xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง" เผย 6 สาหตุทำโควิด-19 ระบาดลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ออกมาเปิดเผย 6 สาเหตุที่ทำให้โควิด_19 ระบาดลดน้อยลงในประเทศ ชี้ช่วงมิถุนายนน่าเป็นห่วง

วันนี้ (10 ก.พ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Yong Poovorawan" ประเด็น "โควิด_19 ลดน้อยลง และการให้วัคซีนประจำปี" โดยได้ระบุข้อความว่า

"ตามที่เคยได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งว่า หลังจากกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้วโควิด -19 จะสงบและการติดเชื้อจะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมและเมษายน เป็นเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เพราะโควิด-19 ได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาลแล้ว จะไประบาดอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน
การระบาดลดลง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ประชากรไทยส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานแล้ว จากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ และฉีดวัคซีนไปแล้ว ข้อมูลการศึกษาที่ได้พบว่าเด็กและผู้ใหญ่ในวัยทำงานจะติดเชื้อไปแล้วร่วม 80% ผู้สูงอายุติดเชื้อไปแล้วประมาณ 50% แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ก็ได้รับวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 2 หรือ 3 เข็ม และมีจำนวนมากที่ได้ 4 เข็ม

2. จะเป็นช่วงที่นักเรียนส่วนใหญ่ปิดเทอมยาว จะลดการระบาดของโรคได้มาก และจะไปเริ่มระบาดใหม่ในช่วงเปิดเทอมใหม่ โดยจะระบาดหลังจากเปิดเทอมแล้ว 2-3 สัปดาห์ คือในเดือนมิถุนายน

3. ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและติดเชื้อ จากการติดตามพบว่าการลดลงของภูมิต้านทาน ช้ากว่าในผู้ที่ฉีดวัคซีนอย่างเดียว ดังนั้น ในผู้ที่ติดเชื้อแล้ว เรียกได้ว่าได้ภูมิต้านทานแบบลูกผสม ทั้งในระดับการป้องกัน และระดับเซลล์ที่ช่วยในการหายของโรค หรือลดลงของความรุนแรงได้เป็นอย่างดีมาก การติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 เกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ความรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรก (จากการศึกษาของเราในผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ 250 คน)

4. การติดเชื้อขณะนี้ส่วนใหญ่โรคจะไม่รุนแรง จะรุนแรงเฉพาะในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้น้อยกว่า 3 เข็ม และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เมื่อโรคไม่รุนแรง ทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีความลังเล ในการที่จะได้รับวัคซีนในเข็มต่อไป

5. มีการให้ข่าวทางสื่อออนไลน์มากมาย ถึงอาการข้างเคียงของวัคซีนโดยเฉพาะ mRNA ทั้งที่จริงแล้ววัคซีนเกือบทุกตัวมีอาการไม่พึงประสงค์ อาการไม่พึงประสงค์นี้จะเกิดจากวัคซีนหรือเกิดขึ้น ต้องมีการพิสูจน์ ในรายที่พิสูจน์แล้ว จึงจะใช้คำว่าเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนได้ ในการให้วัคซีนเราจะคำนึงถึงผลได้และผลเสียหรืออาการแทรกซ้อนของวัคซีน ถ้าโรครุนแรงอย่างในระยะแรกของการระบาด โอกาสลงปอดเป็นจำนวนมาก การให้วัคซีนมีประโยชน์มากอย่างแน่นอน ขณะนี้ความรุนแรงของโรคน้อยลง ทำให้ผู้จะรับวัคซีนคำนึงถึงอาการไม่พึงประสงค์มากขึ้น เกิดความลังเลใจในการที่จะรับวัคซีน

6. ในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วและติดเชื้อมาแล้ว มีร่างกายแข็งแรงดี การให้วัคซีนประจำปี ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหน ไม่น่าจะแตกต่างกันในประสิทธิภาพของวัคซีน อาจจะต้องเอาอาการข้างเคียงของวัคซีนมาใช้พิจารณาในการตัดสินใจ"
กำลังโหลดความคิดเห็น