xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมครูภาษาไทย และมูลนิธิเอเชีย เผยภาษาไทย-ภาษาถิ่นไม่เป็นปัญหาสำหรับประกวดเรียงความครูใหญ่ในใจเรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้วสำหรับการประกวดเรียงความหัวข้อ “ครูใหญ่ในใจเรา” ที่ทางมูลนิธิเอเชียได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) และสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทยได้จัดขึ้น ล่าสุดได้เดินทางมาจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ที่ ร.ร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จ.ลำพูน ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง หลักสูตรการเรียนการสอนจะใช้ภาษาไทย-ภาษาถิ่น เรียนรู้ควบคู่กันไป ซึ่งประเด็นดังกล่าวทางสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทยมองว่าไม่เป็นปัญหา แถมยังเป็นประโยชน์เพราะได้เปรียบทางสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้ และช่วยรักษาวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ตลอดไป


ดร.พัชรี สินิฐฎา อุปนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ ทุกคนที่เป็นคนไทยจึงต้องเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะนักเรียนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนก็ตามต้องเรียนภาษาไทยที่เป็นภาษากลาง เพราะจะเป็นพื้นฐานความรู้ การอ่านตำราต่างๆ ก็จะพัฒนาไปสู่ความรู้ขั้นสูงได้โดยง่าย"

"สำหรับภาษาถิ่นนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เพราะแสดงถึงสภาพแวดล้อม พื้นที่ ความเป็นอยู่ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คน หากเราละทิ้งไป, อับอาย หรือเห็นว่าไม่สมควรนำมาใช้ และไม่สืบทอด ก็จะสูญหายไปได้ คนที่มีทั้งภาษาถิ่นและศึกษาภาษาไทยควบคู่กันไป ถือว่าเป็นผู้ที่ได้เปรียบทางสังคม เพราะมีทั้งหมู่พวกพ้องเดียวกัน และยังเจริญก้าวหน้าทางการเรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก"

"นอกจากนี้ ภาษายังเป็นวัฒนธรรมที่แสดงตัวตน ที่ไม่ว่าจะไปพูดที่ไหนก็แสดงความเป็นตัวตน กลุ่มก้อนหรือชาติพันธุ์เดียวกัน และเมื่อมาอยู่ในประเทศไทยก็ต้องถือว่าทุกคนเป็นคนไทย มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน การที่เราได้ทั้งภาษาถิ่นและภาษาไทยภาคกลาง เมื่อได้เรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนากลุ่มหรือชาติพันธุ์ตนเองให้ก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน”


ด้าน ดร.ธราธร ตันวิพงษ์ตระกูล ผู้อำนวยการ ร.ร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการเขียนเรียงความ และการประกวดในหัวข้อครูใหญ่ในใจเรา ถือเป็นกิจกรรมที่ดี และมีประโยชน์ต่อโรงเรียนของเรามาก เพราะเด็กนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนเผ่า เขาจะสื่อสารพูดคุยกันในโรงเรียนด้วยภาษาปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การพูดภาษาไทยจึงไม่ค่อยชัดเจน"

"เมื่อพูดไม่ชัดจึงทำให้เขียนไม่ชัดเจนตามไปด้วย การที่มีกิจกรรมประกวดเรียงความขึ้นมาก็จะทำให้เด็กนักเรียนได้ไปแก้ไขในจุดนี้ และจะทำให้เขาแตกฉานในเรื่องการใช้ภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนก็มีนโยบายเน้นในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ หากนักเรียนมีแค่ความคิดแต่ไม่สามารถนำไปสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งครับ”

สำหรับกิจกรรมการประกวดเรียงความหัวข้อ “ครูใหญ่ในใจเรา” เป็นการแข่งขันในระดับชั้น ม.1-ม.6 โดยนักเรียนทั่วทุกภาคของประเทศไทยสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวด หลักเกณฑ์การตัดสินประกอบด้วยรูปแบบ, เนื้อเรื่อง, การใช้ภาษา และลายมือ โดยจะต้องเขียนด้วยลายมือตนเองลงบนกระดาษมีเส้นบรรทัด ด้วยปากกาสีน้ำเงินหรือสีดำ ซึ่งผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท (2 รางวัล), รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 15,000 บาท (2 รางวัล), รองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 บาท (2 รางวัล) และรางวัลชมเชย 3,000 บาท (60 รางวัล) พร้อมได้รับเกียรติบัตรจากมูลนิธิฯ ทุกรางวัล

สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://shorturl.asia/Zpl7T และส่งใบสมัครพร้อมผลงานมาทางไปรษณีย์ไปที่ ดร.รัตนา แซ่เล้า มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย เลขที่ 38 อาคารชลันทิพย์ ชั้น 6 ถนนคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. 10500 ได้ตั้งแต่วันนี้-31 ต.ค. 65 โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 06-2734-1267












กำลังโหลดความคิดเห็น