับแคบเช่นนี้เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่ (Pandemic) เช่น โรคไข้หวัดนก เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้คน ความพลัดพราก และความล่มสลายทางเศรษฐกิจอย่างที่ประจักษ์ชัด และที่เราต้องเผชิญกันในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ หลายภาคส่วนของโลก ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป ได้มีกฎหมายห้ามใช้ระบบกรงตับมากกว่า 10 ปีมาแล้ว และตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก
ด้วยกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ดังนั้น บริษัท คะตะลิสต์ จำกัด จึงสร้างความร่วมมือ (positive engagement) กับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมของไทยและภูมิภาคอาเซียนเตรียมพร้อมยกระดับมาตรฐานของฟาร์ม ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีในการผลิตไข่แบบใหม่ที่ตอบโจทย์ของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยการทำการอบรมให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน นอกจากนี้ บริษัทคะตะลิสต์ก็ยังจับมือกับภาคธุรกิจอาหาร โรงแรม ค้าปลีก องค์กรสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล ในการเปลี่ยนไปใช้ไข่ไก่ที่เลี้ยงโดยไม่ขังกรง (cage-free eggs) ด้วยการประกาศพันธสัญญาใช้หรือจำหน่ายไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ขังกรงภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อจะได้สนับสนุนฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรงนี้ (cage-free egg)
ธุรกิจด้านอาหารและองค์กรต่างๆ เหล่านี้นับเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Madel) ในความรับผิดชอบต่อสังคมและสวัสดิภาพสัตว์สากล (social responsibility and animal welfare) การเชิดชูคนดี ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี นอกจากจะเป็นการจุดประกายการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมไทยที่ดีกว่า แต่ยังสามารถสร้างเกียรติภูมิให้แก่ประเทศไทยในฐานะผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์สากลด้วย
ในวันนี้ สังคมโลกยุคใหม่กำลังเรียกร้องให้มนุษย์ใช้ชีวิตด้วยความเคารพต่อธรรมชาติ และเพื่อนร่วมโลกเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ของเราและสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด One Health, One Welfare, One Planet
ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ จึงได้จัดการมอบรางวัลทรงเกียรติแก่ภาคเอกชนธุรกิจอาหาร โรงแรม องค์กรต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ที่ได้ประกาศพันธสัญญาใช้ไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง (cage-free eggs) ที่ดีต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพคน ทดแทนไข่ไก่ที่เลี้ยงด้วยวิธีกรงตับ (cage- free eggs)
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการการไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง สามารถติดต่อได้ที่ คุณณิชามน แสงเดือน (09-8156-3269)