เผยงบจัดงานดนตรีในสวน กทม.ยุคชัชชาติ 52 ครั้ง 8.9 ล้าน จ้างวงดนตรี 4 วง 1 แสน แสงสีเสียง 4 หมื่น เช่าเครื่องปั่นไฟ 2 เครื่อง 3 หมื่น ซื้อสื่อออนไลน์-จ้างอินฟลูเอนเซอร์ 4 ครั้ง 8 หมื่น จ้างผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน 4.5 หมื่น พบโยงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
วันนี้ (6 ม.ค.) จากกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งได้หยุดเดินเรือไปก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ผ่านมามีผู้โดยสารน้อยมาก แต่ค่าจ้างเดินเรือยังมีอยู่ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อเดือน มีผู้ใช้บริการเพียง 14,000 คนต่อเดือน ค่าบริการต่อคนค่อนข้างสูงมาก ประมาณ 171 บาทต่อคน จะมีการพิจารณาว่าจะทำต่อไหม ถ้าทำต่อจะคุ้มค่าไหม หรือเอาเงินที่จ่ายไปทำอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่านี้ อาจเป็นรูปแบบใหม่ที่กระตุ้นให้คนใช้บริการมากขึ้น เช่น Shuttle Bus หรือทำเรื่องท่องเที่ยว
เรื่องดังกล่าวเรียกเสียงวิจารณ์จากโลกโซเชียลฯ เหราะเห็นว่าการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมของอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนก่อนทำไว้ดีอยู่แล้วกลับยกเลิก ขณะเดียวกัน ยังหยิบยกกรณีที่กรุงเทพมหานครเพิ่มงบโครงการสัมมนาพาคนไปเที่ยวในหลายสำนักงานเขต มีถึง 72 โครงการ ใน 26 เขต รวมวงเงินสูงกว่า 111 ล้านบาท ที่มีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อนหน้านี้ ภายหลังนายชัชชาติอ้างว่าทำต่อ แต่ต้องประเมินสถานการณ์ เพราะค่าใช้จ่ายต่อหัวแพงมาก จึงต้องประเมินทางเลือกอื่นที่ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง
ล่าสุดเฟซบุ๊กเพจ "ซึ่งต้องพิสูจน์" โพสต์ข้อความระบุว่า "เปิดเอกสาร งบจัดงานดนตรีในสวน กทม.ยุคชัชชาติ 52 ครั้ง 8.9 ล้าน เป็นค่าออกแแบบ จัดทำเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ทางสังคมออนไลน์ เช่น ทีวีออนไลน์ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เว็บ อินฟลูเอนเซอร์ ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง 8 หมื่นบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าตอบแทนวงดนตรี 100,000 จำนวน 52 ครั้ง 5.2 ล้าน ค่าตอบแทนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน 3 ท่าน ท่านละ 15,000 บาท 3 ท่าน 45,000 บาท ค่าอุปกรณ์ จัดการแสดงไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง 40,000 บาท จำนวน 52 ครั้ง 2 ล้าน" พร้อมแนบ ลิงก์สำหรับดาวน์โหลดเอกสาร
เมื่อผู้สื่อข่าวพิจารณาเอกสาร พบว่า ระบุชื่อโครงการ "ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร" หน่วยงานที่รับผิดชอบ กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ปีงบประมาณ 2566 โดยพบว่าค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาจัดกิจกรรมดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน 8,965,000 บาท จำนวน 52 ครั้ง ประกอบด้วย
1. ค่าออกแบบ จัดทำ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ กิจกรรมสู่กลุ่มเป้าหมายทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ทีวีออนไลน์ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เว็บไซต์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น ที่ได้รับความนิยม หรือมีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 500,000 คน จำนวนไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง (20,000 บาท x 4 ครั้ง) รวม 80,000 บาท
2. ค่าตอบแทนวงดนตรี เช่น วงสตริงคอมโบ้ วงแจ๊ซ วงบราสควินเต็ท วงเครื่องสาย วงออร์เคสตรา วงซิมโฟนิกแบนด์ วงวนด์อองซอมเบิล วงสตริงอองซอมเบิล หรือวงดนตรีที่เหมาะสม จำนวนไม่น้อยกว่า 4 วงต่อครั้ง จำนวน 52 ครั้ง (100,000 บาท x 52 ครั้ง) รวม 5,200,000 บาท
3. ค่าตอบแทนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน (15,000 บาท x 3 ท่าน) รวม 45,000 บาท
4. ค่าจัดหาระบบแสงพร้อมอุปกรณ์ไฟแอลอีดี ไฟซูเปอร์สแกน ไฟส่องสว่าง โครงสร้างสำหรับติดตั้งไฟ สายเมนไฟ เครื่องควบคุมและเครื่องสำรองไฟฉุกเฉินให้เพียงพอกับการใช้งานในสถานที่แสดงและบรรยากาศโดยรอบ จำนวน 52 ครั้ง โดยจะต้องติดตั้งและทดสอบให้เสร็จก่อนการจัดแสดงไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง (40,000 บาท x 52 ครั้ง) รวม 2,080,000 บาท
5. ค่าจัดหาเครื่องปั่นไฟ ขนาด 100 เควีเอ จำนวนไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง พร้อมน้ำมันให้เพียงพอสำหรับการจัดการแสดง และการซ้อมก่อนการแสดง จำนวน 52 ครั้ง (30,000 บาท x 52 ครั้ง) รวม 1,560,000 บาท
สำหรับหลักการและเหตุผล ระบุว่า นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) 9 มิติ ที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน มุ่งเน้นให้คนกรุงเทพฯ มีชีวิตที่มีความปลอดภัย เป็นสุข สุขภาพกายใจดี ได้แก่ ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี และเศรษฐกิจดี และโดยเฉพาะด้านสร้างสรรค์ดี มีนโยบายในการเปิดพื้นที่ในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร สร้างความสุขให้กับประชาชนได้รับความสุนทรีย์จากการชมการแสดงดนตรี
กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว พิจารณาเห็นว่าการนำกิจกรรมดนตรีในสวนมาเป็นสื่อสร้างความสุขในวันหยุดของคนเมือง พร้อมเปิดให้ชมฟรี ร่วมสร้างบรรยากาศและเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งกิจกรรมดนตรีในสวนเป็นหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อด้านสร้างสรรค์ดี คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง เป็นส่วนหนึ่งของการบริการสังคมของกรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนจะได้เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายในสวนอันร่มรื่น ได้ชมดนตรีในบรรยากาศที่อบอุ่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยไม่ต้องเดินทางไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัด ปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจร่าเริงและชื่นชอบในดนตรี เป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครได้รับอรรถรสทางดนตรีในรูปแบบต่างๆ
2. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงความสามารถทางด้านดนตรีและมีส่วนร่วมในกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร
3. เพื่อเปิดพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครให้ประชาชนได้มาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
เป้าหมาย จัดการแสดงดนตรีในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 52 ครั้ง ทุกวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00-19.00 น. โดยรับสมัครและคัดเลือกวงดนตรีเยาวชน ประชาชน วงดนตรีจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ภาคีเครือข่าย และศิลปิน ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การแสดงแต่ละครั้งประกอบด้วยการแสดงของวงดนตรีต่างๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 4 วง
ลักษณะโครงการ ประเภทโครงการ โครงการสำคัญตามภารกิจของหน่วยงาน
ความสอดคล้องหรือเชื่อมโยงยุทธศาสตร์/แผน
1. ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4.6 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นยุทธศาสตร์ย่อยที่ 4.6.3 การปลูกฝังและพัฒนาทักษะนอกห้องเรียน
2. แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2566 และแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี พ.ศ. 2566 สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ยุทธศาสตร์ที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการบริหารเมืองรูปแบบอารยะสำหรับทุกคน ยุทธศาสตร์ย่อยที่ 3.4 สังคมพหุวัฒนธรรม เป้าประสงค์ที่ 3.4.2 กรุงเทพมหานครมีกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ด้านพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายให้แก่ประชาชน กลยุทธ์ที่ 3.4.2.1 พัฒนาและส่งเสริมให้มีพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ด้านพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งในเชิงรูปแบบและลักษณะกิจกรรมในกรุงเทพมหานคร เป้าประสงค์ที่ 3.4.4 กรุงเทพมหานครส่งเสริมให้กลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและปรองดอง เมื่อมีกิจกรรมทุกคนพร้อมช่วยเหลือกันโดยไม่แบ่งแยก กลยุทธ์ที่ 3.4.4.1 รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้านพหุวัฒนธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่โดยใช้ช่องทางสื่อที่หลากหลายของกรุงเทพมหานคร
รูปแบบโครงการ เป็นโครงการจัดกิจกรรมแสดงดนตรี ทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล และดนตรีคลาสสิก โดยมีการจัดการแสดงดนตรีในรูปแบบต่างๆ อย่างครบองค์ประกอบของดนตรีประเภทนั้นๆ มีการบูรณาการร่วมกันขององค์ความรู้แขนงต่างๆ เพื่อเผยแพร่ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ สร้างคุณภาพชีวิต รวมถึงเพื่อปลูกฝังให้ประชาชนกรุงเทพมหานครมีใจรักและตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะการดนตรีทุกประเภท
ระยะเวลาและสถานที่ดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566 ณ สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ศูนย์เยาวชน ลานกีฬา หรือสถานที่ที่เหมาะสม
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ประชาชนในกรุงเทพมหานครได้รับความสุนทรีย์จากการชมดนตรี
2. เยาวชนและประชาชนได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถทางด้านดนตรีและมีส่วนร่วมในกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร
3. ประชาชนกรุงเทพมหานครได้ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย และชมการแสดงดนตรี
อนึ่ง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ฉบับแรกของประเทศไทย จัดทำขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 65 และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2560 กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อรับผิดชอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเนื้อหายุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ จำนวน 6 ด้าน เช่น ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนา ระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งกำหนดให้ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์ และสร้างจิตสํานึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง เป็นต้น โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2561 และมีผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี