xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ รองรับปริมาณฝนจากอิทธิพล “พายุโนรู”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (27 ก.ย. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 55,078 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 21,030 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,307 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 8,564 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุ โนรู ที่จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชัน จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทยในวันที่ 29 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 28 กันยายน-1 ตุลาคม 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้นั้น

เพื่อเป็นการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝน จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์เก็บกักน้ำ พร้อมพิจารณาปรับการระบายให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อพร้อมรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงปริมาณ เวลา และสถานที่เป็นหลัก รวมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัดในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับรู้ทราบก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ ติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือ เช่่่น นเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพิ่มเติมประจำจุดเสี่ยง เพื่อเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญ ให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น