xs
xsm
sm
md
lg

จี้สอบอุตฯ ราชบุรี-ท้องถิ่น ปล่อยแบคโฮเจาะถังสารเคมีอันตราย หลังไฟไหม้ รง.รีไซเคิลดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จี้ตรวจสอบอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี และ อบต.รางบัว ปล่อยผู้รับเหมานำแบคโฮเจาะถังสารเคมีอันตราย หลังเหตุเพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลดัง อ.จอมบึง


รายงานพิเศษ

เป็นภาพที่น่าเหลือเชื่อเมื่อรายการ “ข่าว 3 มิติ” ทางไทยทีวีสีช่อง 3 กลับเข้าไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลสีและโกดังเก็บกากของเสีย ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล หมู่ 8 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งเกิดเหตุไปเมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย. ผ่านมา และพบรถแบคโฮ 3 คัน อยู่ในจุดที่เกิดเพลิงไหม้ กำลังใช้เครื่องจักรเจาะทำลายถังขนาด 200 ลิตรจำนวนมาก จนมีสารเคมีอันตรายหลากหลายชนิดไหลเจิ่งนองไปทั่วพื้นซึ่งเป็นที่โล่งแจ้ง พร้อมใช้เครื่องจักรบดอัดถังจนบี้ เพื่อนำถังที่ถูกเจาะสารเคมีจนแห้งออกไปขายต่อ โดยภาพนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา

คลิปข่าว 3 มิติ

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบสภาพโรงงาน รวมถึง 2 หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินการในพื้นที่โรงงาน คือ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ซึ่งระหว่างตรวจสอบก็ยังพบเห็นการเจาะทำลายถังสารเคมีอยู่ต่ออย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีคำสั่งให้หยุดดำเนินการใดๆ จนผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ต้องไปแจ้งความเองที่ สภ.จอมบึง ว่าพบเห็นการทุบทำลายถังสารเคมีอันตรายโดยปล่อยให้รั่วไหลลงสู่พื้นที่สาธารณะ จึงแจ้งเอาผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข และ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยว่า ปล่อยปละละเลยหรือไม่

มีข้อมูลสำคัญจากประชาชนในพื้นที่ ระบุว่า รถแบคโฮที่เข้ามาเจาะทำลายถังสารเคมีทั้ง ที่ถูกเพลิงไหม้ และยังไม่ถูกเพลิงไหม้ เป็นของผู้รับเหมาที่ประมูลจะนำถังเหล็กออกไปขาย ซึ่งประมูลไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ซะก่อนจึงเข้ามาดำเนินการเจาะเอาสารเคมีออกและบดอัดถังให้แบน เพื่อส่งไปขายยังโรงหลอมเหล็กซึ่งจะรับเฉพาะถังเปล่าเท่านั้น โดยสามารถเข้าไปดำเนินการในที่เกิดเหตุได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่มีสัญลักษณ์ปิดกั้นที่เกิดเหตุใดๆ ถูกติดตั้งอยู่เลย

แหล่งข่าวในวงการรับกำจัดของเสียอันตราย อธิบายกระบวนการซื้อขายถังบรรจุสารเคมีว่า มีวิธีการซื้อ-ขายอยู่ 2 รูปแบบ

รูปแบบที่ 1 หากเป็นถังที่ยังสวยงามนำไปใช้ต่อได้ ก็จะใช้วิธีการล้างถังด้วยตัวทำละลายและนำไปขายเป็นถังมือสองทั้งใบ ซึ่งจะได้ราคาดี

รูปแบบที่ 2 หากเป็นถังที่มีรู มีร่องรอยผุผังแล้ว ก็จะนำไปขายกับโรงหลอม ซึ่งจะรับซื้อเฉพาะถังที่ถูกบดอัดมาแล้วเท่านั้น วิธีการแบบนี้ จึงทำได้ง่ายกว่าการนำถังไปล้าง แต่ไม่ว่าจะขายด้วยวิธีการใด ผู้รับเหมาที่จะนำถังไปขาย ก็ไม่สามารถเจาะถังปล่อยให้สารเคมีรั่วไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ได้ จริงๆ แล้วจะต้องดูดสารเคมีออกจากถังไปใส่ยังแทงค์ขนาดใหญ่ เพื่อส่งสารเคมีไปกำจัดอย่างถูกต้องเท่านั้น

นายชำนัญ ศิริรักษ์ หนึ่งในทีมทนายความคดีที่ประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันฟ้องร้องแบบกลุ่มจนชนะบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล ซึ่งเป็นคดีประวัติศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลที่ได้จากประชาชนในพื้นที่ โดยระบุว่า แม้ทางตำรวจจะส่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุเพลิงไหม้จนเสร็จสิ้นแล้ว และส่งคืนพื้นที่เกิดเหตุให้เข้าไปดำเนินการเก็บกวาดได้แล้ว แต่พื้นที่นี้ก็จะยังกลับมาอยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและท้องถิ่น

โดยเฉพาะเมื่อเป็นพื้นที่ที่มีการจัดเก็บหรือปนเปื้อนของเสียอันตรายจำนวนมาก การจะเคลียร์พื้นที่ ก็สามารถทำได้เพียงการเก็บกวาดเศษซากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้เท่านั้น ส่วนถังบรรจุสารเคมีที่เป็นของเสียอันตราย หากจะนำออกไป ก็ต้องดูดสารเคมีออกมาจัดเก็บหรือส่งไปกำจัดในโรงงานรับกำจัดของเสียอันตรายให้ถูกต้องก่อน ไม่สามารถใช้วิธีเจาะถังปล่อยให้สารเคมีไหลทิ้งออกมาเช่นนี้ได้แน่นอน จึงหมายความว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะยังต้องกำกับควบคุมพื้นที่นี้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับถังบรรจุของเสียอันตราย

“ยิ่งน่าเป็นห่วงเมื่อทราบจากคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุว่า นอกจากจะไม่มีแนวกั้น ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆในการควบคุมที่เกิดเหตุเลย จนปล่อยให้มีรถแบคโฮเข้าไปเจาะถังสารเคมีได้ ยังทราบมาว่าทั้งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี และนายกองค์การส่วนตำบลรางบัว ก็เห็นการกระทำเช่นนี้ต่อหน้า แต่กลับไม่มีคำสั่งให้หยุดกระทำ ดังนั้นจึงควรสอบสวนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน”

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า แปลกใจที่เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัด ไม่เข้าไปกำกับดูแลพื้นที่ภายในโรงงานที่เกิดไฟไหม้ ทั้งที่ควรเป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อหาสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้และเป็นพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย แต่กลับปล่อยให้มีกลุ่มบุคคลเข้าไปในที่เกิดเหตุได้ และสร้างความเสียหายซ้ำเติมเหตุการณ์ ด้วยการเจาะทำลายถังบรรจุสารเคมี ถังกากสี ซึ่งเป็นของเสียอันตราย

“การปล่อยให้ทำเช่นนี้ อาจเข้าข่ายเป็นการทำลายหลักฐานเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงทำลายและทิ้งให้สารเคมีและกากของเสียอุตสาหกรรมถูกทิ้งให้ปนเปื้อนอยู่ภายในพื้นที่เกิดเหตุหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ทำให้ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล ซึ่งเดิมต้องนำกากของเสียอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายส่งออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง กลับกลายเป็นแค่นำถังเหล็กออกไปจำหน่ายเท่านั้น และทิ้งสารเคมีซึ่งมีค่ากำจัดราคาแพงไว้ในสิ่งแวดล้อมที่มีชุมชนอาศัยอยู่”

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ย้ำว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีคำสั่งด่วนให้หาสาเหตุและผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ พร้อมสั่งให้โรงงานนำของเสียที่เกิดจากเพลิงไหม้และของเสียที่ตกค้างในพื้นที่โรงงานส่งไปบำบัดและกำจัดให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดภายใน 15 วัน

แต่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ยังไม่เปิดเผยสาเหตุของเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น ทำให้มีข้อสงสัยว่า เหตุเพลิงไหม้อาจมีความเกี่ยวข้องกับกากของเสียอันตรายจำนวนหลายหมื่นถังที่อยู่ในโรงงาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการกำจัดหรือไม่ ดังนั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องสอบสวนหาความจริงจากเหตุการณ์นี้ทันที

“เป็นที่ชัดเจนว่า การกระทำดังกล่าวยิ่งทำให้สารอันตรายที่บรรจุอยู่ในถังรั่วไหลออกมาจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ในบริเวณนั้นปนเปื้อนสารเคมีอันตรายมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัด ในฐานะผู้กำกับดูแลกฎหมายวัตถุอันตราย ควรเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า วิธีการจัดการกากของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นนี้เป็นวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัยตามกฎหมายหรือไม่ จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความรับผิดชอบด้วยการดำเนินการกับข้าราชการในสังกัดที่ละเว้นการกำกับดูแลฐานปล่อยให้เกิดการจัดการกากของเสียอันตรายอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนโดนยรอบ พร้อมเรียกร้องให้สืบสวนหาเบื้องหลังของเหตุการณ์นี้จากข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกระดับด้วย”

























กำลังโหลดความคิดเห็น