xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรไฟฟ้า เตือน ช่วยคนถูกไฟดูดในพื้นที่น้ำท่วม ต้อง “ไม่สัมผัส” ทั้งตัวผู้ประสบภัยและโลหะใกล้ที่เกิดเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“ไฟดูด” ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ถือเป็นเหตุอันตรายร้ายแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยในวันที่ 16 กันยายน 2565 โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี แจ้งว่า มีผู้ป่วยถูกไฟดูด หลังฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาล จนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 6 ราย ภายในวันเดียว

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ จ.อุดรธานี คือ พบนักเรียนชั้น ม.1 นอนหมดสติอยู่บริเวณโคนเสาไฟฟ้าใกล้โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โดยมือข้างหนึ่งติดอยู่ที่เสาไฟฟ้า และมีนักเรียนรุ่นพี่เข้ามานำตัวออกไป โดยใช้ผ้ามาคล้องแขนและกระตุกมือออก ก่อนจะเข้าไปลากตัวนักเรียนที่หมดสติออกมาจากบริเวณนั้นและนำส่งโรงพยาบาล

นายดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมภาคไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นผู้ที่คิดค้นอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ไม้วัดไฟรั่ว” สำหรับใช้ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เปิดเผยว่า ภัยจากไฟดูดในช่วงที่เกิดน้ำท่วม สร้างความสูญเสียร้ายแรงอย่างที่นึกไม่ถึง โดยอ้างอิงจากสถิติช่วงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟดูดสูงถึง 184 ราย ในช่วงเวลาประมาณ 45 วัน 

และเมื่อดูข้อมูลเชิงลึกลงไป ก็จะพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกไฟดูระหว่างการเดินทางสัญจรและไปจับโลหะต่างๆที่อยู่ระหว่างทาง เช่น ราวสะพาน ตู้โทรศัพท์ เสาต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่า ในบริเวณนั้นมีกระแสไฟรั่วหมด

“เรามักจะบอกกันว่า ให้ไปตัดไฟก่อน แต่เราลืมไปว่า คนทั่วไป เขาไม่อยู่ในสถานะที่จะไปตัดไฟสาธารณะได้ หรือถึงจะพยายามตัดไฟ ก็ไม่ทันอยู่ดีในกรณีที่มีคนถูกไฟดูดไปแล้ว เพราะมีเวลาช่วยเหลือเพียงไม่เกิน 2 นาทีเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องให้ความรู้กับประชาชนว่า หากอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมควรสังเกตอย่างไรว่ามีไฟรั่วหรือไม่ และเมื่อสงสัยว่าอยู่ใกล้พื้นที่ที่เกิดไฟรั่วจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร”

ดุสิต สุขสวัสดิ์
จากเหตุการณ์ที่ จ.อุดรธานี อาจารย์ดุสิต จึงให้คำแนะนำต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมไว้ 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก วิธีสังเกตว่ามีไฟรั่วในน้ำหรือไม่และควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อพบไฟรั่ว

- ระหว่างเดินอยู่ในน้ำ อย่าจับโลหะ เช่น เสาไฟ ราวสะพาน ตู้โทรศัพท์

- หากสังเกตได้ว่า ในน้ำบริเวณนั้น จะมีลักษณะเป็นฟองปุดๆขึ้นมาเหมือนฟองของน้ำโซดา แสดงว่า มีไฟรั่วที่บริเวณนั้น โดยรัศมีของไฟที่รั่วจะมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของวัตถุที่เป็นตัวนำไฟฟ้า

- หากเดินไปถึงบริเวณที่มีไฟรั่วในน้ำ เมื่อเริ่มสัมผัสสนามไฟฟ้า เราจะมีความรู้สึกคล้ายอาการเหน็บชา แต่ยังสามารถขยับอวัยวะได้(เคยทดลองแล้วพบว่า แม้แต่คนที่ใส่กางเกงยีนส์ ก็สามารถรับรู้ได้ถึงสนามไฟฟ้า แต่จะรับรู้ได้น้อยกว่าคนที่ใส่กางเกงขาสั้น)

- เมื่อเกิดอาการคล้ายเหน็บชา ให้สันนิษฐานได้เลยว่า แหล่งที่กระแสไฟรั่วอยู่ใกล้มากๆแล้ว ในระยะประมาณ 30 เซนติเมตร ดังนั้นจึงไม่ควรสัมผัสอะไรเด็ดขาด ไม่ควรเดินต่อไปข้างหน้า สิ่งที่ควรทำ คือ “ต้องเดินกลับไปยังเส้นทางเดิมเท่านั้น”

ประเด็นที่ 2 แนวทางการช่วยเหลือ เมื่อพบคนถูกไฟดูดในน้ำ

- ต้องไม่สัมผัสตัวผู้ประสบภัยโดยตรงเด็ดขาด ให้ใช้อุปกรณ์อื่นๆไปคล้องอวัยวะของผู้ประสบภัยที่สัมผัสกับโลหะไว้ออกมา เช่น อาจใช้เข็มขัดไปคล้องเพื่อกระตุกแขนออกมา หรือใช้เสื้อ ผ้า อุปกรณ์อื่นๆไปคล้องอวัยวะนั้นและกระตุกออกมา เพราะหากเข้าไปสัมผัสตัว จะถูกไฟดูดด้วยทันที

“มีกรณีศึกษา คุณยายอาบน้ำแล้วเกิดไฟรั่ว นอนหมดสติ ฝักบัวแนบอยู่ที่หน้าอก หลานไปพบและพยายามหยิบฝักบัวออก ทำให้เสียชีวิตทั้งคู่ ... เคสนี้ จะเห็นว่า หากโลหะที่นำไฟฟ้าอยู่ใกล้หัวใจ ไม่มีโอกาสรอดชีวิตแล้ว เพราะไฟดูด คือการเข้าไปทำลายจากด้านใน ทำให้อวัยวะนั้นๆใช้การไม่ได้ ดังนั้น การถูกไฟดูดที่หน้าอกจึงไม่มีโอกาสรอดเลย

ต่างจากเคสเด็กนักเรียนที่ จ.อุดรธานี เพราะถูกไฟดูดจากมือที่จับเสาไฟ ซึ่งยังไกลจากหัวใจ แต่หากวิเคราะห์จากคลิปที่ถูกเผยแพร่ออกมา ก็จะเห็นได้ว่า แม้รุ่นพี่จะใช้วิธีคล้องแขนกระตุกมือผู้ประสบภัยออกจากเสาแล้ว แต่ในช่วงระหว่างที่รุ่นพี่พยายามลากตัวรุ่นน้องที่หมดสติออกมา รุ่นพี่คนนี้น่าจะถูกไฟดูดด้วย โชคดีที่ไม่รุนแรงจนเป็นอันตราย ดังนั้นเราจึงต้องให้ความรู้เรื่องวิธีการช่วยเหลือที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคนช่วยควบคู่ไปด้วย” อาจารย์ดุสิต ยกตัวอย่าง และเปรียบเทียบวิธีการช่วยเหลือ


สถิติผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ทำให้อาจารย์ดุสิต ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า “ไม้วัดไฟรั่ว” ขึ้นมา เพราะเชื่อว่า หากผู้ประสบภัยหรือท้องถิ่นมีเครื่องมือช่วยตรวจสอบได้ว่า มีไฟรั่วหรือไม่ ในระหว่างการเดินทางสัญจร หรือ การกลับเข้าไปขนย้ายข้าวของในบ้าน ก็น่าจะช่วยลดการสูญเสียได้ โดยในวันจันทร์ที่ 19 กันยายนนี้ อาจารย์ดุสิต จะส่งมอบไม้วัดไฟรั่ว 20 ชิ้น ให้กับอาสาสมัครกู้ภัยที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น