xs
xsm
sm
md
lg

ปราบ “หมูเถื่อน” กรมศุลกากรอยู่ข้างใคร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นงพนา สอนสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์

เมื่อวันก่อน กรมศุลกากรแถลงข่าวใหญ่โชว์จับกุมยาเสพติด ประเภทยาไอซ์ จำนวน 51 ตัน มูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาท ถูกซุกซ่อนมาในพรมเตรียมส่งออกจากท่าเรือกรุงเทพ ปลายทางฮ่องกง นับเป็นผลงานชิ้นโบแดงของกรมฯ นี้ ในปีที่ผ่านมาเน้นการจับกุมการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรของยาเสพติดอย่างจริงจัง การจับกุมสินค้าผิดกฎหมายประเภทอื่นกลายเป็น “เบี้ยบ้ายรายทาง” ทั้งที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการปราบปรามมีการเลือกปฏิบัติ

จากผลงานดังกล่าว อนุมานได้ว่ากรมศุลกากร “ด้อยค่า” ความสำคัญการจับกุมสินค้าผิดกฎหมายอื่นๆ รวมทั้ง “หมูเถื่อน” ทำให้ออกมาเพ่นพ่านนอกท่าเรือไร้การจับกุม เล็ดลอดการตรวจสอบจากเทคโนโลยีสแกนขั้นเทพเห็นของที่ซุกอยู่ใต้พรมได้ แม้กระทั่ง “ขนหมู” ก็ไม่รอดสายตาไปได้ หากแต่มีเพียงส่วนน้อยที่บังเอิญเจอบนท้องถนนจึงจับกุม นี่ก็เป็นเรื่องแปลก!! ขณะที่เหตุผลที่แจงต่อสังคม คือ ตรวจไม่พบเพราะมีการสำแดงเท็จ เป็นอาหารทะเล หรืออาหารสัตว์ เหตุผลนี้...อมหลวงพ่อโตมาทางขวางก็ไม่อาจเชื่อได้ เจ้ากระทรวงควรตรวจสอบความสำเร็จในการปฏิบัติงาน (KPI) ของกรมฯ ในสังกัดอย่างละเอียด

ต่างกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์จัดความสำคัญการปราบ “หมูเถื่อน” ไว้ในอันดับต้นๆ ...อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าต้นเหตุของหมูเถื่อนมาจากโรคระบาด ASF ผลผลิตสุกรของประเทศหายไปประมาณ 50% เปิดช่องว่างให้ หมูเถื่อนเข้ามาทำกำไรจากส่วนต่างราคาในประเทศที่ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กรมปศุสัตว์ดูแลก็ถูกต้องแล้ว ซึ่งสิ่งที่กรมฯ ปฏิบัติให้เห็น คือมีส่วนร่วมในการจับกุมทุกครั้ง แม้จะล่าช้าในตอนต้นแต่ก็เร่งสปีดและแสดงความเป็นเจ้าภาพในการจับกุมให้ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน

ที่สำคัญ วันนี้ (12 มกราคม 2566) กรมปศุสัตว์ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการทำลายชิ้นส่วนและเนื้อสุกร ของกลางที่ลักลอบนำเข้าจำนวน 700 ตัน (700,000 กิโลกรัม) ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดของไทย ที่จังหวัดเพชรบุรี

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังประกาศนโยบายสำคัญในการยกระดับการเลี้ยงหมู เพื่อป้องกันโรคระบาดและเพิ่มประสิทธิภาพเลี้ยง สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ประกอบด้วย โครงการ Pig Sandbox โครงการส่งเสริมการนำระบบไบโอซีเคียวริตี (Biosecurity) ตลอดจนจ้างงานเพิ่มเติม 6,000 คน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการจับกุมอย่างเข้มงวด ซึ่งปัจจุบันมีข้าราชการที่รับผิดชอบงานนี้อยู่ 4,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปราบปราม และมั่นใจว่าในปี 2566 เกษตรกรเริ่มมีการเลี้ยงใหม่มากขึ้น คาดว่าผลผลิตสุกรจะมีจำนวนประมาณ 16-18 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวนสุกร 15.5 ล้านตัว ซึ่งเป็นการบริโภคในประเทศประมาณ 80-90% ที่เหลือส่งออกในรูปแบบเนื้อแปรรูป เช่น เนื้อปรุงสุกไปที่ญี่ปุ่น และส่งเนื้อดิบไปที่ฮ่องกง ส่วนราคาหน้าฟาร์มคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 96 บาทต่อกิโลกรัม และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

สำหรับปี 2566 กรมปศุสัตว์ยังมีแผนติดตามการขนย้ายซากหมูด้วยระบบ GPS ตรวจและติดตามแบบเรียลไทม์ และป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยจะเริ่มได้ในปีหน้า ใช้งบฯ กลาง 32 ล้านบาท ครอบคลุมถึงเรือขนส่งสินค้า เห็นแผนงานของกรมปศุสัตว์แล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นแน่ เพราะหมูเถื่อนจะไม่ทะลักเข้ามากดราคาในประเทศให้ต่ำ ราคาสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ต่างจากช่วงที่ผ่านมาผลิตแล้วขายไม่ได้ราคาหรือขาดทุน จึงจำเป็นต้องชะลอการเลี้ยงออกไป ผลผลิตน้อยไม่เป็นตามแผนการฟื้นฟูของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สุดท้าย ขอตั้งคำถามกับกรมศุลกากรว่า ท่านเจ้ากรมฯ มีแผนปราบปรามหมูเถื่อนอย่างไร ขอให้ชี้แจงแถลงไขให้เกิดความชัดเจนกับสังคมด้วย ว่าจะเน้นจับแต่ยาเสพติด (เป็นเพราะส่วนแบ่งที่จะได้รับหรืออย่างไร) หรือทุกสินค้าที่ลักลอบเข้ามาผิดกฎหมาย “หมูเถื่อน” เป็นเรื่องปากท้องและความปลอดภัยของคนไทย ควรได้รับการจัดอันดับการปราบปรามอยู่ในระดับต้น... หากปี 2566 กรมฯ ยังไม่จริงจังกับปราบปราม เจ้ากระทรวงการคลัง ควรพิจารณาโยกย้ายข้าราชการมือปราบมือสะอาด มาแทนที่




กำลังโหลดความคิดเห็น