สุนทรพจน์ของนาย “สี จิ้นผิง” ปธน.จีนในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 29 ในหัวข้อ “สามัคคี ร่วมมือ และกล้ารับผิดชอบ เพื่อประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของเอเชียแปซิฟิก” ( ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022)
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมิตรสหายทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับท่านทั้งหลาย ณ กรุงเทพมหานคร “เมืองแห่งสวรรค์ " ที่สวยงาม นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้พบกันโดยตรงแบบออฟไลน์ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งไปยังรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ตั้งใจและใช้ความพยายามเพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นซ้ำหลายระลอกและจะยืดเยื้อต่อไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ลัทธิฝ่ายเดียวและลัทธิคุ้มครองได้ทวีความรุนแรง ห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานของโลกได้รับผลกระทบ ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ความปลอดภัยด้านธัญญาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน และปัญหาอื่นๆ มีความซับซ้อนและรุนแรงอย่างหนัก
ภูมิภาค “เอเชียแปซิฟิก” เป็นสถานที่ลงหลักปักฐานของเรา และเป็นแหล่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้พัฒนาและเป็นไปอย่างคึกคัก โดยได้สร้าง "ปาฏิหาริย์แห่งเอเชียแปซิฟิก" ดึงดูดความสนใจของทั่วโลก ความร่วมมือส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้หยั่งรากลึกในใจของผู้คนทั้งหลายช้านานมาแล้ว
ขณะนี้โลกได้ยืนอยู่ที่ทางแยกของประวัติศาสตร์อีกครั้ง ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความสำคัญและมีบทบาทโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
คนจีนสมัยโบราณระบุไว้ว่า "ผู้รอบรู้จะไม่สับสน ผู้มีคุณธรรมจะไม่กังวล ผู้กล้าหาญจะไม่หวั่นเกรง" ในสถานการณ์ใหม่เราต้องร่วมมือสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งเอเชียแปซิฟิก เพื่อสร้างความรุ่งโรจน์ใหม่ของความร่วมมือแห่งเอเชียแปซิฟิก ด้วยประการเหล่านี้ ข้าพเจ้ามีข้อเสนอดังต่อไปนี้
ประการแรก ปกป้องความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมระหว่างประเทศ สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้มีสันติภาพและความมั่นคง
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่สงบสุขและมั่นคง ทำให้เราตระหนักว่าต้องให้เกียรติแก่กัน สามัคคีกัน และร่วมมือกัน เมื่อเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ เราต้องปรึกษาหารือกันเพื่อค้นหาปัจจัยร่วมที่ใหญ่ที่สุด
เราควรยึดมั่นแนวคิดด้านความปลอดภัยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ครอบคลุม ให้ความร่วมมือ และยั่งยืน เคารพอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนแต่ละประเทศ ไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น เคารพเส้นทางการพัฒนาและระบบสังคมที่ประชาชนของแต่ละประเทศเลือกเอง ให้ความสำคัญต่อความห่วงใยด้านความปลอดภัยที่สมเหตุสมผลของแต่ละประเทศ ขจัดความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยการเจรจาอย่างสันติ
เราต้องมีส่วนร่วมในการสร้างธรรมาภิบาลโลกอย่างแข็งขัน เพื่อผลักดันให้ระเบียบของประชาคมโลกพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ยุติธรรม และสมเหตุสมผล อีกทั้งให้มีหลักประกันทางสันติภาพและความมั่นคงทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก
ประการที่สอง ยึดมั่นในความเปิดกว้าง สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้มีความมั่งคั่งร่วมกัน
ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าการเปิดกว้าง ร่วมมือและได้ชัยชนะร่วมกันถึงเป็นหนทางที่ถูกต้องในโลก เราต้องยืนหยัดลัทธิภูมิภาคแบบเปิดกว้าง เสริมสร้างการประสานนโยบายเศรษฐกิจแบบมหภาค สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ขับเคลื่อนกระบวนการให้เศรษฐกิจเป็นแบบองค์เดียวกันในระดับภูมิภาคอย่างคงเส้นคงวา และสร้างเขตการค้าเสรีระดับสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้สำเร็จโดยเร็ว
เราต้องยืนหยัด “การพัฒนาเพื่อประชาชน ด้วยประชาชน และผลลัพธ์สู่ประชาชน” ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมั่งคั่งร่วมกัน จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ปฏิบัติตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้ครอบคลุมและมีคุณภาพ ขับเคลื่อนต่อไปเพื่อเข้าร่วม “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” และ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบหลอมรวมระดับภูมิภาค
ในปีหน้าจีนจะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฟอรัมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ( BRI : Belt and Road Initiative ) ครั้งที่ 3 เพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อนใหม่แก่การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก
ประการที่สาม ยึดมั่นในการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้สะอาดและสวยงาม
การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นความท้าทายที่มนุษยชาติต้องเผชิญร่วมกัน จำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี พร้อมทั้งเร่งการพัฒนาให้สอดคล้องกันระหว่างความเป็นดิจิทัลกับความเป็นสีเขียว (ภารกิจการพัฒนาเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม) ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการยกระดับทางด้านทรัพยากรพลังงาน โครงสร้างอุตสาหกรรมและโครงสร้างการบริโภค ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบสีเขียว
ในปีนี้ เราได้ร่วมกันกำหนด “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” ร่วมกันส่งเสริมการปกป้องสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาและการพัฒนาเศรษฐกิจ
จีนจะสนับสนุนการดำเนินตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าได้เสนอข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาทั่วโลกที่องค์การสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านการลดความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สาธารณสุข และอื่นๆ และเร่งดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ 2030 จีนยินดีต้อนรับประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน
ประการที่สี่ เราต้องยึดมั่นในการร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้สนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เราต้องมองความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว รักษาบทบาทที่เป็นช่องทางหลักของเอเปก (APEC) ในความร่วมมือระดับภูมิภาค และรักษาทิศทางที่ถูกต้องของความร่วมมือย่านเอเชียแปซิฟิก
เราต้องยึดหลักการและวัตถุประสงค์ของเอเปก (APEC) ลงลึกกระชับความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เปิดกว้าง ร่วมมือ และได้ชัยชนะร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เราต้องส่งเสริม "จิตวิญญาณแห่งครอบครัวใหญ่" ร่วมทุกข์ร่วมสุข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มิตรสหายทั้งหลาย
เมื่อเดือนที่แล้ว การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ได้จัดขึ้นด้วยความสำเร็จ ได้ชี้ให้เห็นทิศทางและกำหนดพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนาของจีนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
จีนยินดีที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติและพัฒนาร่วมกันกับทุกประเทศบนพื้นฐานที่เคารพซึ่งกันและกัน เสมอภาค และอำนวยประโยชน์แก่กัน จีนจะยึดมั่นการเปิดประเทศในขอบเขตที่ใหญ่ยิ่งขึ้น เปิดกว้างทางสาขายิ่งขึ้น และในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ยืนหยัดเดินบนหนทางความทันสมัยตามอัตลักษณ์จีน สร้างระบบใหม่ทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างในระดับสูงขึ้น และแบ่งปันโอกาสการพัฒนาของจีนกับโลกโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มีสุภาษิตไทยว่า "หว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น" เราได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งวิสัยทัศน์ปูตราจายาไว้ด้วยกัน ควรเพาะปลูกอย่างประณีตและร่วมกันดูแลอย่างพิถีพิถัน บ่มเพาะดอกไม้แห่งความเจริญรุ่งเรืองเพื่อการพัฒนาร่วมกันของ “เอเชียแปซิฟิก”
ขอขอบพระคุณทุกท่าน
...
แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG)