xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมุมมอง 3 นักบริหารกับการรับมือการเปลี่ยนแปลง Digital Disruption วิกฤต หรือโอกาสทางธุรกิจ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดฉากลงอย่างงดงามสำหรับ mai FORUM 2022 : มหกรรมรวมพลังคน mai ครั้งที่ 7 กับเหล่าผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาด mai ที่มาร่วมออกบูทกว่า 100 บริษัท โดยไฮไลต์ใหญ่ยกให้ปาฐกถาพิเศษ "ตลาดทุนกับการพัฒนา SMEs ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน" จากปลัดกระทรวงการคลัง อีกทั้งเสวนากลุ่มย่อยเปิดมุมมองการลงทุน รวมถึงเสวนา "ทิศทางการลงทุนปี 2023" จากกูรูด้านการลงทุนชั้นนำที่ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับโอกาสและการเติบโตของธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai

ขณะที่ Digital Disruption ยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา Digital Disruption อาจเป็นภัยร้ายแรงของธุรกิจ แต่อีกหลายคนกลับมองเป็นโอกาส หากเรากล้าที่จะยอมรับ ปรับมุมมองและลองเปิดรับการเปลี่ยนแปลงบางทีอาจเป็นโอกาสดีๆ ในการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัลก็เป็นได้ ลองมาฟัง 3 ผู้บริหารจาก 3 บริษัทที่เป็นดาวเด่นของ MAI สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โบ๊ท-พชร อารยะการกุล CEO บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ ยิ้ม-ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวที mai FORUM 2022 : มหกรรมรวมพลังคน mai ครั้งที่ 7

ทั้งนี้ สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (iiG) ผู้บุกเบิกบริการที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบครบวงจรของประเทศไทย บอกว่า กระแสการ disruption ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่การเกิดดิสรัปชันจะเบาและนานๆ มาทีอย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งประมาณ 10 ปีจะมาที แต่ในปัจจุบันดิสรัปชันเกิดขึ้นเร็ว แรง และถี่ขึ้นเรื่อยๆ

“ถามว่าเป็นวิกฤตไหม ผมว่าใช้คำว่าเป็นการท้าทายของทุก Industry ดีกว่า เพราะถ้าคุณปรับตัวได้ตลอดเวลา เป็นองค์กรที่ agile คือปรับตัวได้ ต่อให้สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป คุณก็สามารถปรับตัวได้ นั่งคิด Business Model ใหม่ๆ องค์กรใหญ่ๆ ที่เป็น old economy ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยหากลยุทธ์ที่จะสร้างข้อได้เปรียบ และทำให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยเทคโนโลยี ไม่งั้นเราก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ กระแสในการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีมีแต่จะเร็วขึ้นแล้วก็แรงขึ้น”
บริษัทด้านไอทีเองยังถูกดิสรัปต์ สมชายยกตัวอย่าง Facebook ในปัจจุบัน หลายคนบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีใครใช้ Facebook แต่เมื่อย้อนไป 10 ปีก่อน facebook ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพที่มีคนใช้เยอะที่สุดในโลก ปัจจุบัน Facebook เป็น Corporate ไปแล้ว ตัว Facebook เองก็โดนดิสรัปต์เพราะปรับตัวไม่เป็น พอปรับตัวไม่ทันก็ถูกบริษัทเทคโนโลยีอื่นที่ดีกว่ามาดิสรัปต์

“ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาผมภาคภูมิใจ เพราะผมเป็นคนที่นำเรื่องของเทคโนโลยี ระบบซอฟต์แวร์ ERP มาใช้เป็นคนแรกๆ ในประเทศไทย พอเทคโนโลยีฮิตขึ้น อย่าง Cloud ผมเป็นคนแรกที่ทำเรื่อง Cloud computing และตัวแทนให้กับ Salesforce เป็นคนแรกในประเทศไทย ตอนนี้ผมขยับไปอีกขั้นหนึ่ง คือไปมองในเรื่องของ customer experience ต่างๆ ที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด

“ผมอยากฝากธุรกิจว่า เรื่องดิสรัปชันนี้ เราไม่สามารถที่จะทำให้ง่าย ยังไงก็ต้องเจอความเจ็บปวด ต้องมีการล้มลุกคลุกคลาน ต้องมีการเตรียมตัว ผมมองว่าเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะสามารถซื้อหาได้ ทุกคนซื้อเทคโนโลยีตัวเดียวกันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันเท่ากัน เพราะตัวที่ชี้ขาดคือ คนที่เป็นผู้นำ (leadership) วัฒนธรรมองค์กร คือ mindset ในการที่จะปรับองค์กรให้เป็น Agile Organization” สมชายกล่าว

โบ๊ท-พชร อารยะการกุล ซีอีโอ บมจ.บลูบิค กรุ๊ป บอกว่า ส่วนตัวมองว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตนั่นคือโอกาส เพราะจะมีบางธุรกิจไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ตรงนั้นจะมีช่องว่างให้ธุรกิจใหม่ที่ปรับตัวได้เข้ามาแทนที่ 
 
Bluebik จะช่วยตั้งแต่การวางกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจ ไปจนถึงการจัดหาระบบเทคโนโลยีต่างๆ เทคโนโลยีดิจิทัลมีความหลากหลายและปลีกย่อยหลายระบบ มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น CRM บางระบบในการจัดการกับลูกค้า ซึ่งในแต่ละธุรกิจก็มีความต้องการที่แตกต่างและบลูบิคสามารถซัปพอร์ตได้ รวมทั้งมีบริษัทอื่นช่วยสนับสนุนสำหรับซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ

“ผมเชื่อว่าผู้บริหารทุกท่านมีการปรับตัวกันอยู่ตลอด สำหรับบริษัทดิจิทัลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เรามองอยู่ 3 ด้านเพื่อให้สามารถไปข้างหน้าได้ คือ องค์ความรู้ องค์กรที่มีความคล่องตัว และความร่วมมือ”

เรื่องแรกคือ องค์ความรู้ บลูบิคลงทุนค่อนข้างเยอะใน R&D ในฐานะที่ปรึกษา บริษัทจำเป็นต้องมีความรู้รอบด้าน เช่นการทำ Digital strategy ให้กับธนาคารขนาดใหญ่ ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานหลายส่วน เช่น นำ AI มาทำ consumer analytics ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจ ในการที่จะลองผิดลองถูก 

เรื่องที่สอง คือการทำให้องค์กรมีความคล่องตัวมากที่สุด การที่เราจะขับเคลื่อนองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ให้เปลี่ยนแปลง เกิดนวัตกรรมได้ทุกภาคส่วน องค์กรต้องตัดสินใจได้เอง ตัดสินใจได้เร็ว แล้วก็สามารถลงมือปฏิบัติเองได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของที่ปรึกษาอย่างบลูบิค คือช่วยให้ผู้บริหารมีทิศทางชัดเจน และช่วย empower ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ เทคโนโลยี งบประมาณ ช่วยให้องค์กรมีการเรียนรู้ พร้อมที่จะลองผิดลองถูก เพราะสิ่งที่ผิดวันนี้อาจจะเป็นบทเรียนที่ทำให้องค์กรสามารถทำได้อย่างถูกต้องในวันข้างหน้า

เรื่องที่สาม คือ พันธมิตร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรปรับตัวได้ดี เช่น การที่เปิดบริษัทดูแลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ บลูบิคดึงพันธมิตรเก่ามาทำงานร่วมกันอีก การเปิดบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นกัน ต้องอาศัยพันธมิตรเพื่อตั้งเป็นบริษัทร่วมทุน เพื่อผสานความสามารถของทั้งสองฝ่ายมาช่วยกัน

“ผมเชื่อว่าการที่เราทำทั้ง 3 อย่าง คือ การลงทุน การทำ R&D การทำให้องค์กรคล่องตัวสามารถตัดสินใจเองได้ ทำงานได้รวดเร็วในแต่ละภาคส่วน และรวมไปถึงการร่วมมือกับคนข้างนอกก็จะช่วยให้เราปรับตัวช่วงที่เกิดดิสรัปชันไปได้” พชรกล่าว

ส่วยยิ้ม-ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG ผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวทั้งหมด กล่าวว่า ส่วนใหญ่ YGG ทำงานผ่านระบบออนไลน์ อย่างเช่นการผลิตการ์ตูน ลูกค้าต่างประเทศส่งโมเดลมาให้ YGG ทำภาพเคลื่อนไหว จะเป็นการส่งไฟล์ทางออนไลน์มาตลอด ยิ่งโลกเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น รายได้ของบริษัทฯ ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

“โดยปกติเราจะอยู่ปลายน้ำ แต่วันนี้เราสามารถติดต่อกับต้นน้ำได้ จึงเพิ่มโอกาสให้บริษัทด้วย เราสามารถไปจับมือกับต้นน้ำโดยตรง และสร้าง product อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเอง ไม่ใช่แค่รับจ้างผลิตเท่านั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี งานที่เราทำเป็นงานที่ส่งออกไปทั่วโลก เพราะพวก Facebook หรือ Instagram ส่งไปทั่วโลกอยู่แล้ว 
 
งานของ YGG เป็นงานที่ต้องใช้คนเยอะมากโดยเฉพาะศิลปิน บริษัทมีการปรับตัวใน 2 ส่วน คือ คน และ Process บริษัทเริ่มใช้ไอทีด้านระบบ เช่น ระบบ security เพื่อให้ติดต่อกับศิลปินทั่วโลกง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มกำลังผลิตได้ไวขึ้น พอเกิดโควิด-19 เราได้ทดสอบระบบ ทำไปแก้ไป จนทุกวันนี้เริ่มคงที่แล้ว จากนี้ในระยะยาวต้องพัฒนาให้ดีขึ้นอีก ในเรื่องของคน พนักงานของ YGG อายุเฉลี่ยอยู่ประมาณ 20-30 ปี เป็นกลุ่มที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี ชอบลองแอปพลิเคชันใหม่ๆ จึงไม่ต้องปรับตัวมาก มีความสร้างสรรค์

“เรามี know how และทำงานกับต่างประเทศ เราจึงได้เห็นเทรนด์ต่างประเทศว่าจะเป็นยังไง ทีมต่างประเทศต้องการอะไร เช่น ก่อนที่เราจะรู้จัก netflix ทางฝั่งจีนก็มีแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ทำให้เรารู้ว่าแพลตฟอร์ม OTT ต้องมาแน่ ต้องมีการแข่งขันเอาคอนเทนต์ต่างๆ เข้ามาเรียกคนดู เราเลยวางแผนไว้ก่อน ในขณะเดียวกันเราคิดที่จะพัฒนา product ของเราเอง เริ่มจากเกมก่อน กลุ่มคน Gen Z หรือ Gen ที่อยู่ต่อจากนี้ เขาชินกับเกมว่าพอเขาเข้าไปอยู่ในรูปแบบเกมแล้วมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เราก็พยายามเทสต์บ่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง และถ้าเกิดขึ้นจริง จะแก้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็พัฒนางานของเราให้เกิดขึ้นใหม่ไปเรื่อยๆ” ธนัชกล่าวสรุป

จากมุมมองที่แตกต่างของนักบริหารทั้ง 3 คน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งใหม่ๆ ย่อมก้าวขึ้นมาแทนสิ่งเดิมเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับความสะดวกสบายและการสร้างรายได้ของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัว ไม่ว่าการเงินการลงทุนการใช้ชีวิต แต่อย่างไรก็ตามทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีความเสี่ยงเสมอ โดยเฉพาะในโลกของการลงทุน ดังนั้น การใฝ่หาความรู้ การศึกษารายละเอียดในการลงทุนจึงมีความสำคัญอย่างมากในยุค Digital Disruption








กำลังโหลดความคิดเห็น