xs
xsm
sm
md
lg

กกท.ยันจัดสรรช่องถ่ายสดบอลโลกเท่าเทียม วงในจี้ กสทช.เคลียร์ปม “ไม่ลงขันแต่อยากถ่ายฟรี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกท.ชี้จัดสรรช่องถ่ายทอดบอลโลกเท่าเทียมเป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลให้ทุกช่องก่อนเคาะ วงในถาม 5 ข้อดรามา เช่น ทำไม กสทช.จ่ายแค่ 600 ล้านหากจะให้ถ่ายทอดฟรีทุกช่องทาง ทำไม OTT, IPTV, PayTV และเอไอเอสไม่ลงขันแต่แรกแต่อยากถ่ายฟรี ในอนาคตจะมีใครสนใจประมูลเพื่อแจกสิทธิคู่แข่งหรือไม่ ชี้ปมปัญหาอยู่ที่กฎ Must Have, Must Carry ของ กสทช.

กรณีดรามาการถ่ายทอดฟุตบอลโลกยังเป็นประเด็นต่อเนื่อง แม้ว่า ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศ (กกท.) ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้แล้วว่าการจัดสรรช่องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ได้พยายามทำดีที่สุด ยึดหลักความเสมอภาค ความเท่าเทียมและความเป็นธรรม เป็นหลักการที่ทาง กสทช.ย้ำมากับ กกท. ทำให้มีความโปร่งใส มีความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบกฎหมายต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าสปอนเซอร์ต่างๆ จะได้รับสิทธิมากกว่าก็เป็นเรื่องปกติ แต่จะได้มากกว่าในระดับไหน เป็นสิ่งที่เราได้หารือกันแล้ว ได้ให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้กับทีวีทุกช่องในการเสนอว่าจะให้สิทธิช่องที่เป็นสปอนเซอร์เหนือกว่าช่องที่ไม่ได้เป็นสปอนเซอร์จำนวนมากน้อยอย่างไร

“ผมขอเรียนว่าเราพยายามทำให้มีความเสมอภาคที่สุดแล้ว มีการปรึกษากับทาง กสทช. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกอย่างมีความเป็นธรรมและโปร่งใส ขอน้อมรับความเห็นของทุกฝ่าย และเราก็ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ของทุกฝ่าย แต่ถ้าจะมีการยื่นเรื่องไปที่ กสทช.จริงๆ เราจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยคำตัดสินของ กสทช.อย่างเคร่งครัด และก็คงต้องหารือกันต่อไป เรามาถึงจุดนี้แล้ว ผมอยากขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเสียสละคนละนิดคนละหน่อย เพื่อที่จะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน คิดว่าจะร่วมกันหาทางออกได้" ดร.ก้องศักดกล่าวก่อนที่จะเป็นประเด็นดรามา

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมเปิดเผยว่า เรื่องดรามาบอลโลกคงจบอย่างง่ายดาย หาก กสทช.เจ้าของกฎ Must carry และ Must have จ่ายค่าลิขสิทธิ์ 1,600 ล้านบาทเต็มจำนวน แต่บอร์ด กสทช.อนุมัติมาเพียง 600 ล้าน จนประเทศเข้าสู่ทางตัน คนไทยอาจพลาดชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เป็นผลให้รัฐบาลต้องร้องขอให้เอกชนลงขัน ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เอกชนแทบทุกรายเอามือไพล่หลัง แถมกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ไม่ยอมออกเงิน เพราะรู้ดีว่าอดีตที่ผ่านมากฎ กสทช.เคยสร้างปัญหาในการละเมิดสิทธิของเอกชนที่ประมูลมา

“ในยามวิกฤตขอให้เอกชนลงขัน ทั้งที่แจ้งเงื่อนไขแบบโปร่งใส ทุกรายกลับเงียบ แต่พอมีคนอื่นจ่ายเงิน กลับอยากได้ดู โดยไม่คำนึงถึงเอกชนที่ได้ลงเงิน เราเห็นความพยายามจากทุกฝ่าย เริ่มจากรองเลขาธิการ กสทช.ที่ผลักดันให้ กสทช.ไปช่วยบอลโลก 1,600 ล้านบาท แต่บอร์ด กสทช.อนุมัติแค่ 600 ล้านบาท ทำให้เกิดดรามา ต่อไปเอกชนคงเข็ดขยาด ไม่มีใครกล้าลงทุนคอนเทนต์ระดับโลก เพราะกฎ Must carry ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์เอื้อประโยชน์ทางการตลาดให้ผู้ที่ไม่ได้ลงทุน นอกจากนี้ เอกชนที่เข้ามาช่วยยามวิกฤต ยังถูกกระหน่ำซ้ำ ทำให้ทุกคนเรียนรู้เลยว่า ทุกการประมูลบอลโลก โอลิมปิก และกีฬาระดับโลกต่างๆ จากนี้เป็นต้นไปอย่าได้ลงเงิน เพราะจะถูกริบไปฉายฟรี ไม่สนกลไกตลาด ไม่ต้องเปิดตำรากฎหมายลิขสิทธิ์ โดยอ้างเพียงประกาศ Must Have, Must Carry ของ กสทช. เรียกได้ว่าเป็นการเลือกใช้กฎหมายแบบเห็นแก่ตัว” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจาก กกท.เปิดเผยว่า ประกาศ Must have, Must Carry ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถหาสปอนเซอร์ได้ ทำให้รัฐบาลต้องวิ่งหาคนมาช่วยโค้งสุดท้าย ซึ่งคนไทยยังดูฟรีในแพลตฟอร์มดิจิทัลทีวี โดยก่อนหน้านั้นก็เชิญสื่อทีวีทุกรายทุกช่อง ว่ามีเงื่อนไขแบบนี้ สนใจไหม แต่ก็ไม่มีใครยอมเสียเงิน กกท.ยังได้เชิญ OTT, IPTV และ Pay TV มาถามความประสงค์ว่าใครสนใจมั้ย ก็ไม่มีใครสนใจ ทางด้าน กสทช.โดยรองเลขาฯ ก็ช่วยผลักดันเสนอขอบอร์ดไป 1,600 ล้านบาท แต่ได้รับอนุมัติแค่ 600 ล้านบาท กลายเป็นว่ากฎ Must have, Must Carry กสทช.ทำให้เกิดดรามา เกิดเป็น 5 คำถามถึง กสทช.ที่ต้องเร่งหาคำตอบและแก้ไข เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเกิดประวัติซ้ำรอยซ้ำซากเช่นนี้อีกต่อไป

สำหรับ 5 คำถามเกี่ยวกับดรามาบอลโลกมีดังนี้ 1. ทำไม กสทช.ออกเงินแค่ 600 ล้านบาท หากจะนำมาออกอากาศฟรี ทำไมไม่ออกเงิน 1,600 ล้านบาทเพื่อให้ได้สิทธิ์ทั้งหมด

2. ทำไม OTT, IPTV และ PayTV รวมถึงเอไอเอส จึงปฏิเสธการลงขันแต่แรก แต่อยากได้ถ่ายทอดฟรีทีหลัง ตอนลงขันทำไมไม่ทำเพื่อคนไทย

3. กฎหมายลิขสิทธิ์อยู่เหนือประกาศ Must have, Must Carry กสทช.หรือไม่ จะอ้างประกาศ Must have, Must Carry อย่างเดียวได้หรือไม่

4. ประกาศ Must have, Must Carry ที่เป็นปัญหา จะยกเลิกเมื่อไหร่ จะต้องมีปัญหาอีกกี่ครั้ง

5. จะมีเอกชนรายใดสนใจมาประมูลเพื่อแจกสิทธิ์คู่แข่งถ่ายฟรีในอนาคตอีกหรือไม่ นี่คือ 5 คำถาม ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขของไทยแลนด์โอนลี


กำลังโหลดความคิดเห็น