xs
xsm
sm
md
lg

ถนนอินทร์บุรี-วังทอง ยังเหลืออีก 6 ตอนขยายเป็น 4 เลน เหลือ 2 ช่วงรถวิ่งสวนทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำรวจถนนอินทร์บุรี-วังทอง หลังกรมทางหลวงเปิดถนนคอนกรีต 4 เลนใหม่เอี่ยม 28 กิโลเมตร อีกทางเลือกจากกรุงเทพฯ สู่ภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก พบยังก่อสร้างตั้งแต่ บ.หนองขว้าว ถึงแยกเขาทราย จ.พิจิตร 5 ตอน สิ้นสุดสัญญาภายในปี 67 และช่วงก่อนถึงแยกสากเหล็กอีก 30 กม. สิ้นสุดสัญญาปีนี้ แต่ยังมีอีก 2 ช่วงยังเป็นถนน 2 เลนสวนทาง

วันนี้ (12 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ถนนอินทร์บุรี-วังทอง) ตั้งแต่แยกอินทร์บุรี ถึงบ้านหนองบัวทอง ต.ช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ขยายจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จ และเปิดให้สัญจรเต็มรูปแบบเมื่อก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ที่ผ่านมา โดยการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ตอน ขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ผิวทางแบบคอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร ด้านในกว้าง 1.5 เมตร รวมผิวทางกว้าง 11 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบแบริเออร์คอนกรีต พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตลอดเส้นทาง งบประมาณ 2,202.23 ล้านบาท โครงการนี้เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 แต่การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า กระทั่งแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับทางหลวงหมายเลข 11 สายอินทร์บุรี-เชียงใหม่ เป็นทางหลวงแผ่นดินสายประธานแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมการคมนาคมระหว่างจังหวัดภาคกลางกับภาคเหนือ มีระยะทางประมาณ 545 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางแยกต่างระดับอินทร์บุรี บนทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ผ่านพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน ปลายทางบรรจบกับถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีอัตราการเดินทางและขนส่งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทางหลวงแผ่นดินสายนี้ก่อสร้างในระยะเวลาแตกต่างกันเป็นช่วงๆ ทำให้มีเส้นทางไม่ติดต่อกัน โดยในปี 2512 กรมทางหลวงได้ก่อสร้างถนนลำปาง-เชียงใหม่เป็นลำดับแรก เรียกว่าถนนซูเปอร์ไฮเวย์

ต่อมาได้ก่อสร้างเส้นทางช่วงพิษณุโลก-เด่นชัย โดยบางส่วนทับแนวทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1121 แยกร้องโพธิ์-วัดโบสถ์ บางส่วน ที่สร้างไว้เดิมในช่วงปี 2524 ยกระดับทางหลวงหมายเลข 112 วังทอง-บ้านเขาทราย พร้อมกับก่อสร้างเส้นทางช่วงอินทร์บุรี-เขาทรายในช่วงเวลาเดียวกัน และก่อสร้างเส้นทางช่วงเด่นชัย-ลำปางเป็นลำดับสุดท้าย จึงแล้วเสร็จตามโครงการตลอดสาย ต่อมาในช่วงปี 2549-2550 ได้ก่อสร้างเส้นทางช่วงเลี่ยงเมืองลำปาง จากสามแยกโยนก หน้าศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง ไปบรรจบกับเส้นทางช่วงลำปาง-เชียงใหม่ ที่สี่แยกภาคเหนือ จ.ลำปาง ทำให้เส้นทางสายนี้เชื่อมต่อกันตั้งแต่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ถึง อ.เด่นชัย จ.แพร่ กระทั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ได้โอนถนนนิมมานเหมินท์ไปให้กรมทางหลวงดูแล

ที่ผ่านมาทางหลวงหมายเลข 11 ได้ขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร เริ่มจากช่วงเชียงใหม่-ลำปาง แล้วเสร็จเมื่อปี 2544 ตามมาด้วยช่วงพิษณุโลก-อุตรดิตถ์เมื่อปี 2547 ช่วงอุตรดิตถ์-เด่นชัยเมื่อปี 2555 ส่วนช่วงวังทอง-สากเหล็ก ได้ขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรแล้ว ยังเหลือช่วงอินทร์บุรี-สากเหล็กที่ยังเป็นถนน 2 ช่องจราจร ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ก่อสร้างขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร เช่น ช่วงแยกอินทร์บุรี-บ.หนองบัวทอง จ.สิงห์บุรี และ จ.นครสวรรค์ กิโลเมตรที่ 0+000 ถึง 28+000 ในปีงบประมาณ 2562 ตามมาด้วยช่วง อ.ทับคล้อ-อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร กิโลเมตรที่ 142+000 ถึง 172+900 ในปีงบประมาณ 2563 ต่อด้วยช่วงไดตาล-เขาทราย จ.นครสวรรค์ กิโลเมตรที่ 92+275 ถึง 131+798 ในปีงบประมาณ 2564 และช่วง บ.หนองขว้าว-ไดตาล จ.นครสวรรค์ กิโลเมตรที่ 51+000 ถึง 71+665 ในปีงบประมาณ 2565

ภาพ : กรมทางหลวง
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สภาพถนนอินทร์บุรี-วังทอง ปัจจุบันพบว่าเมื่อมาจากกรุงเทพฯ ขึ้นทางแยกต่างระดับอินทร์บุรี ถนนช่วงระหว่างอินทร์บุรี ถึงบ้านหนองบัวทอง ต.ช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นถนน 4 ช่องจราจรที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะบีบเหลือ 2 ช่องจราจรสวนทาง ผ่านแยกตากฟ้า (ถนนพหลโยธิน) เป็นระยะทาง 23 กิโลเมตร ก่อนเข้าเขตก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรที่หลักกิโลเมตรที่ 51 บ้านหนองขว้าว ต.หนองหลวง อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ถึงแยกเขาทราย ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร โดยมีการก่อสร้างดังนี้

1. ตอน บ.หนองขว้าว-ไดตาล ตอน 1 (ปีงบประมาณ 2565) จ.นครสวรรค์ กิโลเมตรที่ 51+000 ถึง 61+000 ระยะทาง 10 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท ดอนเมืองการช่าง จำกัด สิ้นสุดสัญญา 28 ก.ย. 2567

2. ตอน บ.หนองขว้าว-ไดตาล ตอน 2 (ปีงบประมาณ 2565) จ.นครสวรรค์ กิโลเมตรที่ 61+000 ถึง 71+665 ระยะทาง 10.665 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าเอสแอนด์อี สิ้นสุดสัญญา 24 พ.ย. 2567

3. ตอน ไดตาล-เขาทราย ตอน 1 (ปีงบประมาณ 2564) จ.นครสวรรค์ กิโลเมตรที่ 72+275 ถึง 92+275 ระยะทาง 20 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท เอส.เค.วาย.คอนสตรัคชั่น จำกัด สิ้นสุดสัญญา 6 ก.ค. 2567

4. ตอน ไดตาล-เขาทราย ตอน 2 (ปีงบประมาณ 2564) จ.นครสวรรค์ กิโลเมตรที่ 92+275 ถึง 112+275 ระยะทาง 20 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท โรจน์สินก่อสร้าง จำกัด สิ้นสุดสัญญา 7 ก.ค. 2567

5. ตอน ไดตาล-เขาทราย ตอน 3 (ปีงบประมาณ 2564) จ.พิจิตร กิโลเมตรที่ 112+275 ถึง 131+798 ระยะทาง 19.523 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าเอสเอ็น สิ้นสุดสัญญา 5 ก.ค. 2567

หลังจากผ่านสี่แยกเขาทราย ตัดกับทางหลวงหมายเลข 113 (พิจิตร-วังชมภู จ.เพชรบูรณ์) แล้ว จะยังคงเป็นถนน 2 ช่องจราจรสวนทาง เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร กระทั่งมาถึงกิโลเมตรที่ 142+000 เลยสะพานข้ามคลองร่องกอก ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร จะเข้าเขตก่อสร้างถนนเป็น 4 ช่องจราจร ตอน อ.ทับคล้อ-อ.สากเหล็ก (ปีงบประมาณ 2563) ถึงกิโลเมตรที่ 172+900 ระยะทาง 30.9 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท สระหลวงก่อสร้าง จำกัด สิ้นสุดสัญญา 9 ก.ย. 2566

หลังจากผ่านสี่แยกสากเหล็ก ตัดกับทางหลวงหมายเลข 115 (พิจิตร-สากเหล็ก) และทางหลวงหมายเลข 1115 (ถนนสากเหล็ก-บ้านมุง) อ.สากเหล็ก จ.พิจิตรแล้ว จะเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรไปอีกประมาณ 37 กิโลเมตร ถึงสามแยกวังทอง กิโลเมตรที่ 211+841 อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ตัดกับถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก (ทางหลวงหมายเลข 12) จากจุดดังกล่าวตรงไปอีก 13 กิโลเมตร จะเป็นทางแยกต่างระดับอินโดจีน เริ่มจากกิโลเมตรที่ 223+735 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ อ.เด่นชัย จ.แพร่ และ จ.ลำปางต่อไป

ภาพ : กรมทางหลวง
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าแม้จะมีโครงการการขยายถนนอินทร์บุรี-วังทองเป็น 4 ช่องจราจรมากถึง 6 สัญญา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 แต่ยังเหลืออีก 2 ช่วงที่เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจรสวนทาง ได้แก่ ช่วงบ้านหนองบัวทอง ต.ช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ผ่านสี่แยกตากฟ้า ถึงบ้านหนองขว้าว ต.หนองหลวง อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 23 กิโลเมตร และช่วงสี่แยกเขาทราย ถึงสะพานข้ามคลองร่องกอก ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ระยะทาง 10 กิโลเมตร

หากก่อสร้างถนนอินทร์บุรี-วังทอง เป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จตลอดสาย จะสามารถใช้เป็นทางเลือกในการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดพิษณุโลกได้อีกเส้นทางหนึ่ง นอกเหนือจากถนนสายเอเชีย และถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก (ทางหลวงหมายเลข 117) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ ที่ยานพาหนะส่วนใหญ่กระจุกตัวที่จังหวัดนครสวรรค์ แม้ระยะทางจากกรุงเทพฯ-อินทร์บุรี-วังทอง-พิษณุโลก จะอ้อมกว่า 40 กิโลเมตร โดยมีระยะทาง 420 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับเส้นทางปกติ (กรุงเทพฯ-นครสวรรค์-พิษณุโลก) ระยะทางเพียง 374 กิโลเมตรก็ตาม

นอกจากนี้ ถนนสายอินทร์บุรี-วังทอง ยังทำหน้าที่รับรถจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังภาคเหนืออีกทางหนึ่ง เช่น แยกตากฟ้า อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ตัดกับถนนพหลโยธิน รับรถมาจากจังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดสระบุรีและจังหวัดลพบุรี, แยกหนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ตัดกับทางหลวงหมายเลข 225 (ถนนนครสวรรค์-ชัยภูมิ) รับรถมาจากจังหวัดชัยภูมิ ผ่านแยกราหุล อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีรถประจำทางจากจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ใช้เส้นทางนี้เพื่อไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก และแยกเขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ตัดกับทางหลวงหมายเลข 113 (ถนนพิจิตร-วังชมภู) รับรถมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีเส้นทางมาจากจังหวัดเลย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น