อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยไม่เห็นด้วย 'ศรีสุวรรณ' ยื่นตรวจสอบ 'โน้ส อุดม' ขณะที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อคุณศรีสุวรรณด้วย
จากกรณีที่นายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล อายุ 62 ปี เจ้าของช่องยูทูบ ศักดินาเสื้อแดง ต่อต้านเผด็จการ บุกเข้าไปต่อยหน้านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระหว่างเข้าร้องเรียนต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เอาผิด โน้ส อุดม-แต้พานิช นักพูดชื่อดัง กล่าวบนเวทีเดี่ยว 13 วิจารณ์รัฐบาล หนุนผู้ชุมนุมหรือไม่ พร้อมกับกล่าวว่า ตั้งใจที่จะมาตบนายศรีสุวรรณเพื่อเป็นการสั่งสอนให้หยุดร้องเรียน อ้างว่าคำว่าประชาธิปไตย ทุกคนต้องยอมรับความเห็นต่าง แต่มึงอย่าเกินเลยจนเกินไป ท้าว่าถ้าทำผิดดำเนินคดีได้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (19 ต.ค.) เฟซบุ๊ก "Angkhana Neelapaijit" หรือ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อปี 2547 ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า "ไม่เห็นด้วยที่คุณศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นเรื่องต่อตำรวจเพื่อตรวจสอบคุณโน้ส อุดม กรณีพูดล้อเลียน หรือพาดพิงรัฐบาล ในทอล์กโชว์ “เดี่ยว 13” เพราะถือเป็น #การคุกคามทางกฎหมายต่อผู้เห็นต่าง ขณะที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อคุณศรีสุวรรณ
รัฐธรรมนูญ 2560 และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน ดังนั้นการกระทำใด หากรัฐธรรมนูญไม่บัญญัติห้าม ประชาชนย่อมมีเสรีภาพที่จะกระทำได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือต่อต้านโดยสงบหากเห็นว่ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาดจนอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน การแสดงความคิดเห็นของคุณโน้ส ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นของศิลปิน หรือเป็นการใช้ศิลปะในการแสดงความคิดเห็นโดยสันติและเปิดเผย
การฟ้องร้อง หรือการแจ้งความในลักษณะนี้ จึงอาจถือเป็นการ #ดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuit to Anti Public Participation - #SLAPP) หรือฟ้องปิดปาก หรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง ทำให้หวาดกลัว และไม่กล้าแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติ รัฐบาลจึงควรมีท่าทีที่ชัดเจนในการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน ไม่ควรปล่อยให้มีการใช้กฎหมายเพื่อคุกคามผู้เห็นต่าง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
อย่างไรก็ดี ผู้ที่เห็นต่างจากคุณศรีสุวรรณ ก็ควรเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของคุณศรีสุวรรณ ไม่ควรใช้ความรุนแรงใดๆ แต่ควรเรียกร้องรัฐบาล โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนให้เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน และในฐานะที่ประเทศไทยได้สมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (HRC) ปี 2025- 2027 ประเทศไทยจึงต้องแสดงความจริงใจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี #รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ #ควรเปิดใจกว้างเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน ไม่ปล่อยให้มีการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีที่เป็นลักษณะการฟ้องเพื่อปิดปากประชาชนตามอำเภอใจอีกต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม: ในการประชุมสภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ครั้งที่ 129 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) แห่งสหประชาชาติ ได้ตีความ #สิทธิของการชุมนุมโดยสงบ ตามความเห็นทั่วไปที่ 37 (General Comment No. 37) ขององค์การสหประชาชาติ มีต่อมาตรา 21 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) เกี่ยวกับ #สิทธิขั้นพื้นฐานของการชุมนุมโดยสงบ
หมายความว่า “การเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงตัวตนว่าคิดอะไร หรือเพื่อบอกเล่าความขัดข้องไม่พอใจ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน สิทธิของการชุมนุมโดยสงบนี้ เมื่อรวมเข้ากับสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางการเมือง จะประกอบกันเป็นรากฐานของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย บุคคลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนต่างชาติ ผู้หญิง แรงงานอพยพ ไปจนถึงคนที่กำลังแสวงหาที่ลี้ภัย และเป็นผู้ลี้ภัยเต็มตัวแล้ว สามารถใช้สิทธิของการชุมนุมโดยสงบได้ ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ ทั้งในสถานที่สาธารณะ สถานที่ส่วนตัว นอกอาคาร ในอาคาร และออนไลน์” คณะกรรมการยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลของรัฐภาคีมีพันธะผูกพันในเชิงบวกตามกติกาสัญญานี้ในการเอื้ออำนวยให้มีการชุมนุมโดยสงบ”