กรมการแพทย์ปรับไกด์ไลน์รักษา "โควิด" ฉบับที่ 26 เริ่มวันที่ 30 พ.ย.นี้ ปรับปัจจัยเสี่ยง 3 กลุ่มโรค "ปอดอุดกั้น-หัวใจ-เบาหวาน" ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ต้องมีระยะโรค ช่วยเข้าถึงยาสะดวกขึ้น พร้อมเพิ่ม LAAB เป็นตัวเลือกรักษากลุ่มนี้ คาดปีใหม่ผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่อาการรุนแรงเพิ่มไม่มาก การใช้เตียงระดับ 2-3 ไม่น่าถึง 50%
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยดูแลรักษาโรคโควิด 19 ฉบับที่ 26 ซึ่งผ่านการพิจารณาของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโควิด 19 เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งวันนี้ผู้เชี่ยวชาญได้มีการประชุมชี้แจงแนวทางหรือไกด์ไลน์ให้แก่แพทย์กว่า 200 คน คาดว่าจะประกาศใช้ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ โดยฉบับล่าสุดที่มีการปรับเปลี่ยน คือ 1.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรครุนแรง จากเดิมที่มีรายละเอียดมาก ก็ปรับเหลือเพียงให้การดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตนตาม DMHT อย่างน้อย 5 วัน ให้การดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจแพทย์ หากต้องให้ยาต้านไวรัสก็อาจให้ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ได้ปรับเกณฑ์ของปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เพื่อให้เข้าถึงยาต้านไวรัสสะดวกขึ้น ใน 3 กลุ่ม คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ในระยะ 2 ขึ้นไป , โรคหัวใจและหลอดเลือด Class 2 ขึ้นไป และโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ก็ปรับเป็นไม่มีระยะของโรคและเป็นโรคเบาหวานธรรมดา แพทย์สามารถให้ยาตามดุลยพินิจได้ ซึ่งการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มนี้ ได้เพิ่มภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เข้ามาด้วย ซึ่งอาจให้ LAAB ตัวเดียวหรือให้ร่วมกับยาต้านไวรัสตัวอื่นก็ได้ตามอาการหรือตามดุลยพินิจของแพทย์
"นอกจากนี้ ยังปรับคำแนะนำการให้ยา โดยแพกซ์โลวิดควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ให้ยา 5 วัน 10 โดส เรมดิซิเวียร์ ควรเริ่มใน 5 วันตั้งแต่มีอาการ ให้ 3 วัน 3 โดส LAAB ควรเริ่มใน 7 วันตั้งแต่มีอาการให้ 1 โดส และโมลนูพิราเวียร์ควรเริ่มใน 5 วันตั้งแต่มีอาการ จำนวน 5 วัน 10 โดส" นพ.ธงชัยกล่าว
ถามถึงกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตที่บ้านแล้วค่อยพบว่าเป็นโควิด มาจากการรู้ตัวว่าติดและเข้าถึงการรักษาช้าด้วยหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตมากกว่า 70% เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน รับวัคซีนน้อยกว่าเข็ม 3 และเข็มสุดท้ายนานเกิน 3 เดือน บางส่วนมีอาการแล้วไม่ได้สังเกตหรือไม่ได้ตรวจ คิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น หากมีไข้สูงลอย ไอมาก เริ่มหอบเหนื่อย จึงควรรีบมา รพ. โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ อาการจะเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงขอให้รับมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและดูแลรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ย้ำว่าทุกคนควรรับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ หรือติดแล้วโอกาสจะมีอาการุนแรงและเสียชีวิตน้อยลงมาก แม้จะเคยติดเชื้อมาแล้วก็ไม่ต้องไปนับ ให้นับเฉพาะตัววัคซีน แต่หากติดเชื้อแล้วให้เว้นระยะห่างไป 3 เดือนค่อยไปฉีดเพิ่ม
เมื่อถามถึงสถานการณ์เตียงโควิดในช่วงปีใหม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ขณะนี้เราคืนเตียงไปดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว เหลือเตียงดูแลเฉพาะโควิด 7,564 เตียง ใช้ประมาณ 1,168 เตียง หรือใช้ 19.4% เฉพาะเตียงระดับ 2-3 ที่ดูแลกลุ่มปานกลางถึงรุนแรงใช้ประมาณ 35% แม้ช่วงปีใหม่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าผู้ป่วยอาการรุนแรงจะเพิ่มขึ้นไม่มาก ประเมินว่าการใช้เตียงจนถึงปีใหม่นี้อาจจะไม่ถึง 50% เนื่องจากหากยิ่งรณรงค์ให้คนฉีดวัคซีนมากขึ้น อาการรุนแรงที่จะต้องใช้เตียงก็จะลดลง คิดว่าไม่ต้องปรับเตียงโรคอื่นมาดูแลโควิดเหมือนเมื่อก่อน ส่วนผู้ป่วยโรคอื่นๆ ก็เริ่มกลับเข้าสู่การรักษาตามปกติตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ส่วนผู้ป่วยที่รอคิวสะสม เช่น การผ่าตัด ก็เริ่มเคลียร์หมดแล้ว อย่างโซนย่านการแพทย์โยธีก้มีการแบ่งปันเตียง ห้องผ่าตัด เตียงพักฟื้น ก็ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงเร็วขึ้น สำหรับผู้ป่วยติดโควิดซ้ำพบว่า อาการน้อยกว่าการติดครั้งแรก