xs
xsm
sm
md
lg

รพ. ศิริราช ประกาศห้ามใช้ ห้ามขายอาหาร-เครื่องดื่มที่ส่วนผสมกัญชา ในพื้นที่โรงพยาบาล หนุนประกาศสธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช หนุนประกาศ สธ.คุมกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามเข้าในพื้นที่ให้ “สมาคมโภชนาการ” ออกข้อเสนอแนะ

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกประกาศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง มาตรการดำเนินการการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis ในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า...

คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะสถาบันการแพทย์ของประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงทั้งประโยชน์และ ผลอันไม่พึงประสงค์ของการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis ที่อาจส่งผล กระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มารับบริการของโรงพยาบาลในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช ,โรงพยาบาลศิริราช ปียมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาสัยมหิดล ขอสนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้สมุนไพรกัญชา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 และประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการห้ามจำหน่าย โฆษณา และบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ในการนี้ จึงขอประกาศมาตรการดำเนินการในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อเป็น ต้นแบบของสถานพยาบาลที่ปลอดการใช้สมุนไพรกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญซง และพืชในตระกูล Cannabis ดังนี้

1.ห้ามมิให้มีการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

2.ห้ามมิให้มีการโฆษณา การส่งเสริมการขาย การจัดกิจกรรม การจัดจำหน่าย และการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูลCannabis ในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

3.ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไป ผู้มารับบริการ บุคลากรและนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญซงและพืชในตระกูล Cannabis เพื่อสันทนาการในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

4.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอสนับสนุนแนวทางการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis เฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ตามความเห็นของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ในบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

5.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สนับสนุนให้มีการศึกษาและวิจัย ตลอดจนการนำสมุนไพรกัญชา และพืชในตระกูล Cannabis มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ตามข้อบ่งชี้ ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ ศ.คลินิก ดร. แพทย์หญิงนลินี จงวิริยะพันธุ์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องผลกระทบจากการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา

สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไป โดยมีผลให้ควบคุมเฉพาะสารสกัดที่มี Tetrahydrocannabinol (THC) เกินร้อยละ 0.2 และถือว่าทุกส่วนของกัญชานับว่าถูกกฎหมาย การปลดล็อกนี้จะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงและบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

พืชกัญชามีสารสำคัญได้แก่ THC ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท การนำกัญชามาใช้ปรุงประกอบอาหารหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มจะทำให้ได้รับ THC ซึ่งหากได้รับเกินขนาด จะมีผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะคนที่มีความไวต่อสารนี้จะเกิดอากาแพ้แม้จะได้รับในประิมาณไม่มาก และรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งยังพบว่า THC ใช้เวลาอยู่ในร่างกายยาวนานหลายชั่วโมง ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงความผิดปกติในทันทีจากการได้รับสารดังกล่าว จนอาจทำให้บริโภคในปริมาณที่เกินขนาดได้

สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจเกิดต่อประชาชน จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันผลกระทบจากการบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ไม่เหมาะสม ดังนี้

1. การนำกัญชามาประกอบหรือปรุงอาหารนั้น ใช้ได้เพียงบางส่วนของต้นกัญชาเท่านั้น ส่วนที่แนะนำให้นำมาใช้ประกอบหรือปรุงอาหารคือ ใบสดของกัญชา และเริ่มต้นไม่เกินครึ่งใบถึงหนึ่งใบ เพื่อประเมินผลข้างเคียงและการแพ้ส่วนประกอบในใบกัญชา ในขณะที่ช่อดอกของกัญชามี THC สูงและไม่เหมาะสมที่ จะนำมาใช้บริโภค

2. การปรุงประกอบอาหารด้วยความร้อนจะส่งผลให้เพิ่มปริมาณสาร THC ดังนั้น หากเป็นการต้มแนะนำให้รับประทานเฉพาะส่วนน้ำ ไม่แนะนำให้รับประทานส่วนใบที่ผ่านการต้มแล้ว หากเป็นการปรุงประกอบอาหารด้วยน้ำมัน จะมีผลในการเพิ่ม THC จำนวนมาก และสาร THC ละลายได้ดีในน้ำมัน จึงไม่ควรนำใบกัญชาประกอบอาหารที่ใช้น้ำมัน

3. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารกับประชาชนถึงผลกระทบและผลเสียที่จะเกิดจากการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา

4. ขอให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา โดยห้ามจำหน่ายหรือโฆษณาอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา ภายในโรงเรียน

5. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการเพื่อควบคุม กำกับ และเฝ้าระวังเพื่อไมให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากกัญซามีผลต่อสมองเด็กและพัฒนาการของเด็กในระยะยาว

6. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารปริมาณที่เหมาะสมของใบกัญชาที่ใส่ในอาหาร รวมทั้งเครื่องดื่มอย่างชัดเจน โดยให้มีการกำกับและเฝ้าระวังการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มอย่างเข้มงวด

7. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของใบกัญชา บังคับให้มีการระบุคำเตือนและแจ้งปริมาณสาร THC ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุปริมาณที่สามารถบริโภคได้ต่อหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับสาร THC มากเกินไป

8. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับการห้ามใช้หรือบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาในกลุ่มผู้ที่มีประวัติแพ้กัญชา ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดชั้นรุนแรง ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด กลุ่มยาลดไขมันในเลือด กลุ่มยากันชัก ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาโดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ เพราะสารในกัญชาจะทำให้เพิ่มปริมาณยา ซึ่งอาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพจากยาเกินขนาดได้ สำหรับผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

9. ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตอาหาร ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการผลิตและขายอาหารหรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยมีการแสดงข้อความว่า มีการใส่กัญชาเป็นส่วนผสม และหรือแสดงปริมาณ อย่างชัดเจน

10. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

11. ขอให้มีการติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

ทั้งนี้ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ยินดีจะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานทางวิชาการ รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมแก่บุคลากรแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคกัญชาต่อสุขภาพของประชาชน




กำลังโหลดความคิดเห็น