xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปัญหา “อยากถ่ายไม่อยากจ่าย” กสทช.จ่อยกเลิกกฎ Must Have-Must Carry

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช.จ่อแก้ต้นตอปัญหา “อยากถ่ายไม่อยากจ่าย” โดยอ้างกฎ 'Must Have-Must Carry' ส่อโดนยกเลิกแน่ เพื่อให้ภาคเอกชนมั่นใจเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในอนาคต ชี้กฎ must carry มุ่งให้คนไทยได้ดูผ่านทีวีดิจิทัล แต่มีกล่องไอพีทีวีเข้ามาผสมโรง

ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติให้การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท.ต้องจัดสรรโปรแกรมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ให้ผู้ประกอบการดิจิตอลทีวี ด้วยความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และต้องรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงาน กสทช.ทราบหลังจากจบ MOU นั้น ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎ Must Have-Must Carry เป็นอุปสรรคในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก อย่างไรก็ตามกรณีที่ กสทช.เตรียมที่จะยกเลิกกฎ Must Have และ Must Carry ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้น ทาง กกท.ไม่ขอก้าวล่วง แต่ยังเห็นว่าฟุตบอลโลกมหกรรมกีฬาที่เป็นระดับโลกควรมีการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีบ้าง

แหล่งข่าวจากวงการกีฬา เปิดเผยว่า ทั้งกฎ Must Have และ Must Carry นี้เป็นอุปสรรคในการที่เอกชนจะเข้าไปเจรจา ซึ่งทำให้ไม่สำเร็จ เดิมทีกฎนี้เป็นเจตนาดีที่ต้องการให้ประชาชนได้รับชมมหกรรมกีฬาระดับโลก คาดว่า กสทช.คงจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยล่าสุดเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้มีคำสั่งห้ามบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการเอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ แพร่เสียงและแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มทรูในฐานะผู้ได้รับสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“การถ่ายทอดฟุตบอลโลกในไทยครั้งนี้มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นตลอด ด้วยเพราะมีกลุ่มที่ “เสียงดัง หน้าแดง แรงไม่ออก” อยากถ่ายทอด แต่ไม่อยากจ่าย กลายเป็นวลีที่คนตั้งคำถาม เมื่อเมืองไทยแทบจะอดดูบอลโลก เพราะมีการละเมิดถ่ายทอดลิขสิทธิ์ ยามที่ไทยต้องการลงขันแก้ปัญหาการถ่ายทอดบอลโลก แต่แทบจะไร้คนร่วมลงขัน แต่พอได้ลิขสิทธิ์มา ก็แห่กันมาขย้ำหาประโยชน์โดยอ้างกฎ must carry ซึ่งเปิดให้คนไทยดูผ่านดิจิทัลทีวีได้ แต่ก็มีการผสมโรงโดยกล่องไอพีทีวี ที่หวังถ่ายทอดฟรีไม่เสียตังค์ โดยอ้างกฎของ กสทช. ที่อาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ จนเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องมาขู่ยกเลิกลิขสิทธิ์เมืองไทย หากยังปล่อยให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นนี้ และในอนาคต เอกชนคงไม่กล้าลงทุนคอนเทนต์ที่ถูกลิขสิทธิ์อีกต่อไป บทเรียนนี้จะยังเกิดซ้ำ ๆ หาก กสทช.ยังเป็นผู้ออกกฎที่เอื้อละเมิดลิขสิทธิ์เสียเอง และดูเหมือนว่า กสทช. กำลังหารือเพื่อยกเลิกกฎดังกล่าว เพื่อให้เอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุน ว่าจะได้รับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าประเทศไทยจะแก้ไขปัญหานี้กันต่อไปอย่างไร” แหล่งข่าว กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น