อาจารย์ดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แนะ 7 วิธีเอาตัวรอดจากไฟรั่วช่วงน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. เฟซบุ๊ก "การันต์ ศรีวัฒนบูรพา" ซึ่งเป็นผู้ช่วยโฆษก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ.1669 ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ในเรื่องไฟรั่วในช่วงน้ำท่วมจากรายการ ไม่ตายหรอกเธอ ของอาจารย์ดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
โดยระบุข้อความว่า "วันนี้เห็นข่าวที่นักเรียนเดินลุยน้ำแล้วถูกไฟดูด โชคดีที่มีคนมาช่วยและปลอดภัยทั้งคนถูกไฟดูดและคนช่วย ก็เลยนึกขึ้นได้ว่า ผม คุณโจ๊ก Auttawut Joke Iscream Inthong และน้องลิตา Lita Inchalita เคยทำรายการ ไม่ตายหรอกเธอ แล้วไปสัมภาษณ์อาจารย์คณะวิศวกรรมไฟฟ้า เทคโนโลยีลาดกระบัง ก็ขอเอาความรู้ที่อาจารย์แนะนำมาสรุปให้ฟังดังนี้
1. เมื่อไฟฟ้ารั่วลงน้ำ จะมีรัศมีของมัน แผ่ออกไปจากจุดที่รั่ว เมื่อเราเดินลุยน้ำแล้วเข้าไปใกล้จุดที่ไฟฟ้ารั่วจะเริ่มรู้สึกคันยิบๆ ยิ่งเข้าใกล้เท่าไหร่ก็จะรู้สึกเจ็บมากขึ้น ฉะนั้นแล้วการเดินลุยน้ำให้เดินช้าๆ ถ้าไปตรงไหนแล้วรู้สึกชาหรือคันยิบๆ ให้เดินถอยออกมาทางเดิม
2. หากมีวัตถุที่เป็นโลหะอยู่ใกล้จุดที่ไฟรั่ว จะยิ่งทำให้การเหนี่ยวนำของไฟฟ้าแรงขึ้น รัศมีของไฟรั่วจากกว้างขึ้น โลหะหลายชนิดที่แช่อยู่ในน้ำแล้วมีกระแสไฟฟ้า มักจะเห็นฟองอากาศผุดขึ้นมา อย่าเข้าไปใกล้เด็ดขาด
3. การทดลองจับวัตถุต่างๆ ในน้ำให้ใช้หลังมือสัมผัส เพราะเมื่อถูกไฟดูดแขนจะกระตุกกลับเข้าหาตัว
4. การเดินระบบไฟฟ้าในบ้านที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ควรติดตั้งระบบ Earth Leak Breaker (อันเดียวกับที่ติดตั้งในเครื่องทำน้ำอุ่น) เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าทันทีที่มีไฟรั่ว
5. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เคยถูกน้ำท่วมและมีไฟรั่ว ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่เนื่องจากระหว่างที่ไฟรั่วอาจทำให้สายไฟต่างๆเสื่อมสภาพ เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ในภายหลัง
6. ควรใส่รองเท้าบูตยางเมื่อต้องเดินลุยน้ำ
7. การช่วยผู้ถูกไฟดูดในน้ำท่วม ควรดูความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือเป็นหลัก หลังจากช่วยออกมาแล้วให้รีบพาขึ้นสู่ที่แห้ง โทร. 1669 หากพบว่าหมดสติไม่หายใจ ให้รีบทำ CPR"