xs
xsm
sm
md
lg

ไทยสมายล์บัสเดินรถสาย 515 ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยฯ สะสมแล้ว 28 จาก 71 เส้นทางปฏิรูปรถเมล์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ : ไทยสมายล์บัส
ไทยสมายล์บัสเดินรถเส้นทางปฏิรูปรถเมล์ล่าสุด สาย 4-61 หรือสาย 515 ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่เคยเป็นเส้นทางทำเงินของ ขสมก.มาก่อน สะสมแล้ว 28 เส้นทาง จากที่ประมูลได้ 71 เส้นทาง อีกด้านควบรวมกิจการกับกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) นำเส้นทางสมาร์ทบัสเดิม 37 เส้นทาง และเรือไฟฟ้า 3 เส้นทาง ครอบคลุมกว่า 120 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ

วันนี้ (26 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า ได้เปิดการเดินรถสาย 4-61 (หรือสาย 515 เดิม) เส้นทางศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเบื้องต้นจะออกจากอู่สมาร์ทบัส ศาลายา ถนนศาลายา-นครชัยศรี ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ผ่านหมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา ห้างแม็คโคร ศาลายา ตลาดศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบรมราชชนนี ผ่านแยกพุทธมณฑล สาย 3 แยกพุทธมณฑล สาย 2 สายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) สน.ตลิ่งชัน สามแยกชัยพฤกษ์ ต่อเนื่องถนนสิรินธร ผ่านห้างตั้งฮั่วเส็ง สะพานกรุงธน ถนนราชวิถี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิ้นสุดเส้นทางที่อนุสาวรีช์ชัยสมรภูมิ เกาะราชวิถี

สำหรับการเดินรถดังกล่าว ไทย สมายล์ บัส ยังคงใช้เลขสาย 515 คิดค่าโดยสารตามระยะทาง เริ่มต้น 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท 4-16 กิโลเมตร 20 บาท และ 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท รับเฉพาะเงินสด ไม่สามารถใช้บัตรโดยสาร ขสมก. และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ และรถดังกล่าวไม่เข้าห้างเซ็นทรัล ศาลายา ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เขตการเดินรถที่ 6 (อู่บรมราชชนนี) จะยังคงนำรถประจำทางปรับอากาศ ยูโรทู ให้บริการจากห้างเซ็นทรัล ศาลายา ตามเดิมไปก่อน จนกว่าไทย สมายล์ บัส จะมีความพร้อม กรมการขนส่งทางบกจึงจะแจ้งให้ ขสมก.ยุติการเดินรถ ตามแผนปฏิรูปรถเมล์ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ ซึ่งรถประจำทาง ขสมก.ที่เหลือจะนำไปเดินรถในเส้นทางอื่นต่อไป


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับสาย 515 ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เคยเป็นหนึ่งในเส้นทางทำเงินให้กับ ขสมก. เนื่องจากเชื่อมต่อระหว่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังย่านศาลายา ซึ่งเป็นย่านสถานศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และแหล่งที่อยู่อาศัยบนถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา รวมทั้งพื้นที่ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ภายหลังกรมการขนส่งทางบกได้เข้ามาปฏิรูปรถเมล์ โดยนำสาย 515 มาปรับปรุงเส้นทางเป็นสาย 4-61 ซึ่งเป็น 1 ใน 77 เส้นทางที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูล แล้วปรากฏว่าไทยสมายล์บัสเป็นผู้ชนะการประมูลไป ปัจจุบันไทยสมายล์บัสเปิดการเดินรถเส้นทางที่ชนะการประมูลไปแล้ว 28 เส้นทาง จากที่ชนะการประมูลได้ 71 เส้นทาง ยังคงเหลืออีก 43 เส้นทาง ได้แก่

1. สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ เปิดการเดินรถวันที่ 20 ส.ค. 2565
2. สาย 4-3 (สาย 17 เดิม) พระประแดง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 9 ก.ย. 2565
3. สาย 4-15 (สาย 82 เดิม) ท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู เปิดการเดินรถวันที่ 9 ก.ย. 2565
4. สาย 1-2E (สาย 34 เดิม) รังสิต-หัวลำโพง (ทางด่วน) เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
5. สาย 1-61 หมู่บ้านเอื้ออาทรสังฆสันติสุข-มีนบุรี เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
6. สาย 2-42 (สาย 44 เดิม) เคหะคลองจั่น-ท่าเตียน เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
7. สาย 3-25E (สาย 552 เดิม) ปากน้ำ-นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง (ทางด่วน) เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
8. สาย 3-53 สถานีรถไฟฟ้าหัวหมาก-เสาชิงช้า เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
9. สาย 4-17 (สาย 88 เดิม) มจร.บางขุนเทียน-บีทีเอส ตลาดพลู เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
10. สาย 4-23E (สาย 140 เดิม) แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
11. สาย 4-27E (สาย 173 เดิม) บางขุนเทียน-แฮปปี้แลนด์ (ทางด่วน) เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
12. สาย 4-34 วงกลมเคหะธนบุรี-พระประแดง เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
13. สาย 1-39 (สาย 71 เดิม) สวนสยาม-คลองเตย เปิดการเดินรถวันที่ 15 ต.ค. 2565
14. สาย 1-52 (สาย 197 เดิม) วงกลมมีนบุรี-ถนนคู้บอน-หทัยราษฎร์ เปิดการเดินรถวันที่ 15 ต.ค. 2565
15. สาย 4-28 (สาย 529 เดิม) แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 15 ต.ค. 2565
16. สาย 4-45 (สาย 81 เดิม) พุทธมณฑล สาย 5-ท่าราชวรดิฐ เปิดการเดินรถวันที่ 15 ต.ค. 2565
17. สาย 1-3 (สาย 34 เดิม) รังสิต-หัวลำโพง เปิดการเดินรถวันที่ 27 ต.ค. 2565
18. สาย 1-4 (สาย 39 เดิม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต-บางเขน เปิดการเดินรถวันที่ 1 พ.ย. 2565
19. สาย 1-37 (สาย 27 เดิม) มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 1 พ.ย. 2565
20. สาย 1-41 (สาย 92 เดิม) เคหะร่มเกล้า-แฮปปี้แลนด์ เปิดการเดินรถวันที่ 1 พ.ย. 2565
21. สาย 3-1 (สาย 2 เดิม) ปากน้ำ-ท่าเรือสะพานพุทธ เปิดการเดินรถวันที่ 3 พ.ย. 2565
22. สาย 3-2E (สาย 2 เดิม) ปู่เจ้าสมิงพราย-ท่าเรือสะพานพุทธ (ทางด่วน) เปิดการเดินรถวันที่ 3 พ.ย. 2565
23. สาย 1-58 (สาย 525 เดิม) สวนสยาม-ลำลูกกาคลอง 12 เปิดการเดินรถวันที่ 19 พ.ย. 2565
24. สาย 1-59 (สาย 526 เดิม) สวนสยาม-เอื้ออาทรสังฆสันติสุข เปิดการเดินรถวันที่ 19 พ.ย. 2565
25. สาย 4-53 (สาย 149 เดิม) บรมราชชนนี-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) เปิดการเดินรถวันที่ 19 พ.ย. 2565
26. สาย 4-49 (สาย 170 เดิม) บรมราชชนนี-หมอชิต 2 เปิดการเดินรถวันที่ 20 พ.ย. 2565
27. สาย 4-52 (สาย 146 เดิม) วงกลมสายใต้ใหม่-ถนนเพชรเกษม เปิดการเดินรถวันที่ 20 พ.ย. 2565
28. สาย 4-61 (สาย 515 เดิม) ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 25 พ.ย. 2565

ภาพ : ไทยสมายล์บัส
อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่อู่ไทยสมายล์บัส สาขาตลิ่งชัน น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ร่วมพิธีแถลงข่าวการควบรวมกิจการ ไทย สมายล์ บัส และ ไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ โดยมีนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA และ น.ส.ออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร (สายงานสนับสนุน) บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ภายใต้แนวคิด Thai Smile as one ไทยสมายล์บัสรวมใจเป็นหนึ่ง

โดยได้ควบรวมกิจการรถโดยสารและเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 21 บริษัท เป็นผลให้ไทยสมายล์บัสได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA และได้รับการสนับสนุนเงินทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ หรือ BYD เพื่อใช้ในการลงทุนในกิจการรถโดยสารและเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า เป็นระบบให้บริการขนส่งมวลชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะสามารถเชื่อมการเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยครอบคลุมมากกว่า 120 เส้นทางแบบครบวงจรเป็นประเทศแรกและใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ทั้งนี้ กลุ่ม EA นำบริษัทย่อยเข้าลงทุนใน BYD ในสัดส่วน 23.63% คิดเป็นมูลค่า 6,997 ล้านบาท และขายกลุ่มธุรกิจให้บริการรถโดยสารในเครือ EA (สมาร์ทบัส เดิม) จำนวน 37 เส้นทาง และเรือโดยสาร MINE SMART FERRY อีก 3 เส้นทาง ให้แก่ไทย สมายล์ บัส ให้ควบรวมกิจการในคราวเดียวกัน เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เสริมศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม EA ให้ครบวงจร และสร้างโอกาสทางธุรกิจจากการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด พร้อมร่วมมือกับ BYD ในโครงการขายคาร์บอนเครดิตกับรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย

ขณะที่ไทย สมายล์ บัส ได้รับเงินทุนสนับสนุนโดย BYD ให้กู้ยืม 8,550 ล้านบาท และกลุ่ม EA สนับสนุนด้านเทคโนโลยี บุคลากร การวางแผนกลยุทธ์ การบริหารจัดการต่างๆ โดยประมาณการไว้ว่าต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นอีกกว่า 18,000 ล้านบาท ปัจจุบันไทยสมายล์บัสมีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 35 เส้นทาง 612 คัน และรถโดยสารสาธารณะเอ็นจีวี (สมาร์ทบัส เดิม) 37 เส้นทาง 365 คัน และแผนที่จะเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมด เป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป ส่วนเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าภายใต้ชื่อ MINE SMART FERRY มี 3 เส้นทาง รวม 23 ลำ และจะมีเรืออีก 17 ลำให้บริการเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังเตรียมนำระบบการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร HOP CARD มาติดตั้งและเริ่มใช้งานจริงบนรถประจำทางไทย สมายล์ บัส เพื่อรองรับระบบการคิดค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย หรือ Single Price ในกลุ่มไทยสมายล์บัสอีกด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า บัตร HOP CARD เป็นบัตรที่กลุ่ม EA ออกร่วมกับธนาคารกรุงไทย นำมาใช้ครั้งแรกกับเรือโดยสาร MINE SMART FERRY โดยได้แจกบัตรฟรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ปัจจุบันจำหน่ายที่ท่าเรือ MINE SMART FERRY ในราคาใบละ 20 บาท อายุการใช้งานบัตร 5 ปี สามารถเติมเงินผ่านช่องทาง Krungthai NEXT ผ่านการสแกน QR หลังบัตร และ Mobile Banking ทุกธนาคาร ผ่านการสแกน QR หลังบัตร รวมทั้งผ่านเครื่องเอทีเอ็มกรุงไทย (ค่าธรรมเนียม 5 บาทต่อรายการ) สามารถคงยอดเงินได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อบัตร

ภาพ : ไทยสมายล์บัส
กำลังโหลดความคิดเห็น