xs
xsm
sm
md
lg

“หมอแล็บฯ” แนะวิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเองทำอย่างไร ย้ำ “ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอแล็บแพนด้า” โพสต์ให้ความรู้แนะวิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเองทำอย่างไร สำหรับมะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ไม่มีวัคซีนป้องกัน และ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยง พร้อมย้ำว่า “ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้”

วันนี้ (25 พ.ย.) เพจ “หมอแล็บแพนด้า” หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้แนะวิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเองทำอย่างไร โดยระบุว่า "เมื่อวานได้แชร์เรื่องที่พยาบาลท่านหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านม รู้มั้ยครับว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้หญิงมาก เพราะมะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ไม่มีวัคซีนป้องกัน และ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยง แปลง่ายๆ ก็คือ “ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้”

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ควรจะตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ก่อนการตรวจด้วยตัวเองต้องรู้จักสังเกตขนาดนมของตัวเองซะก่อน จะได้รู้ว่านมเรามันมีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง นมแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนนมจะใหญ่และแข็งมากขึ้นก่อนมีประจำเดือน พอกินยาคุมเต้านมก็จะเต่งขึ้น แต่บางคนเต้านมอาจจะแข็งตลอดเวลาที่มีประจำเดือน

เพราะฉะนั้นเวลาที่เหมาะในการตรวจเต้านมคือ 5-7 วันหลังจากมีประจำเดือนวันสุดท้าย เพราะช่วงนี้เต้านมจะอ่อนนุ่ม วิธีการตรวจด้วยตัวเองมีดังนี้ครับ

1. แบบแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำสลับขึ้นลงและไปมาให้ทั่วทั้งเต้านม

2. แบบก้นหอยหรือแบบตามเข็มนาฬิกา คลำจากบริเวณหัวนมวนออกตามเข็มนาฬิกา จนถึงบริเวณรักแร้ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้บีบหัวนมดูว่ามีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมามั้ย

3. แบบรัศมีรอบเต้า เริ่มจากส่วนบนเต้านมเข้าหาฐานและขยับนิ้วหัวแม่มือจากฐานถึงหัวนม ทำซ้ำเป็นรัศมีรอบเต้านม

ถ้าจะให้พูดแบบง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่ คลำให้มันทั่วๆ นมเรานั่นแหละ และสัญญาณอันตรายที่เราต้องไปหาหมอ ก็คือ
- เจอก้อนหรือเนื้อที่เป็นไตแข็งผิดปกติตรงบริเวณเต้านม

- มีน้ำเหลืองและเลือดไหลจากหัวนม

- ผิวหนังบริเวณเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นรอยปนัดดา (บุ๋ม) หรือผิวหนังบวมหนาตึงเหมือนผิวของเปลือกส้ม

- หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ

- ผิวหนังบริเวณลานหัวนมมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีผื่นคันที่เป็นๆ หายๆ

- ขนาดและรูปร่างต่างกันอย่างผิดปกติ ที่เล่ามาทั้งหมด คือความผิดปกติที่เราพบได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าไปหาหมอ หมอก็จะมีการตรวจวินิจฉัยโรคที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น

การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็กเพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่เจอ แต่ประโยชน์นี้จะใช้ได้ดีในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งเนื้อเต้านมจะไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรมจะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในส่วนคนอายุน้อยจะแปลผลแมมโมแกรมยาก และในกรณีที่พบก้อนก็บอกไม่ได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ

การตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) มีข้อเด่นที่สามารถใช้ในคนอายุน้อย และสามารถช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆ ในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ทำให้การวางแผนการรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น จากนั้นหมอจะทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การใช้ยาเคมีบำบัดและยาต้านฮอร์โมน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมคลำนมดูนะครับ “คำคมแค่ลมปาก คลำนมต่างหากที่อยากทำ” "




กำลังโหลดความคิดเห็น