รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โพสต์แนะให้ผู้ก่อเหตุเป่าแอลกอฮอล์ภายใน 4 ชั่วโมง หากเกิน 6 ชั่วโมงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด 50 mg% และอาจรอดกฎหมาย
จากกรณีรถหรูเบนท์ลีย์ขับมาด้วยความเร็ว จนเกิดอุบัติเหตุพุ่งชนรถยนต์มิตซูบิชิเสียหลักไปชนรถดับเพลิง อปพร.บางรัก เสียหายทั้ง 3 คันพังยับบนทางด่วน แต่ “สุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์” หรือ เสี่ยจั๊บ เจ้าของรถหรูเบนท์ลีย์ ปฏิเสธการเป่าแอลกอฮอล์ โดยอ้างว่าเจ็บหน้าอก แต่ขอเป็นการตรวจเลือดแทน ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่าผลการตรวจจะแม่นยำแค่ไหน เพราะจากข้อมูลแอลกอฮอล์จะอยู่ในเลือด 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะหายไปจากเลือดอย่างมีนัย รวมทั้งการปฏิเสธที่จะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์มีความผิดหรือไม่
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. เฟซบุ๊ก "หมอหมู วีระศักดิ์" หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรณีแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายให้ตรวจได้นานเท่าไร? โดยผู้โพสต์ระบุข้อความว่า "1. เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะเริ่มเผาผลาญแอลกอฮอล์ในอัตรา 20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) ต่อชั่วโมง
2. ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด แต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด ได้แก่ อายุ น้ำหนัก การได้รับการรักษาบางอย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง หรือแม้แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ ก็มีผลเช่นกัน
3. 20% ของแอลกอฮอล์ที่ได้รับเข้าไปในช่วงแรกจะไหลเข้าสู่หลอดเลือด และถูกพาไปยังสมอง ส่วนอีก 80% ที่เหลือจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็กและเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป หลังจากนั้นแอลกอฮอล์จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ
4. การตรวจปัสสาวะสามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่ 12-48 ชั่วโมงหลังการดื่ม หรือในการตรวจสอบที่มีความแม่นยำสูงอื่นๆ สามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ในปัสสาวะหลังการดื่มได้ถึง 80 ชั่วโมง
5. การวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ สามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือดหลังจากการดื่มได้นานถึง 24 ชั่วโมง
6. แอลกอฮอล์ยังสามารถสะสมอยู่ในผมได้มากกว่า 90 วัน ในบางครั้งสามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ได้จากน้ำลาย เหงื่อและเลือดอีกด้วย
7. สำหรับการตรวจในเลือด: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำให้ตรวจภายใน 4 ชั่วโมง (หากเกิน 6 ชั่วโมงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด 50 mg%)
อ้างอิงข้อมูลจาก:
1. Healthline. How Long Does Alcohol Stay in Your Body?
2. American Addiction Centers. How Long Does Alcohol Stay in Your System?
3. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์"