xs
xsm
sm
md
lg

บยสส.รุ่นที่ 2 จัดสัมมนาสาธารณะ ร่วมหาทางออก ปลดล็อก “กับดักเรตติ้ง” สื่ออยู่รอด ผู้ชม-สังคมได้รับประโยชน์จากคอนเทนต์คุณภาพแบบ win-win

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



(8 ตุลาคม 2565) หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) รุ่นที่ 2 ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “คอนเทนต์คุณภาพกับโอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง”

เสนอนวัตกรรมและแนวทางต้นแบบเพื่อตอบโจทย์วงการสื่อมวลชนของไทยได้สามารถและดำเนินการผลิตเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพให้ผู้ชม พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก “วัชร วัชรพล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค มาร่วมให้มุมมองและข้อเสนอแนะนำไปสู่การปลดล็อกจาก “กับดักเรตติ้ง” ของวงการสื่อ โดยมี “ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” ผู้อำนวยการหลักสูตร บยสส.รุ่นที่ 2 เป็นประธานเปิดงาน งานนี้ได้รับความสนใจจากประชาชน นักวิชาการ และนักศึกษา มารับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นประมาณ 200 คน ณ ห้องคอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D สถานีโทรทัศน์ Thai PBS พร้อมถ่ายทอดสดผ่านทางเพจ “Thai PBS”

รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ ประธาน บยสส.รุ่นที่ 2 กล่าวว่า การจัดสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ “คอนเทนต์คุณภาพกับโอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง” เป็นเวทีนำเสนอ และแบ่งปันแนวทาง หรือนวัตกรรมของผู้เข้าอบรม บยสส.รุ่นที่ 2 นำไปสู่การสร้างสรรค์เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และองค์กรสื่อยังสามารถอยู่รอดได้แบบ win-win รวมทั้งรับฟังมุมมอง และแนวคิด ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้นำองค์กร นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรสื่อมวลชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสื่อสารมวลชนของไทย ผู้เข้าอบรม บยสส.รุ่นที่ 2 ได้นำกระบวนคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking มาช่วยวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกของสื่อในปัจจุบัน ซึ่งพบตรงกันว่า จากพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เกิดแพลตฟอร์มการนำเสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นใหม่และมีหลากหลายรูปแบบ องค์กรสื่อต้องพยายามอย่างหนัก จึงเป็นที่มาของการผลิตและนำเสนอเนื้อหาที่ดึงดูดผู้ชมและมีรายได้เพิ่มขึ้น จนทำให้บางครั้งละเลยบทบาทหน้าที่หลักในการนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม

รศ.ดร.อรพรรณกล่าวเสริมว่า เวทีสัมมนาในครั้งนี้ กลุ่มผู้เข้าอบรม บยสส.รุ่นที่ 2 ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ และผลงานต้นแบบ ในการที่จะช่วยให้องค์กรสื่อหลุดจาก “กับดักเรตติ้ง” เพื่อให้องค์กรสื่อสามารถดำรงอยู่และเดินหน้าต่อได้แบบมั่นคง ควบคู่กับการรักษาบทบาทการเป็นที่พึ่งด้านข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ตลอดจนให้ความบันเทิงที่สร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตัวแทนผู้เข้าอบรมหลักสูตร บยสส.รุ่นที่ 2 ร่วมนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมและผลงานต้นแบบที่คิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อตอบโจทย์ painpoint ของวงการสื่อ เรื่องคุณภาพ และเรตติ้ง ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดหรือขยายผลปรับใช้ได้ ได้แก่

1.“The Premium” คนสื่ออยู่ได้ คนอ่านยอมจ่าย เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ พัฒนาแอปพลิเคชันที่กลุ่มเป้าหมายจ่ายเงินเพื่ออ่านข้อมูลข่าวสาร เช่นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าง Netflix หรือแอปพลิเคชันนิยายออนไลน์ เริ่มต้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ นักศึกษา ทำคอนเทนต์พรีเมียมที่หาอ่านจากสื่อออนไลน์ไม่ได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านสามารถเอาไปต่อยอดหรือใช้งานต่อได้ นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจสามารถต่อยอดนำเนื้อหาในแอปฯ ไปผลิตเป็นสื่อรูปแบบอื่นๆ หรือจัดอีเวนต์ สร้างรายได้เพิ่มเติมได้อีกด้วย
2.ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ เป็นแนวทางที่พัฒนาขึ้นจากความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ส่งผลให้เด็กมีช่องทางในการเปิดรับสื่อหลากหลายขึ้น และสามารถเลือกเนื้อหาได้เอง เรตติ้งต้องอาศัยการวัดที่หลายมิติ โดยเฉพาะวัดจากการ feedback ของผู้ชมแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ซื้อโฆษณาเห็นว่าใครเป็นผู้ชมรายการ มีความชอบหรือมีความเห็นต่อรายการนั้นๆ เป็นต้น
3.คอนเทนต์แพลตฟอร์ม OTT และคอนเทนต์ทีวี ร่วมกันอย่างไร ท่ามกลางการเติบโตของแพลตฟอร์ม OTT ความแตกต่างของคนแต่ละ generation คนผลิตเนื้อหาโทรทัศน์จะปรับตัวให้สามารถเชื่อมต่อกับ OTT ซึ่งช่องทางการสร้างเนื้อหาที่เป็นจุดร่วมระหว่างคนแต่ละช่วงวัย ผลิตเนื้อหาแบบ Event television ที่ทุกคนดูได้พร้อมกัน นำไปสู่การ cross ระหว่างแพลตฟอร์ม และก่อให้เกิดรายได้ ปัจจัยสำคัญ คือ การปรับปรุงเรื่อง กฎระเบียบ ที่ยังเหลื่อมล้ำกันระหว่างแพลตฟอร์ม
4.Application “คนข่าว” แพลตฟอร์มสนับสนุนการนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพ โดยให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะ ตักเตือน และส่งเรื่องร้องเรียนการทำงานที่ไม่เหมาะสมของสื่อได้ที่หน่วยงานที่กำกับดูแล พร้อมติดตามผล และมีการดำเนินงานอย่างไร มีส่วนช่วยขจัดปัญหาข่าวที่ไม่ได้คุณภาพ และจะเกิดขึ้นได้จริงหากวงการสื่อพร้อมรับฟังเสียงของประชาชนมากกว่าฟังเรตติ้ง
5.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ต่อยอดให้สร้างสรรค์ข่าวตามความสนใจของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “น้องสาระ” จะช่วยสร้างสรรค์การอ่านข่าวตามความสนใจของผู้ชมผ่าน 4 ขั้นตอนง่ายๆ ตั้งแต่ การเลือกคอนเทนต์ที่ต้องการ สร้างเสียงพูดตามเสียง เลือกหน้าตาอวตาร และเผยแพร่คลิป ก็ได้ข่าวที่อ่านโดยเสียงและคนที่ชอบ

ขณะเดียวกัน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้มุมมองในฐานะเป็นตัวแทนผู้บริโภคแสดงความเป็นห่วงกังวลต่อการนำเสนอข่าวทุกวันนี้ที่ให้ความสนใจเรื่องของเรตติ้งมากกว่าคุณภาพของเนื้อหา เรียกร้องให้องค์กรสื่อ และผู้ผลิตข่าวพัฒนาคุณภาพเนื้อหาข่าวเพื่อเป็นการปลดล็อกเรตติ้ง
"เรตติ้งคู่กับคุณภาพได้ คนดูต้องการคอนเทนต์คุณภาพ แต่ขณะนี้เหมือนกับผู้สื่อข่าวยอมจำนน สื่อ..ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้บริโภค สังคม และสามารถทำให้สนุกได้ อย่างเรื่องคังคุไบ ทำให้เราเห็นว่าคุณภาพ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเรตติ้ง" สารีกล่าว

ในมุมมองของผู้บริโภค สื่อต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้บริโภค สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมได้ ต้องหาประเด็นที่น่าสนใจตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างการรายงานข่าวอาชญากรรม สื่อนำเสนอในเชิงเป็นดรามามากกว่า แทนการหาสาเหตุของปัญหา “ผู้สื่อข่าวปัจจุบันเน้นทำตัวเป็นตำรวจมากกว่า ใครหาคนผิดได้ก่อนช่องนั้นเก่ง แต่จริงๆ สื่อควรทำหน้าที่สื่อหาต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมากกว่า” นางสาวสารีเพิ่มเติม

ด้าน นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด กล่าวว่า ความจริงการบาลานซ์ระหว่างคุณภาพเนื้อหากับเรตติ้งเป็นสิ่งที่สื่อในบ้านเราเผชิญมาตลอดการพัฒนาคุณภาพสาระกับคอนเทนต์ที่สร้างรายได้ ดังนั้น ในมุมมองผู้ผลิตคอนเทนต์ ต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับช่วงเวลา อะไรเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การรายงานข่าวในประเด็นที่ต้องยืนหยัดกับประชาชน

ขณะที่ รศ. พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรตติ้งเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของวงการทีวีไทย และจากสถานการณ์ปัจจุบัน วงการโทรทัศน์เผชิญกับความท้าทาย แบ่งเป็นสองด้าน ด้านแรกระบบโทรทัศน์แบบเดิม อีกด้านหนึ่งคือสตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มดิจิทัลกำลังมาแรง เม็ดเงินโฆษณากำหนดมาเหล่านี้ทั้งนั้น ในอนาคตเรากำลังหา business โมเดลใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาสปอนเซอร์ หรือระบบสมาชิกก็ตาม

“ในเชิงวิชาการสื่อเป็นสินค้าที่กระทบวิธีคิดของคน สื่อต้องเป็นตะเกียงนำแสงทาง ไม่ใช่แค่กระจกสะท้อนวิธีคิดสังคม และที่สำคัญเราเห็นประชาชนลุกขึ้นมาเป็นตะเกียงนำทางให้สื่อ” รศ.พิจิตรากล่าว

รศ.พิจิตรากล่าวถึงเหตุการณ์ล่าสุดในจังหวัดหนองบัวลำภูว่า การรายงานข่าวของสื่อมวลชนครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำงานที่รวดเร็ว และไม่มีภาพอะไรที่น่าหวาดเสียวออกมา ซึ่งถือได้ว่าตอนนี้เรากำลังยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณทั่วไปได้ดี ซึ่งมองว่าจะเป็นบรรทัดฐานการรายงานข่าวคุณภาพได้ดีเหตุการณ์หนึ่ง

สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้องค์กรสื่อด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และนำเสนอแนวคิดหรือโครงการที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อวงการสื่อรวมถึงสังคมโดยรวม














กำลังโหลดความคิดเห็น