xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎาเตือนอย่าโยน EM ball ลงแม่น้ำแทนกระทง หวั่นทำแม่น้ำเน่าเสียกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ความรู้พร้อมเตือน อย่าโยน EM ball ลงแม่น้ำแทนการลอยกระทง เพราะนอกจากไม่ช่วยให้คุณภาพน้ำเน่าเสียดีขึ้น แต่กลับทำให้คุณภาพน้ำแย่ลงด้วยซ้ำ

วันนี้ (8 พ.ย.) เพจเฟซบุ๊ก "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" หรือ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับการโยน EM ball ลงแม่น้ำเพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยระบุว่า ""อย่าโยน EM ball ลงแม่น้ำแทนกระทงครับ" แป๊บๆ อีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาล "ลอยกระทง" กันอีกแล้ว ซึ่งเดี๋ยวปีนี้ผมก็จะพยายามรณรงค์ลดการทิ้ง "ขยะกระทง" ลงแม่น้ำลำคลองอีกครั้งนะ ช่วยๆ กันหน่อยครับ ประเด็นคือ เริ่มมีคนวางแผนจะใช้การโยนลูกบอลจุลินทรีย์ หรือ EM ball ลงแม่น้ำ แทนการลอยกระทงขยะ ด้วยหวังจะช่วยลดปริมาณขยะที่ลงสู่ทะเล เดี๋ยวก่อน เดี๋ยว EM ball นี้ห้ามไปโยนลงแม่น้ำเลยนะครับ มันกลับจะทำให้น้ำเน่าเสียมากขึ้นด้วยนะครับ จริงๆ เรื่อง "การใช้ EM ball แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย" เนี่ย มันเป็นความเชื่อผิดๆ ที่เกิดตามกระแสทำตามๆ กัน สมัยที่น้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้ออกมาอธิบายคัดค้าน และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้เคยทำการทดลองให้เห็นแล้วว่านอกจากจะไม่ได้ช่วยให้คุณภาพน้ำเน่าเสียนั้นดีขึ้น มีออกซิเจนสูงขึ้นอย่างที่กล่าวอ้างกันแล้ว ยังทำให้คุณภาพน้ำแย่ลงด้วยซ้ำ

การใช้งานก้อนจุลินทรีย์ EM (Effective Microorganisms) ในสภาวะที่ในน้ำท่วมขังซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, DO) อยู่น้อยนั้น นอกจาก EM มันจะไม่ได้สร้างออกซิเจนให้กับน้ำอย่างที่อ้างแล้ว! มันกลับไปเอาออกซิเจนมาใช้ (ตามธรรมชาติของจุลินทรีย์ในนั้น ซึ่งประกอบไปด้วย แบคทีเรียกลุ่มที่สร้างกรดแลคติก / ยีสต์ / และแบคทีเรียกลุ่มสีม่วง ที่ใช้แสงอาทิตย์ในการสร้างพลังงาน (ไม่ใช่สร้างออกซิเจน) ... พูดง่ายๆ คือ ถ้ายิ่งใส่ EM ลงไป ก็ยิ่งจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง!

แถมปัญหาของน้ำท่วมขังเน่าเสีย ก็คือการที่น้ำในบริเวณดังกล่าวมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก ดังนั้น การใส่ EM ลงไปในรูปของก้อนบอลจุลินทรีย์ก็ยิ่งไปเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ให้กับแหล่งน้ำ ในบริเวณที่มีการท่วมขังอีกทางหนึ่ง ใส่ไปเยอะๆ แทนที่จะทำให้น้ำดีขึ้นกลับส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ (จากการลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณสารอินทรีย์) ขอเอาบทความที่ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ มาประกอบอ้างอิงด้วยนะครับ ภาพและข่าวจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/2534723... และ https://mgronline.com/politics/detail/9540000141803 ปล.อธิบายเพิ่มว่า แล้ว EM มันช่วยทำให้บ่อปลาบ่อกุ้งที่น้ำเน่าเสีย ดีขึ้นได้อย่างไร? (จากคำถามในคอมเมนต์ด้านล่าง)

คือจุลินทรีย์ในพวกอีเอ็มเนี่ย จะเป็นกลุ่มที่นอกจากจะทำงานโดยใช้ออกซิเจนแบบสิ่งมีชีวิตทั่วไป มันยังสามารถทำงานได้เมื่อไม่มีออกซิเจนได้ด้วยครับ ซึ่งก็คือเมื่อใส่ลงไปในบ่อน้ำเน่าที่มีออกซิเจนต่ำมาก มันจะลงไปย่อยสารอินทรีย์ที่ก้นบ่อได้ ทำให้เกิดพวกก๊าซไข่เน่าขึ้น เลียนแบบกลไกในการย่อยสลายตามธรรมชาติให้เร็วขึ้น จึงมีการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน เช่น ด้านการเกษตร ด้านการหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำปุ๋ย และด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสุขา (โถส้วม) ตามที่ในบทความเขียนครับ

ซึ่งต่างจากพื้นที่น้ำท่วมขังตามข่าว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำแบบเปิด และมีออกซิเจน ซึ่งจุลินทรีย์ก็จะไปใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิตตามปกติของมันแทน จึงไม่สามารถเอามาอ้างว่าไปเพิ่มออกซิเจนได้ ซ้ำจะเป็นการเพิ่มปริมาณของสารอินทรีย์ลงสู่น้ำด้วย (บทความ) "EM และน้ำหมักชีวภาพ แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ?" กลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เขียนบทความอธิบายข้อเท็จจริง เรื่องการใช้ EM เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่า ในช่วงเวลาปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนได้สนับสนุนการใช้ EM (Effective Microorganisms) เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายรวมถึงประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะอธิบายข้อเท็จจริง และให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับ EM และจะกล่าวถึงกรณีศึกษาในการบำบัดน้ำเสียของต่างประเทศในภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ บทความนี้มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด แต่มุ่งหวังถึงประโยชน์สูงสุด ในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ปัญหาน้ำเน่า อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการที่สารอินทรีย์ในน้ำมีปริมาณสูง เมื่อเกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ จึงส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำมีปริมาณลดลง และในที่สุด อาจก่อให้เกิดสภาวะไร้อากาศ ซึ่งส่งกลิ่นเหม็น และส่งผลเสียต่อปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ค่าการละลายออกซิเจน นับเป็นพารามิเตอร์หนึ่งที่สามารถบ่งบอกคุณภาพน้ำได้ โดยในแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่เน่าเสีย โดยทั่วไปจะมีค่าการละลายออกซิเจนประมาณ 3-7 มิลลิกรัมต่อลิตร การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่มีออกซิเจนสามารถอธิบายอย่างง่าย ดังนี้

EM (Effective Microorganisms) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเฉพาะทาง ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่ม Lactic acid bacteria 2) กลุ่ม Yeast และ 3) กลุ่ม Phototrophs (Purple bacteria) ซึ่งได้รับการพัฒนามาจาก Professor Teruo Higa ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงได้มีการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน เช่น ด้านการเกษตร ด้านการหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำปุ๋ย และด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสุขา (โถส้วม) เป็นต้น โดยทั่วไปจุลินทรีย์ใน EM สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic conditions) และไม่มีออกซิเจน (Anaerobic conditions)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการประยุกต์ใช้งาน EM ในสภาวะที่ในน้ำท่วมขัง ซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, DO) อยู่อย่างจำกัด กล่าวได้ว่า EM จะใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ และในช่วงเวลาดังกล่าวจะส่งผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง และไม่เพียงพอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำในบริเวณดังกล่าวมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก รวมถึงมีการใส่ EM ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม (ปริมาณที่มากไป หรือใส่เข้าไปในสภาวะหรือรูปแบบที่ไม่เหมาะสม) ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย จากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม อีกประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการเลือกใช้งาน EM กล่าวคือ จุลินทรีย์ใน EM ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว ไม่มีความสามารถในการสร้างออกซิเจนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ องค์ประกอบของ EM ball หรือ Micro ball ซึ่งมีการปั้นโดยใช้องค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น กากน้ำตาล และรำข้าว เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างผลกระทบของสารอินทรีย์ข้างต้นต่อการเน่าเสียของแหล่งน้ำ อาทิ กรณีกากน้ำตาล ที่ส่งผลต่อปัญหาน้ำเน่า เช่น การลักลอบทิ้งน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล และกรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา กรณีรำข้าว อาจพิจารณาการที่เรานำรำข้าว หรือเศษอาหาร ไปทิ้งไว้ในน้ำในปริมาณมากๆ และเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมส่งผลให้น้ำเน่าเสียเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อโยน EM ball ลงในแหล่งน้ำ จึงเปรียบเสมือนการเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ให้กับแหล่งน้ำในบริเวณที่มีการท่วมขังอีกทางหนึ่ง โดยสารอินทรีย์ดังกล่าวที่ยังคงเหลืออยู่ ย่อมก่อให้เกิดความต้องการออกซิเจนในน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงได้ และแม้แต่จุลินทรีย์ใน EM เอง เมื่อตายไปก็นับเป็นแหล่งสารอินทรีย์ในน้ำเช่นกัน ซึ่งก็ยังต้องใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายเช่นกัน ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM นอกจากจะไม่ช่วยสร้างออกซิเจนแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมจากการลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณสารอินทรีย์ (ดังที่กล่าวถึงข้างต้น)

ทั้งนี้ การย่อยสลายสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำท่วมขัง ควรกระทำภายใต้สภาวะที่มีอากาศหรือออกซิเจนเท่านั้น การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะไร้อากาศถือได้ว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในแหล่งน้ำ โดยสรุป เราสามารถกล่าวได้ว่า การบำบัดสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำ มีลักษณะแตกต่างจากการบำบัดสารอินทรีย์ในสุขา และการหมักขยะเพื่อทำปุ๋ย (ซึ่งมีการใช้ EM ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ที่เป็นพารามิเตอร์ที่บ่งบอกถึงคุณภาพแหล่งน้ำ รวมถึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพแหล่งน้ำ ดังที่กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้ ถึงแม้ EM ต้นแบบ (ลิขสิทธิ์ Professor Teruo Higa) ซึ่งอ้างว่ามีความสามารถในการกำจัดกลิ่น และทำให้น้ำใส แต่ก็เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากสารอินทรีย์ในน้ำยังคงอยู่ และออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าน้ำนั้นสะอาดจริง กล่าวคือน้ำดังกล่าวยังไม่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้ และไม่ปลอดภัยต่อสัตว์น้ำแต่อย่างใด และอาจยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ ได้อยู่

นอกจากนี้ หากมองถึงประเด็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพ หรือ EM ในแบบต่างๆ ด้วยตนเองจุลินทรีย์ที่ได้อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากจุลินทรีย์ใน EM ต้นแบบ และหากไม่ได้ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพที่ดีพอ EM และน้ำหมักชีวภาพอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้ ซึ่งนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรระวัง และไม่ควรมองข้ามสำหรับทุกๆ หน่วยงานและภาคส่วน ที่มีสนับสนุนการใช้ EM เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง

ผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งไม่สามารถเอ่ยนามได้ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตไว้) ได้ให้ข้อมูลว่า จากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น ก็ได้มีการพยายามจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ต่างๆ ขององค์กรอิสระต่างๆ ที่รณรงค์ร่วมกันใช้ EM เพื่อบำบัดน้ำเสีย อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น (กระทรวงสิ่งแวดล้อม) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาความสามารถของ EM ในการบำบัดน้ำเสีย และพบว่า EM ไม่ได้ช่วยในการบำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด ในการนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นจึงไม่แนะนำการใช้ EM ในการบำบัดน้ำเสียในสถานการณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ จากเหตุการณ์สึนามิซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียถูกทำลาย ทางหน่วยงานรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ทำการแก้ไขปัญหาระยะสั้นโดยการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคลงในท่อบำบัดน้ำเสีย และเลือกใช้การตกตะกอน (Sedimentation) และการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) เพื่อบำบัดน้ำเสียในระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราว รวมถึงได้มีการวางแผนจะพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราว โดยใช้ระบบบำบัดทางชีวภาพร่วมกับการตกตะกอน และการฆ่าเชื้อโรค (Biological treatment - Sedimentation - Disinfection)

ส่วนในบริเวณชนบทนั้น ดำเนินการบำบัดน้ำเสียโดยทำการรวบรวมน้ำเสีย และทำการฆ่าเชื้อโรค จากนั้นปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนกระทั่งระบบบำบัดขนาดเล็กได้รับการฟื้นฟู

ทั้งนี้ ทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าใจดีถึงความปรารถนาดีของทุกฝ่ายในการช่วยกันร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น หากแต่อยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของ EM เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุด ในการฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมในปัจจุบัน




กำลังโหลดความคิดเห็น