xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ รับแล้ว ไม่คิดค่าใช้จ่าย "โตโน่" เหตุอุโมงค์น้ำยังไม่เรียบร้อยดี และเป็นกิจกรรมเพื่อการกุศล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ชี้แจงปมนักศึกษาโวยอุโมงค์น้ำ นักศึกษาไม่ได้ใช้ แต่ "โตโน่" ใช้ฟรี ยอมรับไม่คิดค่าใช้จ่ายโตโน่จริง เหตุเห็นว่าอุโมงค์น้ำยังไม่เรียบร้อยดี และมองว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการกุศล

จากกรณีดรามาในโครงการ One Man And The River หรือ หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ของดารานักร้องชื่อดังอย่าง โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ที่เตรียมว่ายน้ำข้ามโขง ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุดโซเชียลฯ ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอที่โตโน่ว่ายน้ำเพื่อทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายที่อุโมงค์น้ำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยมีนักศึกษารายหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “อยากพูดในฐานะคนที่เรียนคณะนั้น คณะที่ให้ #โตโน่ ไปใช้บริการอุโมงค์น้ำ และวัดค่าปอดก่อนจะว่าย อาจารย์ที่คณะบอกว่า ตั้งแต่ปี 1 อุโมงค์น้ำเนี่ยแพง ไม่ค่อยเปิดใช้ แต่เรางงมากว่านิสิตเข้าไปไม่ได้เรียนรู้อะไรกับอุโมงค์น้ำนี้เลย ไม่เคยเปิดให้นิสิตดู แต่ #โตโน่ เข้าไปใช้โดยที่ไม่เสียเงิน"

ต่อมาเพจศิษย์เก่าวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ แจง นิสิตใช้ได้ ส่วนบุคลากรและบุคคลภายนอกคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 2,000-2,300 บาท ก่อนพบว่าโพสต์ดังกล่าวถูกลบทิ้ง

ล่าสุดวันนี้ (20 ต.ค.) คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงการณ์ว่า เรียนประชาคมชาววิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกท่าน ตามที่มีกระแสสื่อโซเชียลเกี่ยวกับอุโมงค์น้ำ (Water Fume) ของคณะฯ ในตอนนี้ ขออนุญาตชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. อุโมงค์น้ำได้นำมาใช้กับนิสิตและการเรียนการสอนหรือไม่

“ได้ใช้” อุโมงค์น้ำมีการติดตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2560 มีการใช้งานด้านการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา และนิสิตที่สนใจทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพทางการกีฬา ก็มีการใช้อุโมงค์น้ำมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีการใช้เพื่อการวิจัยและการบริการวิชาการ ได้แก่ ใช้ในการฝึกซ้อมให้แก่นักกีฬา นักกีฬาทีมชาติ เป็นต้น ในระดับปริญญาตรี นิสิตจะได้เรียนรู้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัยของคณะที่หลากหลาย อันได้แก่ เครื่องวิเคราะห์แก๊สเพื่อทดสอบสมรรถภาพของหัวใจและปอด เครื่อง Isokinetic เพื่อทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อ ห้อง Hypoxia เพื่อจำลองการปรับสภาพร่างกายบนที่สูง เป็นต้น ตามบริบทเนื้อหารายวิชาของหลักสูตร แต่ด้วยจำนวนเครื่องแค่ 1 เครื่อง และมีนิสิตเป็นจำนวนมาก จึงอาจได้แค่เรียนภาคทฤษฎีและสาธิต หากนิสิตระดับปริญญาตรีสนใจเป็นพิเศษในเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การกีฬาใดๆ นิสิตก็สามารถเข้าร่วมเป็นผู้ช่วยวิจัยในการเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้ในการปฏิบัติได้

2. บุคคลทั่วไปสามารถใช้อุโมงค์น้ำได้หรือไม่

“ได้” ผู้ที่สนใจใช้งานอุโมงค์น้ำสามารถใช้ได้ โดยผ่านการทำเรื่องขอใช้อุโมงค์น้ำมาที่คณะฯ ซึ่งในช่วงที่ก่อนโควิดอุโมงค์น้ำได้ถูกใช้อยู่เป็นประจำ ไม่ได้จำกัดการใช้แต่อย่างใด หากการขอให้เป็นไปตามระเบียบของคณะฯ ทั้งนี้ อุปกรณ์ปฏิบัติการต่างๆ ของคณะ บุคคลทั่วไปก็สามารถทำเรื่องขอใช้มาที่คณะเพื่อพิจารณาการอนุมัติใช้ได้

3. ได้ให้บุคคลภายนอก คือ คุณภาคิน ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใช่หรือไม่

“ใช่” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุโมงค์น้ำมีการชำรุดและต้องการการซ่อมแซม หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดคลี่คลาย คณะจึงได้ทำการซ่อมแซมเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอน การทำวิจัย และการบริการวิชาการ ซึ่งในขณะที่มีการซ่อมแซมอุโมงค์น้ำนั้นทางคณะได้รับการติดต่อจากทีมงานของคุณภาคิน เพื่อขอรับบริการการทดสอบสมรรถภาพทางกายและขอใช้อุโมงค์น้ำเพื่อฝึกซ้อม

ในเบื้องต้นคณะมีความตั้งใจที่จะคิดค่าใช้จ่ายตามระเบียบ แต่เมื่อใช้งานจริง ทางคณะเห็นว่าอุโมงค์น้ำยังไม่เรียบร้อยดี (โดยจะเห็นได้จากน้ำในอุโมงค์น้ำมีตะกอนและมีความขุ่นเป็นอย่างมาก) ทั้งหนังสือขอความอนุเคราะห์นั้นแจ้งมาอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเป็นกิจกรรมเพื่อการกุศล คณะฯ จึงพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ในการเข้ามาใช้บริการอุโมงค์น้ำโดยยกเว้นค่าใช้จ่ายตามประกาศให้เป็นกรณีพิเศษ

ทางคณะฯ ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในเครื่องมือปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาและการบริการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาของคณะฯ และคณะฯ ขอแจ้งให้ทราบว่า ด้วยปณิธานการดำเนินงานของคณะฯ คณะฯ สนับสนุนให้นิสิตทุกคนได้ใช้เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้และปฏิบัติตามครรลองที่ควรจะเป็น ตามบริบทและหน้าที่การเรียนรู้ของนิสิตมาโดยตลอด

คณะฯ มีปณิธานและเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ และขอยืนยันว่าในการบริหารจัดการใดๆ คณะฯ คำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวม และสังคมเสมอ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


กำลังโหลดความคิดเห็น