ดร.อนันต์ จงแก้ววิทยา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา เผย 3 สาเหตุที่บ่งชี้ว่าผู้ติดเชื้อโควิดมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานสูงขึ้น
จากกรณีแพทย์ รวมถึงนักวิจัยออกมาเตือนถึงการติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้ในระยะเวลา 1 ปี พร้อมเผยว่าไม่ว่าจะแข็งแรงแค่ไหนก็เกิดโรคอยู่ดี เตือนอย่าติดจะดีที่สุด
ล่าสุดวันนี้ (11 ธ.ค.) ดร.อนันต์ จงแก้ววิทยา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค-สวทช. ได้ออกมาโพสต์ข้อความ เปิด 3 สาเหตุ "ติดโควิด" เสี่ยงเป็นเบาหวาน โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า
“โควิดกับเบาหวานยังเป็นเรื่องที่ต้องวิจัยกันอีกพอสมควรเลยครับ หลักฐานออกมาชัดว่าความเสี่ยงของเบาหวานจะสูงขึ้นมากเมื่อเป็นโควิด แต่สูงขึ้นด้วยสาเหตุใดยังเป็นสมมติฐานที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป บทความใน Nature Metabolism สรุปความเป็นไปได้ของสาเหตุที่โควิดอาจทำให้คนเป็นเบาหวานได้สูงขึ้นได้ 3 สาเหตุ โดยแต่ละกลไกอาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันเสริมให้เกิดเป็นอาการเบาหวานหลังติดโควิดได้
1. ไวรัสติดเข้าสู่เบตาเซลล์ในตับอ่อนโดยตรง ซึ่งเบตาเซลล์มีหน้าที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อเบตาเซลล์ถูกรบกวนจากการติดเชื้อไวรัส อาจส่งผลให้เซลล์ถูกทำลายโดยไวรัส หรือทำให้การสร้างอินซูลินออกมาได้น้อยลง
2. ไวรัสติดเข้าสู่เซลล์ไขมัน (Adipocytes) ที่เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อไขมัน ส่งผลให้เซลล์ดังกล่าวสร้างโปรตีนชื่อว่า Adipopectin น้อยลง ซึ่งโปรตีนดังกล่าวมีบทบาทสำคัญมากต่อการควบคุมระดับกลูโคสและการสลายตัวของกรดไขมัน การลดลงของ Adipopectin จะส่งผลให้การตอบสนองต่ออินซูลินลดน้อยลง...พูดง่ายๆ คือ เอาน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้น้อยลง
3. ไวรัสติดเข้าสู่เซลล์อื่นๆ โดยเฉพาะเซลล์ตับ ทำให้เซลล์มีการสร้างโปรตีนชื่อว่า GP73 ซึ่งโปรตีนตัวนี้มีผลต่อการกระตุ้นให้เซลล์ตับสร้างกลูโคสและปลดปล่อยออกมาสู่กระแสเลือดเพิ่มขึ้น
การควบคุมป้องกันอุบัติการณ์ของเบาหวานในผู้ป่วยโควิด ดูเหมือนจะมีหลายมิติต้องให้วิจัยกันในเชิงลึกครับ”