รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 17 ตุลาคม 2565
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 221,210 คน ตายเพิ่ม 389 คน รวมแล้วติดไป 629,907,713 คน เสียชีวิตรวม 6,571,257 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส ไต้หวัน อิตาลี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.01 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.54
อัพเดตสถานการณ์ระบาดในเยอรมัน
สถานการณ์ไอซียู: ผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในไอซียู ครองเตียงไปแล้วมากถึง 19,232 เตียงจากจำนวนที่มีอยู่ 22,729 เตียง คิดเป็น 84.61%
ทั้งนี้มีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 30.21% ของจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิดที่อยู่ในไอซียู
การระบาดในสิงคโปร์
Hartono S จากสิงคโปร์ นำเสนอข้อมูลชี้ให้เห็นว่า XBB กำลังครองการระบาดระลอกที่สามของปีนี้ โดยมีสัดส่วนเกินครึ่ง และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกนี้จะมากกว่าระลอกก่อนที่เกิดจาก BA.5
ทั้งนี้ระลอกก่อน มีอัตราการติดเชื้อซ้ำราว 5% แต่ระลอก XBB ขณะนี้มีอัตราติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) มากกว่าเดิมถึง 3 เท่า (17.5%) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่านี้ ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งสมรรถนะของไวรัสเอง รวมถึงระดับภูมิคุ้มกันในประชากรที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นภูมิจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อมาก่อนก็ตาม
สมรรถนะของไวรัสกลายพันธุ์
ข้อมูลจาก Wenseleers T จากเบลเยี่ยม ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ ทั้ง XBB, BQ.1.1, BA.2.75.2, BA.4.6, BF.7 นั้น มีสมรรถนะในการขยายการระบาดสูงกว่าตระกูล BA.5.x เดิม ไม่ว่าจะทวีปใดก็ตาม ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และโอเชียเนีย
พัฒนาการของไวรัสยามเปิดเสรีใช้ชีวิต
Turville T จากออสเตรเลีย วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ โดยอ้างอิงจากการวิจัยของทีมงาน ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Microbiology เมื่อ 30 พฤษภาคม 2565
โดยประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทำให้ไวรัสมีการแพร่เชื้อจำนวนมาก อาจทำให้สมรรถนะของไวรัสโรคโควิด-19 หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่ไวรัสพยายามหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และเปลี่ยนแนวทางการจับกับตัวรับบนผิวเซลล์จนทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง แต่อิสระในการแพร่เชื้อที่มีในปัจจุบัน จะทำให้ไวรัสที่กลายพันธุ์อาจกลับไปใช้กระบวนการจับกับตัวรับ TMPRSS2 ที่พบมากในปอด และนำไปสู่การป่วยรุนแรงมากขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม สมมติฐานข้างต้นคงต้องรอการติดตามพิสูจน์ต่อไป
ทั้งนี้ที่น่าจับตาดูคือ สถิติหลายประเทศในยุโรป ที่มีจำนวนผู้ป่วยนอนรพ.และไอซียูมากขึ้น
มองโลก มองไทย ด้วยข้อมูลเชิงนิเวศน์ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยย่อมมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากปัจจุบันเราเปิดเสรีการใช้ชีวิต และการท่องเที่ยวเดินทางจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมรับมือการระบาดซ้ำ และป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นกิจวัตร เวลาออกนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
แผนผัง Swiss Cheese ที่ดัดแปลงมาจาก Mackay IM และ Reason JT ชี้ให้เห็นสิ่งที่เราแต่ละคนจะสามารถทำได้ในภาวะสังคมปัจจุบัน เพื่อที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและสมาชิกในครอบครัว
ด้วยความปรารถนาดี