xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยสารกัญชายับยั้ง "เซลล์มะเร็งเต้านม" ในหนูได้ดี จ่อดัน CBD สูงเข้าบัญชียาหลักฯ 1 รักษาลมชักในเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ระดมทีมวิจัยสถาบันเฉพาะทางตั้งโต๊ะแถลง "กัญชาทางการแพทย์" พบ CBD สูงช่วยรักษาลมชักในเด็กได้ผลดี จ่อดันเข้าบัญชียาหลักสมุนไพร บัญชี 1 ช่วยหมอจ่ายสะดวกขึ้น ส่วนรักษามะเร็ง สารสกัดกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมในหนูทดลองได้ผลดี จ่อวิจัยต่อในคน พร้อมวิจัย CBD หยอดใต้ลิ้นลดอาการถอนยาบ้าทั้งที่มีและไม่มีอาการจิตเวช ด้านสถาบันโรคผิวหนังต่อยอดทำเวชสำอางด้วยเทคโนโลยีนาโน

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ นำทีม ผอ.สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และสถาบันโรคผิวหนัง แถลงข่าวกัญชาทางการแพทย์รักษาโรคและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

นพ.โอภาสกล่าวว่า สธ.จัดให้มีแผนบริการสุขภาพ (Service plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมการนำกัญชามาใช้ในผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชามากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบ 2564 เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน อย่างไรก็ตาม คนติดภาพจำว่า "กัญชา" เป็นยาเสพติด แต่ปัจจุบันไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว เป็นสมุนไพรมีประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะการรักษา สุขภาพ และเศรษฐกิจ แต่ไม่มีอะไร 100% หากใช้ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมก็อาจเกิดผลกระทบได้ จึงต้องพัฒนาองค์ความรู้นำมาใช้ประโยชน์และลดการเกิดโทษ ซึ่งปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ศึกษาวิจัยเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน


นพ.ธงชัย กล่าวว่า กัญชาเป็นเรื่องใหม่ของสังคมและบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีการนำมาใช้ดูแลรักษา หลายโรคก็ได้ประโยชน์ หลายโรคน่าจะได้ประโยชน์ก็ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอย่างกรมการแพทย์ หน่วยงานวิชาการต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการรักษาโรค สร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศได้ เนื่องจากสามารถปลูกและผลิตเองได้ในประเทศ ส่วนการติดตามอาการแพ้หรือต้องมานอน รพ.จากการใช้กัญชา เช่น มึนศีรษะ เป็นต้น ยังไม่มีผู้เสียชีวิต อย่างไรก้ตาม แนวโน้มช่วงแรกจะเพิ่มขึ้นเหมือนตอนปี 2562 ที่เริ่มเปิดใช้ทางการแพทย์ พอเริ่มใช้ก็มีผลกระทบขึ้นมา มีอาการมึนเมา เนื่องจากใช้ไม่ถูกวิธี ผู้ใช้ยังไม่มีความรู้ แต่หลังให้ความรู้มากขึ้นก็ลดลง

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคลมชักรักษายากในเด็ก บางครั้งทำให้เด็กเกิดอาการชัก 50-100 ครั้งต่อวัน บางส่วนมีการใช้ยาแล้วแต่ไม่สามารถหยุดการชักได้ ซึ่งจากการศึกษาการใช้สารสกัดกัญชา CBD สูง ร่วมกับยากันชักหลายชนิดเป็นระยะเวลา 12 เดือน จำนวน 14 ราย พบว่า หยุดชักได้ขณะนั้น 14% และลดอาการชักลงถึงครึ่งหนึ่งได้ 50% ที่ผ่านมามีการผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 3 และมีการใช้พร้อมติดตามผลการรักษาเพื่อให้มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลที่เชื่อถือได้ นำไปสู่การเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 1 ในปี 2567 ต่อไป ซึ่งบัญชี 3 จะต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่าน้น แต่บัญชี 1 สามารถสั่งจ่ายได้โดยแพทย์ทุกคน

ส่วนโรคพาร์กินสันอาจพบมากขึ้นจากการเข้าสุ่สังคมสูงอายุ การรักษาจะมียาลดอาการเกร็ง ซึ่งให้ยาไปสักระยะอาจมีอาการดื้อยาและไม่ได้ผล มีการให้สารสกัด CBD สูงเพื่อลดอาการเกร็ง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ภาวะกล้ามเนื้อเกร็ง ขยับยุกยิก นอนหลับ และความเป็นอยู่ดีขึ้น สำหรับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS) จะมีการเกร็ง บิดและเจ็บ ทุกข์ทรมาน จะใช้ THC:CBD 1:1 ตีพิมพ์แล้วว่ามีประโยชน์ลดอาการเจ็บ บิดเกร็ง และอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ จะผลักดันเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 1


นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า เรามีการใช้กัญชาทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดอาการไม่พึงประสงค์อาการจากตัวโรค ผลข้างเคียงของยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2565 มีผู้รับบริการแผนปัจจุบัน 433 ราย แผนไทย 52 ราย ให้คำปรึกษา 1,441 ครั้ง พบว่า ผู้ป่วยที่มามักมาด้วยมะเร็งศีรษะและลำคอมากที่สุด ส่วนใหญ่ 70% อยู่ในระยะที่ 4 หรือระยะท้าย อาการหลักคือนอนไม่หลับ 39% ปวด 35% หลังดูแลมีอาการดีขึ้น 58% ส่วนการรักษาตัวโรคมะเร็งยังอยู่ในการวิจัย ซึ่งในระดับหลอดทดลองพบว่า สารสกัดกัญชายับยั้งได้ดีที่สุด 3 ตัว คือ เซลล์มะเร็งตับอ่อน ท่อน้ำดี และเต้านม เราศึกษาต่อโดยนำมาปลูกถ่ายในหนูดทดลอง เปรียบเทียบ 5 กลุ่ม คือ หนูกินยาหลอก รับยาเคมีบำบัด รับสารสกัดกัญชาขนาดต่ำ กลาง และสูง พบว่า สารสกัดกัญชาลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และเพิ่มการตายแบบ Apoptosis ที่ไม่อันตรายต่อคน ได้ผลดีในเซลล์มะเร็งเต้านม และไม่มีผลข้างเคียงต่อการกินอาหาร นักหนักตัว และเคมีในเลือด ซึ่งเราจะแปลงขนาดยาเพื่อไปวิจัยในคนต่อไปที่มีอีกหลายเฟสกว่าจะออกมาเป็นยา

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สบยช. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมวิจัยนำสารสกัด CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น มาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต Amisulpride เพื่อช่วยลดอาการทางจิตและลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรงในผู้ป่วยเสพติดเมทแอมเฟตามีนที่มีอาการทางจิตเวช เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาต้านอาการทางจิตร่วมกับยาหลอก เพื่อดูว่าอาการจิตเวช อาการอยากยาดีขึ้นหรือไม่ พฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรงลดลงหรือไม่ ลดการเสพซ้ำระยะยาวหรือไม่ และเตรียมวิจัยสาร CBD หยอดใต้ลิ้น มาใช้ร่วมกับยามาตรฐานเพื่อลดอาการถอนและอาการอยากเมทแอมเฟตามีน เทียบกับยาทดแทน Methylphenidate ร่วมกับยามาตรฐาน เพื่อนำมาใช้ทดแทนเมทแอมเฟตามีนตามแนวทางลดอันตรายจากการใช้ยา ซึ่งที่เราใช้ CBD เพราะไม่ได้เป็นสารเสพติด มีฤทธิ์ทางจิตประสาทเชิงบวก ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดวิตกกังวล

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า กัญชาสำหรับโรคผิวหนังและความงามนั้น เราพบว่า สารสกัดกัญชามีฤทธิ์เด่น 3 ด้าน คือ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และการปรับสมดุลภาวะภูมิคุ้มกัน ซึ่งเซลล์ผิวหนังจะมีตัวรับของสารกัญชาโดยเฉพาะ สามารถทาได้ ผลข้างเคียงจึงค่อนข้างน้อย เราจึงนำมาพัฒนาทั้งทางการแพทย์รักษาโรคผิวหนัง ซึ่งเรากำลังวิจัย 4 โรค คือ สะเก็ดเงิน ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง และสิว คาดว่าใช้เวลาวิจัย 1 ปีครึ่ง และอีกด้านพัฒนาเวชสำอาง ทำมา 3 ปี 2 โครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเวชสำอางรวม 18 รายการ ซึ่งตัวที่เด่นคือฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ใช้โดสน้อยเพียง 0.08-0.01 ที่จะได้ผล ต่างจากการปรับภุมิคุ้มกันที่ต้องใช้โดสถึง 300 และต้านอนุมูลอิสระที่ใช้โดส 50-100 อย่างไรก็ตาม สาร CBD จะมีปัญหาเรื่องการละลายยากและความคงตัว จึงพัฒนาเทคโนโลยีห่อหุ้มระดับนาโน ทำให้เราใช้ปริมาณโดสน้อย คงตัวดีขึ้น ราคาไม่แพงมาก เราถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เอกชนแล้ว 10 รายการ

ด้าน นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า รพ.นพรัตนราชธานีได้เปิดศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการพิษวิทยา โดยสภาเทคนิคการแพทย์ และการทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา ได้แก่ 1. HPLC สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา (Potency) 11 ชนิด และ 2.เครื่องมือที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ GC-MS/MS (SHIMADZU) สามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenes ในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการตรวจ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี


กำลังโหลดความคิดเห็น