xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์ชี้เคี้ยวหมากฝรั่ง-ดื่มนม ไม่ช่วยลดแอลกอฮอล์ในเลือด ทำได้แค่ยื้อการตรวจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โซเชียลฯ ตั้งข้อสังเกตดรามาภาพเสี่ยเบนท์ลีย์มีการนั่งเคี้ยวหมากฝรั่งขณะรอตรวจเลือดนั้น อ้างเพื่อลดอาการอยากบุหรี่จนทำให้สงสัยว่าเป็นความพยายามในการลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดหรือเปล่า อ.เจษฎ์ยันไม่สามารถช่วยลดแอลกอฮอล์ในเลือด เป็นเพียงแค่ยื้อการตรวจ

จากกรณีรถหรูเบนท์ลีย์ซิ่งพุ่งชนท้ายปาเจโรหมุนชนขอบทางขวาก่อนชนรถดับเพลิงที่กำลังจะไประงับเหตุไฟไหม้ ทำบาดเจ็บ 4 ราย คาดรถหรูเมาแล้วขับ จี้ออกมารับผิดและแสดงความรับผิดชอบด้วย ซึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงในโซเชียลฯ อย่างมากคือผู้ขับขี่รถเบนท์ลีย์มีภาพนั่งเคี้ยวหมากฝรั่งขณะที่ยังรอการตรวจเลือดนั้น (และอ้างว่าเคี้ยวหมากฝรั่งเพราะลดอาการอยากบุหรี่) จนทำให้หลายคนสงสัยว่าเป็นความพยายามในการลดแอลกอฮอล์ในเลือดหรือเปล่า ต่อมาวันนี้ (15 ม.ค.) มีความคืบหน้าคดี "เสี่ยเบนท์ลีย์" พนักงานสอบสวนแจ้งเพิ่ม 3 ข้อหา "เสพเคตามีน-ขับขี่รถเสพเมทแอมเฟตามีน-ขับรถน่าหวาดเสียว" รวมของเดิม 6 ข้อหา รอผลตรวจจาก พฐ.เรื่องความเร็ว และการปลอมแปลงรถ เตรียมดำเนินคดีเพิ่มเติม ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (15 ม.ค.) เฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ถึงกรณีดังกล่าว ระบุข้อความว่า "เคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มนมเปล่าฯลฯ ไม่ลดแอลกอฮอล์ในเลือด / แต่ ยื้อการตรวจ + ดื่มน้ำเยอะ + ปัสสาวะบ่อย ลดได้!!"

ต่อเนื่องจากวันก่อน ที่ผมลองคำนวณ "แบบคร่าวๆ" หาปริมาณแอลกอฮอล์ย้อนหลัง กรณีที่มีคนขับรถหรูเบนท์ลีย์ไปเกิดอุบัติเหตุชนกับรถคันอื่นๆ แล้วมีพิรุธน่าสงสัยว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์จนเกิดอาการเมา แล้วไปขับรถหรือเปล่า เพราะถึงจะมีผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดออกมาน้อยกว่าระดับที่ผิดกฎหมาย แต่ก็เว้นระยะการตรวจไปนานหลายชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุแล้ว

ซึ่งทางเพื่อนที่เป็นแพทย์ได้ทักว่าการคำนวณแบบคร่าวๆ ที่ผมทำด้วยการคิดตามที่ มูลนิธิเมาไม่ขับ เคยใช้ในการพิสูจน์การลดลงของปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหนึ่งชั่วโมงให้นักข่าวดูนั้น  มันไม่แม่นยำ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ที่ผ่านการย่อยสลาย (เมตาบอลิซึม) และกำจัดออกจากกระแสเลือดจนปริมาณที่ตรวจได้ในร่างกายคนที่ดื่มนั้นลดลง มันจะเป็นไปในลักษณะเป็นกราฟโค้ง เหมือนในรูปประกอบจากงานวิจัยนี้ (ดูลิงก์ด้านล่าง) มากกว่าที่จะคำนวณอัตราส่วนย้อนกลับไปตรงๆ

ซึ่งจะเห็นว่าค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด (หรือ blood alcohol concentration, BAC) จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และโดยเฉลี่ยจากอาสาสมัครที่ทดสอบนี้พบว่าค่า BAC จะสูงกว่าระดับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป 3 แก้วขึ้นไป ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าการดูดซึมและค่าการย่อยสลายแอลกอฮอล์ของแต่ละคนแตกต่างกันไปนั้น จะมีได้ทั้งเรื่องของอาหารที่กินเข้าไปด้วย (ท้องว่างมั้ย? กินอาหารที่มีไขมันเยอะมั้ย?), เพศ, น้ำหนักตัว, ฮอร์โมนเพศ, การใช้ยา หรือสารเสพติดอื่นๆ ร่วมด้วย ฯลฯ

เรื่องใหญ่ที่น่าคิดจากกราฟนี้คือ ถ้าแทนที่จะตรวจวัดระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดโดยทันทีหลังจากเกิดเหตุ แต่กลับยื้อเวลาการตรวจออกไปแค่กี่ชั่วโมง จะเป็นการปล่อยให้ร่างกายได้มีโอกาสย่อยสลายแอลกอฮอล์ในเลือดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีระดับลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ได้ไม่ยากเลย ถึงจะเคยดื่มเครื่องดื่มจนมีระดับแอลกอฮอล์สูงถึง 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็สามารถลดลงให้พ้นผิดได้

ดังนั้น ตามที่มีข่าวว่าเหตุรถชนกันเกิดขึ้นช่วงเที่ยงครึ่งและไม่ได้เป่าตรวจแอลกอฮอล์กันโดยทันที จนในที่สุดไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลตำรวจ ได้ตอนช่วงตีห้า (ร่วม 4 ชั่วโมงครึ่ง) ... ก็กลายเป็นการยื้อเวลาที่ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมายอย่างชัดเจน

ทีนี้ประเด็นต่อไปที่น่าคิดคือ ผู้ขับขี่รถเบนท์ลีย์รายนี้มีภาพนั่งเคี้ยวหมากฝรั่งขณะที่ยังรอการตรวจเลือดนั้น (และอ้างว่าเคี้ยวหมากฝรั่งเพราะลดอาการอยากบุหรี่) จนทำให้หลายคนสงสัยว่าเป็นความพยายามในการลดแอลกอฮอล์ในเลือดหรือเปล่า?

จากรายงานข่าวในอดีต พบว่ามีคนพยายามใช้ทริกต่างๆ ที่เชื่อกันว่าสามารถลดค่าแอลกอฮอล์ได้เมื่อถูกเรียกตรวจเป่าแอลกอฮอล์ เช่น ดื่มนมเปรี้ยว เคี้ยวหมากฝรั่ง แปรงฟันบ้วนปาก ดื่มกาแฟ ดื่มน้ำ ฯลฯ

ซึ่งในบรรดาทริกเหล่านี้มีเพียงแค่ "การดื่มน้ำเยอะๆ" ที่ช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ลงได้ เพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะ และเมื่อปัสสาวะก็จะทำให้มีแอลกอฮอล์ส่วนหนึ่งถูกระบายออกจากร่างกายไปกับปัสสาวะได้ และอาจจะใช้ได้บ้างกับการ "ดื่มกาแฟ" ซึ่งนอกจากจะมีส่วนในการกระตุ้นประสาทแล้ว ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ระบายแอลกอฮอล์ออกกับปัสสาวะไปได้ด้วย

ส่วนวิธีการ "เคี้ยวหมากฝรั่ง" นั้นก็ทำได้แค่เพียงช่วยดับกลิ่นปาก และลดปริมาณแอลกอฮอล์ที่อยู่ในช่องปาก ตามซอกฟัน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ได้แค่นั้น ไม่ได้จะไปลดระดับของแอลกอฮอล์ในเลือด / คล้ายคลึงกับเรื่องการ "แปรงฟัน" หรือใช้ "น้ำยาบ้วนปาก" หรือ "อมลูกอม" ที่ทำได้แค่ลดกลิ่นในช่องปากได้เพียงเล็กน้อย

สำหรับ "การดื่มนมเปรี้ยว" เป็นหนึ่งในทริกที่เชื่อถือและนิยมกันมากในหมู่นักดื่มว่าจะลดปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ โดยมีการยืนยันด้วยคลิปวิดีโอรายการข่าว "พิสูจน์เรื่องจริง ตอน บทสรุปนมเปรี้ยวลดปริมาณแอลกอฮอล์ได้จริงหรือ?" ของช่อง Spring News ซึ่งมีการทดลองพิสูจน์ด้วยการให้อาสาสมัครชายคนหนึ่งมาดื่มวิสกี้ไปหนึ่งแก้วช็อต และทดลองเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ พบว่ามีค่าสูงถึง 294 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ / แต่พอให้ดื่มนมเปรี้ยวเข้าไปหนึ่งขวด แล้วทดลองเป่าอีกครั้ง กลับพบว่ามีค่าเหลือเพียงแค่ 34 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (ผ่านเกณฑ์ของกฎหมาย)

ซึ่งเรื่องนี้มีคำอธิบายโดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เอาไว้ว่า "เหตุผลที่ตรวจพบระดับแอลกอฮอล์สูงนั้น เป็นแอลกอฮอล์ที่อยู่ในปาก เนื่องจากเมื่อดื่มบรั่นดีและเป่าแอลกอฮอล์ทันที ระดับลมที่ผ่านปากก็คือแอลกอฮอล์ที่เพิ่งดื่มไป ส่วนการดื่มนมเปรี้ยวและลดระดับแอลกอฮอล์ได้นั้น เป็นเพราะเพิ่งดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป จึงยังไม่ทันที่แอลกอฮอล์จะเข้าไปในกระแสเลือด เหมือนดื่มนมเปรี้ยวล้างปากแอลกอฮอล์ในปากก็หมดไป ทำให้เมื่อเป่าออกมาผลเลยน้อยกว่าปกติ"

“คลิปนี้เป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาด เมื่อไรก็ตามที่ดื่มสุราจนกระทั่งแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดและเกินกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ ต่อให้ดื่มนมเปรี้ยวปริมาณมากเพียงใดก็ช่วยอะไรไม่ได้ ส่วนเรื่องยาที่ขายตามร้านเหล้า ผับ บาร์ทั้งหลาย อ้างสรรพคุณว่ากินยาตัวนี้แล้วจะช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นตัวยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพร ไม่มีตัวยาอะไรเป็นพิเศษ สรุปก็คือไม่ได้ผล”

#สรุป บรรดาทริกต่างๆ ที่อ้างว่าสามารถลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ลงได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้ผลจริง (ยกเว้นเสียแต่การพยายามระบายออกผ่านปัสสาวะ) อย่างเช่น ดื่มนมเปรี้ยว ก็ไม่มีฤทธิ์ไปทำลายแอลกอฮอล์ตามความเชื่อที่ผิด แอลกอฮอล์ยังอยู่ในเลือดเหมือนเดิม

แต่ที่ได้ผลคือ การยื้อการตรวจวัดแอลกอฮอล์ออกไปให้ได้หลายชั่วโมง ร่างกายก็จะกำจัดแอลกอฮอล์ออกไปได้ (มากน้อยแล้วแต่คน) ซึ่งควรจะกวดขันให้เป็นมาตรฐานต่อไปว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว จะต้องทำการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทันที อย่าปล่อยหรือยื้อเวลาให้เนิ่นนานไป

คลิกชมโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น