xs
xsm
sm
md
lg

จะปฏิรูปการศึกษาไทย ต้องให้ ผอ.โรงเรียนเป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยงนโยบายรัฐสู่เด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจดูแลหลักสูตรการศึกษา ได้ให้อิสระแก่โรงเรียนในการจัดการเรียนการสอนโดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และกลายเป็นหัวใจหลักของการปฏิรูปการศึกษาไทย ยังเป็นดัง “ภาพฝัน” เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงภาครัฐยังคงต้องดิ้นรนแสวงหาความมุ่งมั่นทางนโยบายการเมืองและงบประมาณก้อนใหญ่มาใช้เพื่อคงไว้ซึ่งคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงปรากฏชัด ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง และโรงเรียนยังคงเน้นการเรียนการสอนแบบท่องจำ

มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) เชื่อมั่นว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นหนทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะกับดักรายได้ปานกลาง การให้อำนาจและอิสระแก่โรงเรียนจัดทำหลักสูตรที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของเด็กจะช่วยพัฒนาเด็กไทยและประเทศไทยได้มากกว่า

“ผู้อำนวยการโรงเรียน” หรือ “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” จึงมีบทบาทสำคัญ เป็นดัง “กล่องดำทางการศึกษา” หรือ “ตัวกลาง” ระหว่างความต้องการปฏิรูปการศึกษาของภาครัฐ ต้อง “รับ” และ “ตีความ” นโยบาย และ “แปลง” “ถ่ายทอด” เป็นแผนปฏิบัติการสำหรับจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ผู้อำนวยการที่ “ประสบความสำเร็จ” จะต้องสามารถปรับแก้ไขและเสริมสร้างกระบวนการเรียนการสอนให้ได้ตามเป้าหมายการศึกษาของชาติและสอดรับกับความต้องการเรียนรู้ของเด็ก เรียกได้ว่าจะต้องมีบทบาทเป็น “ผู้นำทางวิชาการ” ตามทฤษฎีตั้งแต่ช่วงปี 2523 โดยศาสตราจารย์ ดร.ฟิลิป ฮัลลิงเจอร์ (Professor Philip Hallinger) นักการศึกษาและที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการวิจัย มูลนิธิเอเชีย ซึ่งต่อมาอีกราว 40 ปี ความคาดหวังให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาจะต้องมีบทบาทเป็นผู้นำทางวิชาการนี้จึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

ความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้อำนวยการโรงเรียนเกิดขึ้นได้ ด้วยการกำหนดทิศทางของโรงเรียน จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และปรับปรุงพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ผู้นำทางวิชาการจะต้องกำหนดทิศทางวัฒนธรรมของโรงเรียน จัดระเบียบการดำเนินงาน และกำกับติดตามให้ความช่วยเหลือการศึกษาของเด็กให้มีความก้าวหน้า รวมทั้งปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความสำเร็จ โดยยึดถือให้ความต้องการเรียนรู้ของเด็กเป็นศูนย์กลาง

จากโครงการวิจัยของมูลนิธิเอเชีย เรื่อง “จากความท้าทาย สู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎระเบียบ การบริหารทรัพยากร และความเป็นผู้นำ” ที่มุ่งทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นผู้นำทางวิชาการและความสำเร็จของนักเรียน พบว่าโครงสร้างที่ฝังแน่นในระบบการศึกษาเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการปฏิรูปการศึกษาไทย ทั้งการรวมศูนย์อำนาจที่ชัดเจน ทรัพยากรทางการศึกษาที่ถูกจำกัด รวมถึงแนวความคิดที่ผิดพลาดเกี่ยวกับภาวะผู้นำ มูลนิธิเอเชียจึงเผยแพร่ผลการวิจัยนี้ออกสู่สาธารณชน ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอานันทมหิดล และบริษัท อสมท (จำกัด) มหาชน ผ่านโครงการรณรงค์ “โรงเรียนดีมีทุกที่” เพื่อแสวงหาและนำเสนอ “ตัวอย่างผู้นำทางวิชาการ” จากโรงเรียนทั่วประเทศ ในรูปแบบสารคดีการศึกษา ออกอากาศผ่านทางรายการ “1 ในพระราชดำริ” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี ในช่วงค่ำคืนวันอาทิตย์ต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี 2565


สารคดีนี้ช่วยผลักดันให้เกิดการทบทวนถึงบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างรอบด้าน มูลนิธิเอเชียเห็นสมควรจะนำ “เสียงสะท้อน” หรือ “ความคิดเห็น” โดยตรงจากเด็กนักเรียนมาร่วมพิจารณาด้วย จึงประสานความร่วมมือกับสถานทูตออสเตรเลียและสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการประกวดเรียงความภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา ในหัวข้อ “ครูใหญ่ในใจเรา” ขึ้น ทำให้ได้รับเรียงความกว่า 3,300 ฉบับ จากเกือบ 270 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่สามารถสรุปได้เป็น “5 สิ่งที่เด็กนักเรียนไทยอยากได้ จากผู้อำนวยการโรงเรียน” นั่นคือ

1. เด็กให้ความสำคัญต่อผู้อำนวยการโรงเรียนเทียบเท่าพ่อแม่ เห็นว่าผู้อำนวยการเป็นดัง “พ่อแม่คนที่สอง” และยกย่องให้โรงเรียนเป็น “บ้านหลังที่สอง” พบตัวอย่างการเปรียบเทียบระหว่างความรักในแบบพ่อแม่และผู้อำนวยการสถานศึกษา เช่น ใจดี ใจกว้าง มอบความรัก มองโลกแง่บวก จริงใจ อ่อนโยน มาหานักเรียนด้วยสายตาอ่อนโยนดังสายตาของแม่ที่มองลูก สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่เด็ก ความเปรียบที่เกิดขึ้นนี้มีลักษณะเฉพาะในบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย แตกต่างจากงานวิจัยระดับนานาชาติ

2. เด็กต้องการให้ผู้อำนวยการใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนนานมากขึ้น นักเรียนจะประทับใจมากหากผู้อำนวยการยืนต้อนรับพวกเขาหน้าประตูโรงเรียนในยามเช้าก่อนเข้าเรียนและเดินตรวจตรารอบโรงเรียน มีเวลาปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ ในโรงเรียน ทั้งด้านการบริหารจัดการและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ตกแต่งห้องเรียนและปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามยิ่งขึ้น ผู้อำนวยการที่เข้างานเช้า อยู่โรงเรียนนาน ร่วมกิจกรรมต่างๆ ย่อมได้รับความรัก ความประทับใจ

3. ผู้อำนวยการจะต้องมีวิสัยทัศน์และเป็นแบบอย่างให้แก่ครูในโรงเรียน สมฐานะ “กัปตัน” คือหัวหน้าหรือผู้นำโรงเรียน นักเรียนเห็นว่าผู้อำนวยการเป็นดัง “หัวหน้าครู” สามารถแนะแนวและให้คำปรึกษาด้านการสอนแก่คณะครูได้ นอกจากนั้น ผู้อำนวยการจะต้องปฏิบัติตน “เป็นแบบอย่าง” ในฐานะผู้นำ จะต้องทำงานหนัก มีวินัย อดทนอดกลั้น เก่งรอบด้าน และทันสมัย จะต้องนำพาบุคลากรในโรงเรียน ทั้งครูและนักเรียนได้ ตัวอย่างเช่น

“ครูใหญ่เปรียบเสมือน “นายท้ายเรือ” ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเรือให้แล่นไปตามทิศทาง ไม่ให้ออกนอกลู่ทางตามกระแสน้ำ แต่จะคอยควบคุมเรือให้แล่นไปข้างหน้าอย่างสง่างามและปลอดภัย” (จาก ด.ญ.พิชญา สาผิว โรงเรียนบ้านแพงพิทยาคม)

4. ผู้อำนวยการจะต้องสร้างโอกาส ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียน พบความกระตือรือร้นของเด็กในการเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ๆ นอกเหนือไปจากกิจกรรมตามหลักสูตรการศึกษาปกติ เช่น กีฬา ดนตรี พวกเขาจึงพึงพอใจหากผู้อำนวยการเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าแข่งขันกับโรงเรียนอื่น ทั้งยังคาดหวังถึงทุนสำหรับศึกษาต่อในต่างประเทศหรือต่างจังหวัดด้วย ตัวอย่างเช่น

“มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรและให้การสนับสนุนในกิจกรรมทุกด้านที่นักเรียนสนใจ และมีความสามารถในด้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ด้านกีฬา ด้านศิลปะ หรือแม้แต่กิจกรรมอาสา ควรสนับสนุนทุกสิ่งที่นักเรียนสนใจและมีความสามารถในด้านนั้นๆ …เพราะมิได้ส่งผลดีต่อนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบให้สถานศึกษานั้นเป็นสถานศึกษาที่มีนักเรียนที่เก่งและมีคุณภาพ” (จาก น.ส.วรรณวิษา ส่วยหาญ โรงเรียนขามแก่นนคร)

5. เด็กต้องการให้ผู้อำนวยการมีความยุติธรรม ไร้อคติ ช่วยยุติความรุนแรงและการกลั่นแกล้ง (Bullying) ภายในโรงเรียน การกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้น นักเรียนจึงคาดหวังให้ผู้อำนวยการเป็นผู้นำในการเคารพสิทธิ สร้างความเข้าใจ ยอมรับในความแตกต่างและมีมนุษยธรรมต่อกันภายในโรงเรียน ผู้อำนวยการต้องเป็นกลาง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเด็ก สนับสนุน สร้างความมั่นใจให้เด็กทุกคนเชื่อมั่นและ “เป็น” ตนเอง อีกทั้งยังต้องปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ให้ความเท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตย รับผิดชอบและอุทิศตนเพื่อโรงเรียน ตัวอย่างเช่น


“ครูใหญ่ในใจของฉันคงเป็นคนที่เข้าถึงง่าย ไม่ยึดถือในตำแหน่งสูงๆ ของตนเอง ทำให้นักเรียนกล้าที่จะเข้าหาและพูดคุยด้วย ก็ได้แค่ยอมรับฟังในทุกๆ ความแตกต่างของนักเรียนไม่ว่านักเรียนจะเป็นใคร เพศไหน ฐานะใดก็ตาม…ท่านไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกๆ คน แค่ท่านรับฟังและนำไปพิจารณา ก็เพียงพอแล้ว” (จาก น.ส.มนัสนันท์ ขานด่อน โรงเรียนสารคามพิทยาคม)

ข้อนี้แสดงให้เห็นความคาดหวังว่าผู้อำนวยการจะเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย พวกเขาต้องการการดูแลเอาใจใส่ด้วยความเท่าเทียมและเคารพในความต่างของเพศสภาพ ศาสนา เชื้อชาติ ชนชั้น และ “ตัวตนอันเป็นอัตลักษณ์” ของแต่ละบุคคล ผู้อำนวยการสถานศึกษาจึงควรเป็นผู้นำในการแสดงถึงการเคารพ และความเข้าใจในอัตลักษณ์และเสรีภาพของเด็ก นอกจากนั้น นักเรียนยังคาดหวังให้ผู้อำนวยการรับฟังปัญหาความทุกข์ของพวกเขา และเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นในโรงเรียน

เสียงความคิดความต้องการของเด็กๆ ทั้ง 5 ข้อนี้ดังชัดเจน สะท้อนถึงผู้อำนวยการ “ในฝัน” “ในอุดมคติ” ที่จะเป็นพลังสำคัญในโรงเรียนและในชีวิตของพวกเขา แต่การจะไปถึงฝั่งฝันนั้นกลับถูกขัดขวางด้วยหลายปัจจัย เช่น การขาดแคลนงบประมาณแม้กระทั่งสำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนตามปกติ และโอกาสในการไต่เต้าเลื่อนขั้นทางวิชาชีพ บีบให้ผู้อำนวยการจำเป็นต้องใช้ความพยายามและเวลานอกโรงเรียนในการสร้างเครือข่ายระดมทุน พรากเวลาที่ผู้อำนวยการควรจะใช้พัฒนาโรงเรียนไปอย่างน่าเสียดาย

ผลการศึกษานี้จึงช่วยให้เห็นภาพสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย เด็กต้องการมีผู้อำนวยการที่ยุติธรรม มีภาวะผู้นำทางวิชาการ เป็นผู้นำโรงเรียน และสร้างพื้นที่สำหรับแสวงหาความรู้มากยิ่งขึ้น กลายเป็นความท้าทายของเหล่าผู้กำหนดนโยบายการศึกษาที่จะต้องทำความปรารถนาเหล่านี้ให้เป็นจริง ภาครัฐจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้? จะทำอย่างไรเพื่อกำกับดูแลโครงสร้างที่สนับสนุนให้เกิดภาวะผู้นำทางวิชาการ? และจะทำอย่างไรให้ระบบของโรงเรียนช่วยเหลือดูแลผู้นำเหล่านั้นได้? เริ่มต้นค้นหาคำตอบได้จากการรับฟังเสียงความคิดความต้องการของเด็กๆ ข้างต้น
...
เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย อีเมล rattana.lao@asiafoundation.org ผู้เขียนขอขอบคุณผู้ช่วยวิจัย วรจรรย์ เนียมทรัพย์ ศุภรัตน์ จีนสมทรง มนัสวี พรหมสุทธิรักษ์ และโกโก้ เทียมไสย์

อนึ่ง ข้อความและความคิดเห็นทั้งหมดในบทความชิ้นนี้นับเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียน มิใช่ของมูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย










กำลังโหลดความคิดเห็น