เมื่อโลกได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์เงินฝากถูกออกแบบให้มีลูกเล่นปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้ทุกวันนี้มีทางเลือกในการออมเงินและลงทุนมากกว่าในอดีต แต่ตัวเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยและเป็นที่ยอดนิยมที่สุดก็ยังคงเป็นการฝากเงินกับธนาคาร การดูแลเงินฝากของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจึงเป็นหน้าที่สำคัญของสถาบันการเงิน และเพื่อเตรียมพร้อมต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างวิกฤตทางการเงิน จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้ฝากเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของประเทศ สำหรับประเทศไทยเองมีสถาบันที่ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองบัญชีเงินฝากของทุกคนคือ “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA” ผู้อยู่เบื้องหลังในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ฝากทุกคน
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เปิดเผยว่าในการสัมมนาประจำปีสถาบันประกันเงินฝากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้สมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศ ครั้งที่ 20 (The 20th IADI APRC International Conference) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นั้น ช่วยให้มองเห็นว่าการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินเป็นแหล่งออมเงินที่มีบทบาทต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ในภาวะที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ดังแนวทางจาก 5 ประเทศตัวอย่างในรายละเอียดต่อไปนี้
ไต้หวัน – สถาบันการเงินไร้สาขา เทรนด์ใหม่การเงินยุคดิจิทัล
สถาบันการเงินในไต้หวันได้พัฒนารูปแบบการให้บริการไปสู่ “สถาบันการเงินไร้สาขา” หรือ Internet-only Banks ที่มีรูปแบบการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการ ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ไร้ข้อจำกัดด้านการเข้าถึงของผู้ใช้บริการ ในขณะเดียวกันการกำกับดูแลสถาบันการเงินไร้สาขาก็ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมทุกประการ แต่เพิ่มความเข้มข้นในส่วนของมาตรการความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cyber Security Measures) โดยเฉพาะการกำกับดูแลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ (Real Time Monitoring) การติดตามเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ทันต่อพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง และมีระบบงานที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วยเสริม เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าสถาบันการเงินจะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นไม่หยุดชะงัก มีความมั่นคงปลอดภัย และสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็วก่อนเกิดวิกฤต
มาเลเซีย – สถาบันประกันเงินฝาก สู่องค์กรดิจิทัลรับความเปลี่ยนแปลง
สถาบันประกันเงินฝากมาเลเซีย (PIDM) ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงด้วยการผลักดันองค์กรให้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ภายใต้แผนกลยุทธ์ 5 ปี โดยมีเป้าประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1.การปรับเปลี่ยนองค์กรภายในให้มีความยืดหยุ่น เกิดผลิตภาพ สร้างความร่วมมือ และสร้างวัฒนธรรมการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล 2.การสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินสมาชิกในการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นดิจิทัล และ 3.การสร้างพัฒนาการด้านการติดต่อสื่อสารกับผู้ฝากและหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและพัฒนากระบวนการจ่ายคืนผู้ฝากอย่างไร้รอยต่อ อาทิ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงิน (ResTech) และการพัฒนาช่องทางการจ่ายคืนผู้ฝากโดยใช้ระบบการชำระเงินแบบทันที (Real-time)
ฟิลิปปินส์ – เพิ่มประสิทธิภาพระบบประกันเงินฝากด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์
สถาบันประกันเงินฝากฟิลิปปินส์ (PDIC) ได้ปรับปรุงกระบวนการจ่ายคืนผู้ฝากและการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในฟิลิปปินส์จากภาวะการระบาดของโควิด-19 โดยได้ปรับช่องทางการจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากจากเดิมเป็นการจ่ายคืนผ่านทางเช็ค และการจ่ายเงินสด ณ ที่ทำการ เป็นการจ่ายคืนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) โดยโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของผู้ฝากที่เปิดกับสถาบันการเงินอื่น และขอความร่วมมือจากผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Issuer) ในการโอนเงินเข้าบัญชี นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงกระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินทรัพย์ออนไลน์ หรือ e-Bidding Portal เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูลซื้อขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินสามารถร่วมประมูลได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการและพัฒนาระบบประกันเงินฝากของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สหรัฐอเมริกา – คุมเข้มสินทรัพย์ดิจิทัล ป้องกันความเสี่ยงต่อระบบการเงิน
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐของแต่ละประเทศเร่งติดตามความเสี่ยงและมองหามาตรการในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ สถาบันประกันเงินฝากสหรัฐอเมริกา (FDIC) ได้ให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสินทรัพย์คริปโต (Crypto Assets) เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยพบว่าความเสี่ยงหลักๆ เกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ความมั่นคงของสถาบันการเงินและระบบสถาบันการเงิน (Safety and Soundness) 2.เสถียรภาพของระบบการเงิน และ 3.การคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ สถาบันประกันเงินฝากสหรัฐอเมริกา (FDIC) มีแนวทางในการกำกับดูแลสถาบันการเงินสมาชิกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล หากสถาบันการเงินมีความประสงค์ที่จะลงทุนในสินทรัพย์คริปโต ต้องดำเนินการแจ้งต่อ FDIC ล่วงหน้า และส่งมอบรายละเอียดต่างๆ ที่ FDIC ต้องการอย่างถูกต้องและครบถ้วน
ญี่ปุ่น – รับมือกับวิวัฒนาการทางการเงิน ด้วยพัฒนาการด้านกฎหมาย
สถาบันประกันเงินฝากญี่ปุ่น (DICJ) ได้แลกเปลี่ยนถึงพัฒนาการทางด้านกฎหมายและกรอบการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto Assets) และเงินดิจิทัล (Digital Money) ในญี่ปุ่น โดยสินทรัพย์ดิจิทัลครอบคลุมผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto-asset exchange Service Providers) การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสม ถูกกำกับภายใต้กฎหมายบริการชำระเงิน (Payment Services Act) กำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวข้องแก่ลูกค้า มีวิธีการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่น่าเชื่อถือ และแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าแยกออกจากส่วนของผู้ให้บริการ รวมถึงการกำกับดูแลผู้รับฝากสินทรัพย์ (Custodian) และยังมีกฎหมายตราสารทางการเงินและตลาดตราสารทางการเงิน (Financial Instruments and Exchange Act) ที่เน้นการป้องกันการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และยังมีสาระสำคัญที่ครอบคลุมการออก Token ให้แก่นักลงทุนอีกด้วย
สำหรับ สคฝ. ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ Digital DPA มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลเช่นเดียวกันกับสถาบันประกันเงินฝากในประเทศอื่นๆ โดยการวางโครงข่ายระบบดิจิทัล เทคโนโลยี เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ทำงานสอดประสานกันได้ การพัฒนาระบบปฏิบัติการ เพื่อรองรับการจ่ายเงินให้ผุ้ฝากโดยอัตโนมัติเมื่อสถาบันการเงินถูกปิดกิจการได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำไม่ว่าจะเป็นระบบ DRS, DROS, DA, CRM และ LMS ซึ่งผู้ฝากยังสามารถตรวจสอบสถานะการรับเงินได้ด้วยตนเอง และ สคฝ. ยังเน้นเรื่องความปลอดภัยมั่นคงทางเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งมีการจำลองสถานการณ์ทดสอบระบบ (Simulation) ในกระบวนการจ่ายคืน รวมถึงการทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนจะไม่สะดุดเมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้น
ติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองเงินฝาก ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ศูนย์บริการให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก โทร. 1158 เว็บไซต์ www.dpa.or.th หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/dpathailand
p