คณบดีศิริราชเตือนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 อันตรายกว่า BA.2 เหตุเกาะเซลล์ปอดมากกว่า แนะอย่าประมาทกับมาตรการ "ผ่อนคลายสวมหน้ากาก"
จากกรณีราชกิจจาฯ ประกาศผ่อนคลายสวมหน้ากากอนามัย ให้เป็นไปโดยความสมัครใจ พร้อมทั้งสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัดภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดตามปกติ มีผลทันที ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ (27 มิ.ย.) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล "ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา" ได้ออกมาระบุถึงการผ่อนคลายการสวมหน้ากาก ว่า
"เรื่องนี้ประกาศเพื่อบอกว่าไม่ได้บังคับให้สวมหน้ากากแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าต้องถอดออก โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 โดยเชื่อว่าประชาชนจะระวังตัวมากขึ้น เพราะยังต้องเฝ้าติดตามความรุนแรงของโรค โดยคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเห็นภาพชัดเจนของ BA.4 และ BA.5 มากขึ้น
สำหรับสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 พบข้อมูลมาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะประเทศทางยุโรปที่พบอัตราติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นเป็นหมื่นรายต่อวัน ซึ่งข้อมูลตอนนี้พบว่าสายพันธุ์ย่อยเริ่มไปทดแทนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 แบ่งตัวเร็วกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารุนแรงมากกว่า เพราะยังไม่มีหลักฐานการป่วยจนเข้า รพ. อาการรุนแรงถึงเสียชีวิตที่ชัดเจน แต่ยังต้องเฝ้าติดตาม
อีกทั้งการที่มีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นมองได้ 2 แง่ ได้แก่ 1. ตำแหน่งการกลายพันธุ์ 2. คนเริ่มผ่อนคลายมาตรการหน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสที่แพร่กระจายได้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมสังคมที่มากขึ้นด้วย ซึ่งหลายประเทศก็ไม่ได้ตรวจหาเชื้อกันแล้ว ดังนั้นที่เห็นผลตรวจเป็นหมื่นรายแสดงว่ายอดจริงต้องมากกว่านั้น
สิ่งที่ต้องย้ำ คือ 1. วัคซีน เพราะข้อมูลการศึกษาของ BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มว่าอาจจะเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ยังไม่ต้องไปเทียบกับเดลตา เพราะไม่มีหลักการว่าจะรุนแรงมากกว่า จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ศึกษาข้อมูลประชากรกว่า 5 แสนคน พบว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันติดเชื้อได้ 25% แต่ถ้าฉีด 4 เข็มก็จะเพิ่มสูงถึง 70-75% สำหรับตนแนะนำให้ฉีด 4 เข็มในกลุ่มคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นเข็ม 5 ได้เลย ซึ่งหลายคนได้รับแล้ว
2. คนไทยต้องกระชับตัวเอง เพราะเราบังคับนักท่องเที่ยวได้ยาก
ดังนั้นเราต้องป้องกันตนเองด้วยมาตรการเดิม สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ เพราะเรายังมีเด็กต่ำกว่า 5 ขวบที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะที่คนเคยติดโควิดจะติดเชื้อซ้ำได้ใน 4-6 เดือน ก็อาจจะสั้นกว่านั้นเพียงแต่คนไม่ได้ตรวจ
โอกาสที่โควิดจะกลับมาระบาดมากแบบระลอกเดลตาไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะคนฉีดวัคซีนกันมาก ระวังตัวมากขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเรายังคงต้องป้องกันตัวเองให้มากขึ้น หากพบว่าเริ่มมีสัญญาณรุนแรงมากขึ้น เราก็เตรียมกลับมาตั้งรับ"