xs
xsm
sm
md
lg

“หมอมนูญ” เผยอย่าตื่นตระหนกปัญหาฝุ่น PM 2.5 ชี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอมนูญ" แพทย์จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ออกมาโพสต์ข้อความอธิบายเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ชี้มีมานานแล้ว ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือ นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย โดยได้ระบุว่า อย่าตื่นตระหนกกันมาก ฝุ่นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทั้งนี้ “หมอมนูญ” ได้ระบุข้อความว่า

“คนไทยต้องตระหนักรู้ อย่าตื่นกลัวฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป

ฝุ่น PM2.5 ขึ้นอยู่กับ “สภาพภูมิอากาศ” และการปล่อยออกมาจาก “แหล่งกำเนิด” “สภาพภูมิอากาศ” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ คนทำได้เพียงลด “แหล่งกำเนิด” ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ เช่น ลดการจุดธูป ลดการใช้เตาถ่าน เตาที่ใช้ฟืน ดูแลสภาพรถ ไม่ปล่อยควันดำ หยุดเผาเศษซากพืช วัชพืช

ฝุ่น PM 2.5 มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี ฝุ่นจากทะเลทราย ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด มนุษย์มีวิวัฒนาการสามารถปรับตัวทางพันธุกรรม มีชีวิตรอดมาได้ ประเทศไทยเพิ่งจะมีเครื่องมือตรวจวัด PM 2.5 ได้เมื่อ 12 ปีก่อน ค่า PM 2.5 ของแต่ละปีแตกต่างกันไม่มาก เมื่อ 2 ปีก่อนต้นเดือนกุมภาพันธ์ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกที่ 2 มีการจำกัดการเดินทาง และให้ทำงานที่บ้าน จำนวนรถยนต์วิ่งบนท้องถนนขณะนั้นลดลงกว่าร้อยละ 70 แต่ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ก็ไม่ได้ลดลง

องค์การอนามัยโลกเคยกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 มคก./ลบ.ม. ปัจจุบันปรับค่ามาตรฐานลดลงอีกใน 24 ชั่วโมงไม่ให้เกิน 15 และเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 5 มคก./ลบ.ม. ค่ามาตรฐานของประเทศที่เจริญแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา ยังสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 

ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM 2.5 ใน 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 และเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. ฝุ่น PM 2.5 ถึงจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คนไทยยังไงก็ต้องหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 ไม่มากก็น้อย 15-50 มคก./ลบม. ทุกวันตั้งแต่เกิดจนตาย

องค์การอนามัยโลกไม่ได้ให้งบประมาณช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาในมาตรการต่างๆ เพื่อปรับลดระดับค่ามาตรฐานของฝุ่น PM 2.5 สร้างแต่ความหวาดกลัว ให้ข้อมูลฝุ่น PM 2.5 ทำให้คนไทยอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 2 ปี คนไทยตายก่อนวัยอันควร 2.5-5 หมื่นคนต่อปี ถ้าปรับค่ามาตรฐานของฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปีลงเหลือ 10 มคก./ลบ.ม. จะลดการตายของคนไทยก่อนวัยอันควร 110,000 รายต่อปี และถ้าสามารถปรับค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีลงเหลือ 5 มคก./ลบ.ม. จะลดการตายก่อนวัยอันควร 170,000 รายต่อปี ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นเพียงสมมติฐาน ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าเป็นจริง

ถ้าดูย้อนหลังไป 70 ปี ถึงแม้คนไทยจะหายใจฝุ่น PM 2.5 มาตลอด อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอายุเฉลี่ยแต่ก่อน 50 ปี ปัจจุบันผู้ชายเพิ่มเป็น 73 ปี ผู้หญิงเพิ่มเป็น 80 ปี เชื่อว่าอีก 20 ปีข้างหน้าคาดว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้นอีก ผู้ชาย 76 ปี ผู้หญิง 83 ปี

บุหรี่อันตรายมากกว่ามลพิษทางอากาศหลายสิบเท่า มีข้อมูลคนสูบบุหรี่อายุเฉลี่ยสั้นกว่าคนไม่สูบถึง 10 ปี ควันบุหรี่เหมือนกับการหายใจฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทันที ต้องใช้เวลากว่า 20 ปีจะเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

มลพิษทางอากาศไม่ใช่มีแค่ฝุ่น PM 2.5 มีก๊าซที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ก๊าซเรือนกระจก โลหะหนัก สารกัมมันตรังสีและสารก่อมะเร็งอีกมากมาย ดัชนีคุณภาพอากาศ (air quality index AQI) คำนวณจากฝุ่น PM 2.5 ก๊าซโอโซน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ในวันที่ดัชนีคุณภาพอากาศสูงมีผลกระทบต่อสุขภาพ แนะนำให้กลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ คนสูงอายุ คนที่มีโรคเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ทางจมูก หอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ งดทำกิจกรรมและออกกำลังกายนอกบ้าน เวลาออกนอกบ้านใส่หน้ากากอนามัยช่วยได้บ้าง การใส่หน้ากาก N95 ป้องกันได้ดีกว่าหน้ากากอนามัย แต่ใส่นานแล้วอึดอัด

ประชาชนทั่วไปอย่า “ตื่นตระหนก” หรือ “วิตกกังวล” กลัวฝุ่น PM 2.5 มากเกินไปโดยเฉพาะถ้าตัวเองแข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ ค่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมจะมากกว่าช่วงเดือนอื่นๆ ประมาณ 1-2 เท่า แต่ก็น้อยกว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ในบางประเทศ เช่นอินเดียกว่า 10 เท่า

เราต้องยอมรับอยู่ร่วมกับฝุ่น PM 2.5 เหมือนกับอยู่กับโรคโควิด-19 ขอให้ใช้ชีวิตใกล้ปกติให้มากที่สุด อากาศกำลังเย็นสบาย ไม่ร้อนเกินไป คนทั่วไปออกกำลังกาย เล่นกีฬา รับแสงแดดในที่กลางแจ้งได้ อย่าเครียด ทนอดอู้อยู่แต่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาในบ้าน ถ้ามีใครในบ้านป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น อย่าทำให้ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นเรื่องน่ากลัวเกินไป จนทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาประเทศไทย สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ”


กำลังโหลดความคิดเห็น