xs
xsm
sm
md
lg

เฟ้นหาผู้ชนะเลิศ 21 เมนู สุดยอดอาหารแห่งอนาคต ร่วมเสิร์ฟต้อนรับผู้นำ APEC ปี 2565 ไทยเป็นเจ้าภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการ “Future Food for Sustainability ภารกิจแข่งขันเพื่อเฟ้นหาสุดยอด 21 เมนูอาหารแห่งอนาคตภายใต้เเนวคิด BCG เพื่อร่วมเสิร์ฟให้แก่ผู้นําหรือตัวแทน 21 เขตเศรษฐกิจ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APEC ประจําปี 2022 นับเป็นโอกาสทองในการเปิดประตูประเทศโชว์ศักยภาพ Soft Power ที่นานาชาติต่างยกย่องประเทศไทยว่าเป็น “ครัวของโลก” พร้อมอัปเดตเทรนด์ความรู้อาหารแห่งอนาคตต้องมีองค์ความรู้ 4 ด้าน คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, วัฒนธรรม, สุขภาพ, การตลาด เพื่อจะยกระดับอาหารไทยให้กลายเป็นสินทรัพย์ของประเทศ ทำให้กลายเป็นอาหารหลักที่คนทั่วโลกต้องหันมารับประทาน เพราะอาหารไทยช่วยดูแลสุขภาพ ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่มีรสชาติอร่อย เผ็ดจัดจ้านเท่านั้น

เนื่องจากไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกประจําปี 2565 และในฐานะเจ้าภาพของการจัดประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับชื่อเสียงระดับนานาชาติว่าเป็น “ครัวของโลก” ประกอบกับอาหารไทยก็จัดเป็น Soft Power สําคัญของประเทศ ประชากรในประเทศกว่า 38.9 ล้านคน อยู่ในกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตร เป็นประเทศที่มีการส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลก และเพิ่งได้รับการยกย่องจาก UN ว่าเป็น “Role Model” ในเรื่องสาธารณสุขและการเกษตร ที่ให้ความสําคัญต่อความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน

กรมประชาสัมพันธ์เล็งเห็นถึงโอกาสสําคัญที่คนไทยจะได้แสดงศักยภาพดังกล่าวให้ทั่วโลกรับรู้ จึงได้เปิดเวทีชวนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมแข่งขันโครงการ “APEC Future Food for Sustainability” ที่มีแคมเปญว่า “PLATE TO PLANET จานนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม” กิจกรรมแข่งขันเมนูอาหารแห่งอนาคตภายใต้เเนวคิด BCG ในการโชว์ศักยภาพด้าน Soft Power และครัวของโลกที่คํานึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสําคัญ เพื่อนําเสนอ 21 เมนูอาหารแห่งอนาคต ให้แก่ผู้นําหรือตัวแทน 21 เขตเศรษฐกิจ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC ประจําปี 2022

การเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ นายสุธีรพันธุ์ สักรวัตร Chief Marketing Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งใน Incubator หรือนักธุรกิจที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่สตาร์อัพและกรรมการตัดสินโครงการประกวด Future Food for Sustainability เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ปี 2565 ที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน incubation camp ขึ้นมา เป็นเหมือนการจัดแคมป์เพื่อให้ผู้เข้ารอบทั้ง 60 ทีมได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการนำเสนอเมนูอาหารของตนว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนสนใจเมนูอาหารไทยของเรา ทำอย่างไรถึงจะสามารถเอาชนะใจคณะกรรมการการแข่งขันในครั้งนี้ เพื่อนำพาเมนูของตัวเองก้าวสู่เวทีระดับโลก

ขณะเดียวกัน ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดมาให้ความรู้และเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้ารอบทั้ง 60 ทีมได้นำเทคนิค เคล็ดลับ และองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้า incubation camp ไปปรับใช้กับเมนูอาหารของตัวเองเพื่อนำกลับมาเสนอให้ทางคณะกรรมการฟังก่อนที่จะแข่งขันจริงในวันที่ 22-23 ตุลาคม 2565 นี้ 


ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมาจึงเป็นการเข้าแคมป์เพื่อเรียนรู้เทคนิคการทำอาหารกับเชฟ ชุมพล แจ้งไพร "เชฟกระทะเหล็กอาหารไทย" (Thai Cuisine) และยังเป็นทูตอาหารเพื่อความยั่งยืน แต่งตั้งโดยองค์การอาหารระดับโลก FeedUp@UN เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 60 ทีมได้ลองทำอาหารจริงๆ ได้ลองจัดจานและนำเสนอไอเดียของเมนูอาหารเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ "กิจกรรมการแข่งขันทําอาหาร” ในวันที่ 22-23 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อค้นหา 21 ทีมตัวแทนประเทศไทย ที่จะได้มีโอกาสไปนําเสนอเมนูให้แก่ผู้นําหรือตัวแทน 21 เขตเศรษฐกิจ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC ประจําปี 2022 โดยกิจกรรมการแข่งขันทำอาหารครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนักชิมระดับมิชลินไกด์มาร่วมให้คะแนน

ส่วนทีมชนะเลิศจากกิจกรรมการแข่งขันทําอาหารครั้งนี้จะได้รับรางวัลมูลค่า 1,000,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่งมูลค่า 500,000 บาท และทีมรองชนะเลิศอันดับสองมูลค่า 200,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัล Popular มูลค่า 100,000 บาท โดยทุกทีมที่เข้ารอบจะได้รับรางวัลทีมละ 30,000 บาท รวมมูลค่าของรางวัลทั้งหมด 2.5 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี นายสุธีรพันธุ์กล่าวเสริมว่า ถ้าพูดถึงเทรนด์ธุรกิจ "อาหารแห่งอนาคต" ปัจจุบันเริ่มเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการกินอาหารเพื่อเป็นยารักษาดูแลสุขภาพจะเป็นกระแสหลักของคนในอนาคต จากเดิมมองแค่ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการจัดการระบบสาธารณสุขของภาครัฐ ประกอบกับจะมีการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและสิ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและพลังงาน หรือ Green Economy ทำให้ชีวิตผู้คนมองหาอาหารและยาที่เป็นทางเลือกอื่นในการรักษาสุขภาพตัวเอง

ขณะเดียวกัน จำนวนของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาด้วยวิวัฒนาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงทำให้เกิดแนวทางในการเลือกสิ่งต่างๆ มากขึ้นกว่าคนรุ่นเก่าที่เติบโตมาจากยุคอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อว่า ถ้าไม่สบายก็ไปรักษา ขณะที่แนวคิดคนรุ่นใหม่คือ เน้นการป้องกันเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยมากกว่า โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนที่มีแหล่งพื้นที่เพาะปลูกพืชและสมุนไพรดีมากๆ มีความหลากหลาย แต่ปัญหาคือ ประเทศไทยจะวาง Position อาหารไทยให้กลายเป็นอาหารแห่งอนาคต ที่คนทั่วโลกต้องมาบริโภคเป็นอาหารหลักได้อย่างไร ไม่ใช่มารับประทานอาหารไทยเพราะว่ามีรสชาติอร่อย จัดจ้าน เผ็ดร้อน เท่านั้น 


ดังนั้น Soft Power ของอาหารไทยที่จะทำให้กลายเป็นแหล่งอาหารแห่งอนาคตที่คนทั่วโลกต้องมารับประทาน คือ การทำให้อาหารไทยเป็นเหมือนสินทรัพย์ชิ้นหนึ่งของประเทศที่จะต้องสื่อสารให้เห็นถึงเรื่องราวที่มีการเชื่อมโยงให้เห็นถึงองค์ความรู้ทั้ง 4 ด้านให้ได้ คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, วัฒนธรรม, สุขภาพ, การตลาด ถ้าจะมีการคิดค้น สร้างสรรค์อาหารไทยเมนูใดๆ ขึ้นมา มากกว่าการโฟกัสไปแค่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก สีสัน ความสวยงาม ความอร่อย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ Hard Power เท่านั้น

"องค์ความรู้ทั้ง 4 ด้านนี้ ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโครงการประกวด Future Food for Sustainability ผมจะใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจคัดเลือกผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้ง 60 ทีม เพื่อค้นหา 21 ทีมตัวแทนประเทศไทย ไปนําเสนอเมนูอาหารแห่งอนาคตให้แก่ผู้นําหรือตัวแทน 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มาร่วมประชุมในงาน APEC" นายสุธีรพันธุ์กล่าว

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ APEC Future Food for Sustainabilty จะประกอบไปด้วย 7 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 “ประกวดเมนูอาหารอนาคต” เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม-30 กันยายน 2565 ชวนคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 45 ปีมาร่วมโชว์ไอเดียเมนูอาหารอนาคตที่ดีต่อใจ (อร่อย ราคาเข้าถึงง่าย) ดีต่อสุขภาพ (กินแล้วสุขภาพดี คนปลูกดีคนกินแข็งแรง) และดีต่อโลก (กระบวนการปลูก แปรรูป หรือการทําอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) โดยเน้นเมนูวัตถุดิบสมุนไพรไทยของไทยและกระบวนการ/นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมที่ 2 “Online Orientation Forum” ชวนผู้ที่สนใจประกวดเทรนด์อาหารอนาคตและกําลังหาโอกาสในธุรกิจนี้เข้าร่วมฟังเสวนาจากท่านรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา นาคาศัย และผู้บริหารจากองค์กรด้านอาหารชั้นนําระดับประเทศ ผ่านช่องทาง Online เมื่อวันที่19 กันยายน 2565 ผ่านทางเฟซบุ๊ก APEC พร้อม ไทยพร้อม หรือสามารถดูย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/fHOz00ix9/

กิจกรรมที่ 3 “กิจกรรมคัดกรองแนวคิด” คัดเลือกทีมผู้เข้าแข่งขันให้เหลือ 60 ทีม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ได้แก่ มิชลินเชฟ นักธุรกิจด้านอาหารอนาคต นักโภชนาการ นักบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน และผู้บริหารจากองค์กรด้านอาหารชั้นนํา

กิจกรรมที่ 4 “ แคมป์พัฒนาศักยภาพ INCUBATION CAMP” สําหรับผู้เข้ารอบ 60 ทีม เมื่อวันที่ 19-20 ตุลาคม 2565 จะได้สิทธิ์ในการเรียนกับกูรูชั้นนําด้านธุรกิจจาก บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงได้ฝึกฝีมือทำอาหารกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ทูตอาหารเพื่อความยั่งยืน แต่งตั้งโดยองค์การอาหารระดับโลก FeedUp@UN

กิจกรรมที่ 5 “กิจกรรมแข่งขันทําอาหาร” เมื่อวันที่ 22-23 ตุลาคม 2565 เพื่อค้นหา 21 ทีมตัวแทนประเทศไทย ที่จะได้โอกาสไปนําเสนอเมนูให้แก่ผู้นํา หรือตัวแทน 21 เขตเศรษฐกิจ โดยเราได้รับเกียรติจากนักชิมระดับมิชลินไกด์มาร่วมให้คะแนน

กิจกรรมที่ 6 “กิจกรรมแข่งขันขายทดสอบตลาด” ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของโครงการนี้เพราะผู้เข้ารอบ 21 ทีมสุดท้ายจะได้โอกาสนําเสนอแนวคิดให้แก่นักลงทุนจาก 9 องค์กรชั้นนํา ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จํากัด (มหาชน) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จํากัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน) บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) บริษัท เดอะ ไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จํากัด Thai Union Group PCL. The Food School

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมสนุกสนานอีกมากมาย เช่น กิจกรรมโหวตเมนูอนาคตลุ้นรางวัลที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมเล่นเกมแจกของรางวัลอีกมากมาย, ชิมอาหารอนาคตจากผู้เข้ารอบ 21 ทีม, สนุกสนานไปกับ ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร ดีเจนุ้ย ดีเจต้นหอม และมินิคอนเสิร์ตจาก ลูกจันทร์ Diva Makeover ที่มาสร้างสีสันและความสนุกสนานในงานครั้งนี้ ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์






กำลังโหลดความคิดเห็น