xs
xsm
sm
md
lg

รถเมล์มาหาพระราม 2 จะเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่เพื่อ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ขยายเส้นทางรถประจำทางสาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน ออกไปอีก 9 กิโลเมตร ถึงสนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาคร

พร้อมกับเปลี่ยนเลขสายใหม่เป็น สาย 4-18 สมุทรสาคร-พระรามที่ 2-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี ส่งผลทำให้มีระยะทางเดินรถจากเดิม 31 กิโลเมตร เป็น 40 กิโลเมตร ถือเป็นข่าวดีของชาวถนนพระรามที่ 2 และชาวสมุทรสาคร

เบื้องต้น ใช้รถโดยสารธรรมดา 9 คัน ค่าโดยสาร 8 บาทตลอดสาย และรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี 28 คัน ค่าโดยสารคิดตามระยะทาง 15-20-25 บาท ออกจากท่าสมุทรสาคร 04.00-22.00 น. ท่าคลองสาน 05.00-23.00 น.

ถือเป็นข่าวดีของชาวถนนพระรามที่ 2 และชาวสมุทรสาคร หลังจากที่รถเมล์และรถตู้ ซึ่งเคยเป็นรถร่วม บขส. สาย 980 กรุงเทพฯ-สมุทรสาคร ล้มหายตายจาก ก็เหลือเพียงแค่รถสองแถว สาย 8328 สมุทรสาคร-เคหะธนบุรี เท่านั้น

ที่ผ่านมาถนนพระรามที่ 2 ความเจริญเข้ามามาก นอกจากบ้านจัดสรรและโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ และห้างสินค้าเกี่ยวกับบ้านเปิดให้บริการ

แต่ช่วงมหาชัยเมืองใหม่ ถึงตัวเมืองสมุทรสาคร กลับไม่มีรถเมล์ผ่านแม้แต่สายเดียว


ขณะเดียวกัน ยังเคยมีการเจรจาระหว่างเขตการเดินรถที่ 5 กับศูนย์การค้าเซ็นทรัล มหาชัย เพื่อกำหนดจุดจอดรถประจำทาง สาย 105 เมื่อเดือนมีนาคม 2561 หลังศูนย์การค้าเปิดให้บริการไม่นานนัก แต่ก็เงียบหายไป

พร้อมกันนี้ ยังมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย พิจารณาการประชาพิจารณ์ โครงการขยายขนส่งสาธารณะ สาย ปอ.105 และสาย ปอ.7 หรือ ปอ.68 ให้เข้าถนนพระรามที่ 2 ถึงตัวเมืองสมุทรสาคร

อีกทั้งยังมีความพยายามเดินรถประจำทางมายังถนนพระราม 2 เช่น รถร่วม ขสมก. สาย ปอ.7 สมุทรสาคร – หัวลำโพง (สมัยนั้น) เคยเปลี่ยนเส้นทาง แต่ถูกขนส่งสั่งระงับ เพราะเดินรถไม่ถูกต้องตามเส้นทางที่ได้รับอนุญาต

กระทั่งวันที่ 28 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ประกาศเส้นทางรถเมล์ใหม่ 258 เส้นทาง หนึ่งในนั้นคือสาย 4-18 สมุทรสาคร-พระราม 2-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี

เมื่อ ขสมก. ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ต้นปี 2565 จึงได้ตรวจเส้นทางปฏิรูปสาย 4-18 ทีแรกจะใช้ห้างเซ็นทรัลมหาชัยเป็นจุดพักรถ แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นบริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท. มหาชัยกิจเจริญแทน

ทราบมาจากพนักงานเก็บค่าโดยสารว่า มีรถประจำทางปรับอากาศย้ายมาจากสาย 140 อู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำนวน 8 คัน พร้อมกับพนักงานอีก 24 คน นอกจากนี้ยังนำรถบางส่วนจากสาย 76 และ 141 มาให้บริการด้วย

สาเหตุที่มีการย้ายรถเมล์ อธิบายสั้นๆ ก็คือ คณะรัฐมนตรีมีมติเปลี่ยนหน่วยงานที่กำกับดูแลรถเมล์ จาก ขสมก. มาเป็น “กรมการขนส่งทางบก” แต่เพียงผู้เดียว กระทั่งมีการกำหนดเส้นทางรถเมล์ใหม่ และเปิดประมูลใหม่ 77 เส้นทาง

ปรากฏว่า บริษัทเอกชนที่ชื่อว่า “ไทย สมายล์ บัส” คว้าสัมปทานรถเมล์ไปถึง 71 เส้นทาง ส่วน ขสมก. ไม่ได้สักเส้นทางเดียว ที่แพ้ประมูลเพราะไม่มีรถเมล์ใหม่ แถมยังสูญเส้นทางรถเมล์ไปอีก 28 เส้นทาง

หนึ่งในนั้นคือ สาย 140 อู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายทำเงินของ ขสมก. มีรถประจำทางให้บริการมากถึง 54 คัน เมื่อกำหนดเป็นสาย สาย 4-23E ต้องสูญเสียเส้นทางไปให้เอกชน คือ ไทย สมายล์ บัส

มีคนสงสัยว่า ก่อนหน้านี้ ขสมก. เคยซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขึ้นมาใหม่ 489 คัน ทำไมถึงแพ้ประมูล เผอิญกรมขนส่งฯ ดันกำหนดสเปกต้องเป็น “รถใหม่ อายุไม่เกิน 2 ปี นับจากวันจดทะเบียนครั้งแรก” แค่ข้อนี้ ขสมก. ก็แพ้แล้ว

เพราะรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน จดทะเบียนครบเมื่อปี 2562 ปัจจุบันอายุการใช้งานมากกว่า 3 ปี

ทีแรก ขสมก. จะยกเลิกเดินรถสาย 140 ไปเลย แต่เผอิญเอกชนไม่พร้อม มีรถประจำการเพียงแค่ 27 คัน ที่สุดแล้วผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคม จึงร้องขอให้ ขสมก. เดินรถร่วมกันไปก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ถึงกระนั้น ขสมก. จำเป็นต้องลดจำนวนรถโดยสารลง จาก 54 คันเหลือ 30 คัน หากเอกชนมีความพร้อมก็จะยุติการเดินรถ แล้วนำรถโดยสารไปให้บริการเส้นทางอื่น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกสำรองสัมปทานให้กับ ขสมก. 107 เส้นทาง

สำหรับสาย 4-18 สาเหตุที่ใช้รถเมล์เอ็นจีวี เพราะออกแบบมาให้วิ่งระยะทางที่ไกลกว่า ถังก๊าซบรรจุได้มากกว่า เทียบกับรถปรับอากาศยูโรทู สีส้ม ที่ถังก๊าซบรรจุน้อยกว่า และอายุการใช้งานมากกว่า เสี่ยงต่อการเกิดรถเสียกลางทาง

สำหรับแผนการเดินรถที่ออกมานั้น ทราบมาจากพนักงานเก็บค่าโดยสารว่า จะให้บริการจากท่ารถสมุทรสาคร เที่ยวสุดท้าย 22.00 น. ไปก่อน แต่หากมีผู้โดยสารใช้บริการน้อย อาจจะปรับลดเที่ยวสุดท้ายลงมาเหลือแค่ 21.30 น.

ที่ขลุกขลักไม่แพ้กันก็คือผู้โดยสาร หลายคนไม่ทราบว่าเปลี่ยนเลขสาย ด้วยความลังเลจึงไม่กล้าใช้บริการ ผู้โดยสารบางคนขึ้นมาถามว่า “ผ่านบางปะแก้วไหม” “ผ่านดาวคะนองไหม” “ผ่านสำเหร่ไหม”

พนักงานก็ต้องตอบว่า “ผ่านค่า 105 เดิมนะคะ” บางครั้งก็ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่าตอนนี้ขยายเส้นทาง ผ่านเซ็นทรัลมหาชัย โลตัสมหาชัย (สาขา 2) ตลาดทะเลไทย ซึ่งคาดว่าจะต้องอธิบายเป็นแบบนี้ไปอีกนาน

สาย 140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เส้นทางตกไปอยู่ในมือเอกชน โดยกำหนดเป็นสาย 4-23E
การเปลี่ยนสายรถเมล์ใหม่ สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ประกาศเส้นทางรถเมล์ใหม่ 258 เส้นทาง ปรากฏว่ามีการกำหนดให้ใช้เลข 1, 2, 3, 4 แทนเลขโซนต้นทาง ตามด้วยขีดและเลขสายรถเมล์
เลข 1 หมายถึงโซนกรุงเทพฯ เหนือ รังสิต มีนบุรี, เลข 2 หมายถึงโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน โซนตะวันตก นนทบุรี, เลข 3 หมายถึงโซนกรุงเทพฯ ตะวันออกเฉียงใต้ สมุทรปราการ และเลข 4 หมายถึงโซนกรุงเทพฯ ใต้ เพชรเกษม พระรามที่ 2

ยกตัวอย่างเช่น สาย 1-1 บางเขน-ถนนวิภาวดีรังสิต-หัวลำโพง ต้นทางอยู่โซนกรุงเทพฯ เหนือ หรือสาย 2-36 ไทรน้อย-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ต้นทางอยู่ในโซนจังหวัดนนทบุรี ซึ่งสาย 4-18 อยู่ในโซนกรุงเทพฯ ใต้พอดี

ปรากฏว่าการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ ที่กำหนดโดยกรมการขนส่งทางบก กลายเป็นที่วิจารณ์แก่ผู้ใช้รถเมล์เป็นประจำ เพราะสร้างความสับสน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่คุ้นเคยกับเลขสายนั้นๆ เป็นประจำ

ไม่นับรวมคนที่มาจากต่างจังหวัดนานๆ ครั้ง ถามเลขสายอะไร ถ้าเป็นตัวเลขมีขีดด้วยก็สื่อสารลำบาก เช่น สาย 4-18 จะให้พูดว่า “สี่ขีดหนึ่งแปด” คนต่างจังหวัดที่ไม่ทราบมาก่อนก็งงว่าสายอะไรของมัน (วะ)

และไม่นับรวมคนที่กังขาว่า การกำหนดสายรถเมล์ใหม่มีประโยชน์อะไร? แทนที่จะพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เช่น ปรับปรุงสภาพรถให้พร้อมเสมอ รอรถไม่นาน จอดตรงป้าย บริการสุภาพ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญมากกว่า

การเปลี่ยนเลขสายรถเมล์มีการพูดถึงกันมานานแล้วในกลุ่มบัสแฟนบนโซเชียลฯ เช่น เพจ “รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai” ก็ตั้งหัวข้อกันเป็นเรื่องเป็นราว มีลูกเพจแสดงความคิดเห็น ปรากฎว่าร้อยทั้งร้อยไม่อยากให้เปลี่ยน


แต่ถ้าจะย้อนกลับไปในอดีต ที่ผ่านมารถประจำทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์มาแล้ว เมื่อปี 2544 รถตระกูล ปอ. ถูกเปลี่ยนเป็นเลขสายขึ้นต้นด้วย 5 จำนวน 45 เส้นทาง

เช่น สาย ปอ.1 มีนบุรี-ปากคลองตลาด (ขณะนั้น) ถูกเปลี่ยนเป็น สาย 501 ปัจจุบันลดระยะเหลือแค่หัวลำโพง เมื่อมีการปฏิรูปรถเมล์ในปี 2565 กลายเป็น สาย 1-53 หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง-ท่าช้าง แต่ตัดเส้นทางช่วงมีนบุรีทิ้ง

ต่อมาในช่วงปี 2553 ที่มีโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พบว่ามีการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ เป็นสาย 601-750 แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

จะมีก็แต่สาย 710 วงกลมอรุณอมรินทร์–ถนนกาญจนาภิเษก, สาย 720 วงกลมกัลปพฤกษ์-ถนนพระราม 2 และสาย 751 สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า-สะพานพระราม 4 แต่เปลี่ยนเป็นสาย 208, 209 และ 210 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

นับจากนี้หากยังคงเดินหน้าเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ ขอให้ ขสมก. และผู้ประกอบการเดินรถอื่นๆ ทำสติกเกอร์เลขสายเดิม เช่นคำว่า “สาย 105 เดิม” กำกับแบบชัดๆ และ “ตัวหนังสือโตๆ” ทั้งที่กระจกหน้ารถและประตูขึ้นรถ

เพราะที่ผ่านมา ขสมก. ใช้วิธีติดประกาศภายในรถเสียยืดยาว โดยที่ไม่รู้ว่าคนสมัยนี้ “ยาวไปไม่อ่าน” พอเปลี่ยนเส้นทางปุ๊บ คนก็สับสนกันทั้งบาง พนักงานก็ต้องคอยตอบคำถาม หรือไม่อย่างนั้นคนลังเลไม่กล้าขึ้น ขสมก. ก็ขาดรายได้

ส่วนกรมการขนส่งทางบกจะเปลี่ยนใจ มาใช้เลขสายเดิมในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ตามเสียงเรียกร้องของคนใช้รถเมล์หรือไม่ ก็ไม่คาดหวังอะไรมากแล้วกับหน่วยงานนี้ เพราะที่ผ่านมาเหมือนหน่วยงานนี้ไม่ค่อยได้รับฟังอะไรเลย

นำไปสู่คำถามที่ว่า การปฏิรูปรถเมล์เอื้อประโยชน์ให้กับใคร? ให้ประชาชนคนใช้รถเมล์ หรือผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง ที่พยายามผลักดันรถเมล์ไฟฟ้า คันละประมาณ 6.9 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้รถเมล์ไฟฟ้ามีผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น

ตราบใดที่ผลงานชิ้นโบว์ดำของกรมการขนส่งทางบก อย่างการปฏิรูปรถเมล์แบบผิดทิศผิดทาง ยังคงค้างคาใจ ขสมก. ที่ถูกลดสถานะเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง และประชาชนคนใช้รถเมล์ 

เมื่อไม่มีทางเลือก ก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไป เปรียบวลีที่ว่า "ยังไม่ตายก็อยู่กันไป"
กำลังโหลดความคิดเห็น