หมอแล็บฯ แชร์โพสต์ พบอุทยานแห่งชาติเอราวัณนำรูปงูพิษผิดชนิดมาเตือนนักท่องเที่ยว หวั่นทำเกิดความเข้าใจผิด ได้รับอันตราย ชาวเน็ตเผยเคยบอกให้แก้ไขไปนานแล้วแต่ยังนิ่ง
จากกรณีเพจ “งูอะไรก็ได้” ได้ออกมาโพสต์ข้อความตำหนิอุทยานแห่งชาติเอราวัน หลังพบข้อผิดพลาดที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับงูได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ โดยทางเพจได้เปิดเผยป้ายเตือนเกี่ยวกับ งูเขียวหัวจิ้งจก หรืองูเขียวปากจิ้งจก ของทางอุทยานฯ ที่บ่งชี้ว่างูชนิดดังกล่าวเป็นงูที่มีพิษอ่อน พิษจะทำอันตรายได้แต่กับเพียงสัตว์ชนิดเล็กที่เป็นอาหารเท่านั้น แต่สิ่งที่ผิดพลาดคือการใช้รูปผิด ซึ่งอุทยานฯ ได้ใช้รูปของงูเขียวหางไหม้แทน ซึ่งมีพิษมากกว่า งูเขียวหัวจิ้งจก และสามารถทำอันตรายแก่มนุษย์ได้มากกว่า อีกทั้งยังเป็นงูที่มีนิสัยดุและจะฉกทันทีเมื่อเข้าใกล้
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (18 ม.ค.) เพจ “หมอแล็บแพนด้า” ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยได้ระบุข้อความว่า “อันตรายนะครับ ข้อมูลผิดปะเนี่ย ภาพประกอบคืองูเขียวหางไหม้ไม่ใช่เหรอ พิษอ่อนมาก=สู่ขิต”
สำหรับ งูเขียวหางไหม้ มีรูปร่างโดยรวม คือ มีหัวยาวมนใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม คอเล็ก ตัวอ้วนสั้น ปลายหางมีสีแดง ลำตัวมีสีเขียวอมเหลืองสด บางตัวมีสีเขียวอมน้ำเงิน หางสีแดงสด บางตัวมีหางสีแดงคล้ำเกือบเป็นสีน้ำตาล อันเป็นที่มาของชื่อ จัดเป็นงูพิษอ่อน ผิดไปจากงูสกุลหรือชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน โดยผู้ที่ถูกกัดจะไม่ถึงกับเสียชีวิต นอกจากเสียแต่ว่ามีโรคหรืออาการอื่นแทรกแซง โดยผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงทันทีที่ถูกกัด แล้วค่อยๆ หายใน 5-6 ชั่วโมง บริเวณที่ถูกกัดจะบวมอย่างรวดเร็วในระยะ 3-4 วันแรก จากนั้นจะค่อยๆ ยุบบวมในเวลา 5-7 วัน อาจจะมีเลือดออกจากรอยเขี้ยว แต่ไม่มาก หากมีอาการมากกว่านี้ถือว่าเป็นอาการหนัก
เป็นงูที่เลื้อยช้าๆ ไม่รวดเร็ว มีนิสัยดุและฉกกัดเมื่อเข้าใกล้ ชอบอาศัยตามซอกชายคา, กองไม้, กระถางต้นไม้, กอหญ้า ออกหากินในเวลากลางคืนทั้งบนต้นไม้ และตามพื้นดินที่มีหญ้ารกๆ โดยกิน นก, จิ้งจก, ตุ๊กแก, สัตว์ฟันแทะ รวมถึงสัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำต่างๆ เป็นอาหาร ขณะเกาะนอนบนกิ่งไม้จะใช้ลำตัวและหางรัดพันยึดกับกิ่งไม้ไว้